พท.-ปชป.จับมือแล้ว ขย้ำ‘บิ๊กตู่’ศรัทธาร่วง


เพิ่มเพื่อน    

  "ปชป.-พท." ยกโพลเพจขอล้านไลค์ฯ กว่า 90% ไม่หนุน "ประยุทธ์" นั่งนายกฯ อีกครั้งเป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนความนิยมตกต่ำ ความเชื่อมั่นถดถอย ชี้ผลพวงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่กระเตื้อง ปูดกลิ่นรัฐบาลแห่งชาติโชยมาอีก "เจี๊ยบ" โยงนายกฯ ขอโทษพุทธะอิสระกลัวเสียมวลชนหลังความนิยมตกต่ำ "สุริยะใส" ชี้อุณหภูมิการเมืองสูงขึ้น  คนไม่มั่นใจมีเลือกตั้ง สวนดุสิตโพลตอกย้ำ ปชช.วิตกปัญหาด้านเศรษฐกิจมากที่สุด

      เมื่อวันอาทิตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่า ถือเป็นสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่มีแนวทางการเมืองหรือ อุดมการณ์ทางการเมืองสอดคล้องกันจะรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่าเป็นโทษ  เพราะประชาชนจะได้มีโอกาสเลือกพรรคการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนมีทางเลือกมากย่อมดีกว่าประชาชนมีทางเลือกน้อย   เชื่อว่าประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่เหมาะสมที่สุดเพื่อกำหนดอนาคตของบ้านเมืองด้วยมือของตนเอง
    "ไม่รู้สึกวิตกกังวล ไม่หนักใจที่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติในทางการเมืองทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ก็จะมีพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่เข้ามาแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งทุกครั้ง สิ่งที่สำคัญมากกว่าการแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ คือการแข่งขันกับตัวเอง เราต้องทำงานหนัก นำเสนอทางออกให้บ้านเมืองที่สามารถตอบโจทย์ของประชาชนได้" 
    ส่วนกรณีที่ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค รปช. เคยเป็นอดีต ส.ส.หรือเกี่ยวข้องกับพรรค ปชป.จะเกิดผลกระทบต่อการทำงานของพรรค ปชป.หรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจได้ และพร้อมจะให้การสนับสนุนพรรค ปชป.ต่อไป ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีอดีต ส.ส.พรรค ปชป.จะไปทำงานกับพรรค รปช.จำนวนมากนั้น เชื่อว่าอดีต ส.ส.พรรค ปชป.ส่วนมากยังทำงานร่วมกับพรรค ปชป.เหมือนเดิม ในช่วงที่มีการยืนยันสมาชิกพรรค อดีต ส.ส.ของพรรคเกือบทั้งหมดก็แสดงตนยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคกันอย่างพร้อมเพรียง การย้ายไปทำงานกับพรรคใหม่ที่จัดตั้งขึ้นก็อาจมีบ้าง ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากให้ทุกคนอยู่ร่วมทำงานกันที่พรรค ปชป.ต่อไป ถ้ามีอดีต ส.ส.คนไหนตัดสินใจไปทำงานกับพรรคอื่น ทางพรรค ปชป.ก็พร้อมที่จะหาบุคคลที่มีความเหมาะสมลงสมัครรับเลือกตั้งทดแทนในเขตนั้นๆ
     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวถึงกรณีผลโหวตเพจเฟซบุ๊ก "ขอล้าน Like สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ" มีผู้โหวตไม่สนับสนุนเป็นส่วนใหญ่ถึง 2 ครั้งว่า ผลออกมาแบบนี้ถือว่าเป็นกระจกสะท้อนอีกบานใหญ่ๆ ที่ช่วยส่งให้รัฐบาลได้ทราบถึงข้อเท็จจริงในความคิดเห็น ถ้ามองในแง่ดี จะเป็นประโยชน์กับตัวรัฐบาลเอง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลสำรวจความนิยมของรัฐบาลออกมาในทางลบ คงเป็นปัญหาจากเศรษฐกิจฐานรากยังไม่กระเตื้องขึ้น รวมถึงปัญหาปากท้อง ปัญหาคนจน ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามประชาสัมพันธ์เรื่องจีดีพี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริง ตัวเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น ไปตกในมือของคนไม่กี่คน ขณะที่ประชาชนในระดับกลางล่าง ไม่ได้รับผลพวงในส่วนนี้ ตัวเลขภาคการผลิตด้านการเกษตรไตรมาสแรกของปีนี้ แม้จะขยายตัวถึงร้อยละ 8 แต่ดัชนีราคาสินค้าการเกษตรกลับติดลบถึงร้อยละ 12 
    "ความเดือดร้อนของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมัน ชาวไร่อ้อย ไร่มัน หรือสินค้าเกษตรตัวอื่น จึงเป็นความเดือดร้อนที่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่วิจารณ์เพื่อจะทำให้รัฐบาลเสียหาย หรือเพื่อหวังผลทางการเมือง เพราะฟ้องทั้งตัวเลขของภาครัฐเอง และในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดกับตัวเกษตรกร ตรงนี้คงจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นำมาสู่การที่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากอยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะเขาคงคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้ง หรือก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยเขาก็จะมีตัวแทนของตนเข้าไปเป็นปากเสียงในสภาได้ แต่ทุกวันนี้ไม่มีไม่สามารถจะสื่อความเดือดร้อนไปถึงรัฐบาลได้" นายจุรินทร์กล่าว
กลิ่น รบ.แห่งชาติโชยมาอีก
    ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ปชป.กล่าวถึงผลสำรวจดังกล่าวว่า ตนไม่รู้ว่าสาเหตุที่ผลออกมาแบบนี้เป็นเพราะอะไร เนื่องจากตนไม่เชื่อผลสำรวจของเพจใดหรือโพลใดก็ตาม เพราะอยู่ที่วิธีการถามของผู้ถาม ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ออกไปลงพื้นที่ตามต่างจังหวัดบ้าง จะได้รู้ว่ารายได้ที่แท้จริงของชาวบ้านเป็นอย่างไร ลำบากอย่างไร เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกทาง ซึ่งตนไม่ชี้นิ้วโทษให้ใครต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ควรเอาเวลาไปช่วยให้ชาวบ้านหายจน มีปัญหาจุดไหนก็ไปแก้ที่นั่น
     "ผมเป็นคนลงพื้นที่ประจำ ได้รู้ได้เห็นว่าชาวบ้านเดือดร้อนขนาดไหน วันนี้ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังทำนั้นได้ผลกับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ไม่ถึงปากท้องของชาวบ้านที่ยังลำบากมาก จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลต้องดูแลตามความรับผิดชอบ” นายจุติกล่าว
    ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์ที่รุมเร้ารัฐบาล คสช.ท่ามกลางกระแสการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า  เป็นที่น่าสังเกตว่าพอรัฐบาลเจอวิกฤติหนักๆ จวนตัว มักจะมองหาแนวทางไปสู่คำว่ารัฐบาลแห่งชาติ เพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด อยู่ในอำนาจให้นานที่สุดหรือไม่ ความจริงถ้าคำว่ารัฐบาลแห่งชาติที่ผู้กุมอำนาจรัฐพยายามจะให้เป็น คือการพยายามดูด ดึงทุกกลุ่มก๊วนเข้าร่วมงานทางการเมือง สภาพปัจจุบันก็ไม่แตกต่างจากสภาพคำว่ารัฐบาลแห่งชาติอยู่แล้ว และเป็นมากว่า 4 ปีแล้ว ขนาดเพจเฟซบุ๊กขอล้าน Like สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้โหวตไม่สนับสนุนถึง 94% มีผู้โหวตสนับสนุนเพียง 6% เท่านั้น 
    "มันก็ชัดเจนในคำตอบว่าทำไมกลิ่นรัฐบาลแห่งชาติรอบนี้จึงโชยมาอีก ทำไมความชัดเจนกำหนดวันเลือกตั้งจึงยังไม่เกิดขึ้น ถ้าการเป็นรัฐบาลแห่งชาติคือการผสานผลประโยชน์ของกลุ่มก๊วนทางการเมืองต่างๆ อย่างลงตัว คือการครอบงำทางอำนาจ แล้วละทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติ รัฐบาลแห่งชาติแบบที่ว่าก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ" นายอนุสรณ์กล่าว และว่า 4 ปีแล้วที่ท่านมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ถ้าประเมินตัวเองไม่ได้ ก็ให้ไปดูผลโหวตจากเพจ ที่มีคนไม่สนับสนุนถึง 94% ขนาดเพจของเครือข่ายที่สนับสนุนท่านเองยังชัดเจนว่าคนไม่สนับสนุนหนักขนาดนี้ คงไม่มีอะไรต้องสงสัยหรือคาใจอะไรอีก
     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คสช.และรัฐบาลบริหารประเทศครบ 4 ปี ถูกวิพากษ์ว่าทำให้ความเชื่อมั่นถดถอย ดังนี้ 1.ความเชื่อมั่นทางการเมืองถดถอยทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่า คสช.ออกคำสั่งที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญ เลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้งจนเกิดกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใน พ.ย.61 แต่กลับถูกแจ้งความดำเนินคดี และมีการตั้งเพจสอบถามความนิยมที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฏว่าในจำนวนผู้แสดงความเห็นเกือบ 5 แสนคน มีผู้แสดงความเห็นไม่สนับสนุนให้อยู่ต่อกว่า 90%
นายกฯ กลัวเสียมวลชน
    2.ความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ยังเป็นปัญหาหลักของประชาชนส่วนใหญ่ ที่รัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ 3.ความเชื่อมั่นในความเป็นกลางของรัฐบาลไม่มี รัฐบาลจะร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและนานาอารยประเทศหรือไม่ ถูกวิพากษ์ว่าจะสืบทอดอำนาจต่อ เพราะมีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุนสอดคล้องกับการจัดทำกติกาในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย ประชุม ครม.สัญจรบ่อยครั้ง ทุกครั้งจะมีการพบอดีตนักการเมืองในพื้นที่ มีเสียงครหาใช้พลังดูดทั้งงบประมาณและโครงการพัฒนาเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองร่วมกัน 
         "ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น มองว่าเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ประเทศไม่ได้รับความเชื่อมั่น ซึ่งกระทบกับคนไทยทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ ทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของประเทศ ซึ่งจะเป็นทางตันของประเทศ เมื่อทราบสาเหตุของปัญหา  ทุกปัญหามีทางออก เช่นเริ่มมีผู้ให้ความเห็นว่าควรมีรัฐบาลเฉพาะกาลจะได้มีความเป็นกลางสร้างความเชื่อมั่นประเทศ โดยใช้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย เชื่อว่ามีหลายภาคส่วนเห็นความบอบช้ำของประเทศและประชาชน พยายามหาทางออกให้กับประเทศและทางออกนั้นจะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เชื่อมโยงกับสากล" นายชวลิตกล่าว
    นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “หรือกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย” ว่าการที่ผู้นำรัฐบาลได้ออกมาขอโทษและตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีการจับกุมพุทธะอิสระ ที่นอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการให้ท้ายผู้กระทำผิด โดยเฉพาะการกระทำที่ถูกกล่าวหากรรโชกทรัพย์ อั้งยี่ ซ่องโจร และการทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราพระปรมาภิไธย ล้วนเป็นความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางอาญา ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรโดยสันดาน แตกต่างกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง แต่กลับถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างร้ายแรง พฤติกรรมการดำเนินคดีมีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้ง เช่น ถ่วงเวลาในการแจ้งข้อกล่าวหา ตลอดจนการนำตัวไปฝากขังเสมือนเป็นอาชญากรโดยเจ้าหน้าที่คัดค้านการขอประกันตัว 
    "กิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเป็นความผิดต่อความมั่นคง หรือทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายตามที่ตำรวจยัดข้อหาให้ แต่บางส่วนอาจไปละเมิดกฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.จราจรทางบก ก็ถือเป็นการทำความผิดด้วยความจำเป็น ส่วนการห้ามชุมนุมเกินห้าคนก็เป็นคำสั่งเผด็จการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการป้องกันโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 67 และ 68 ไม่ต้องรับโทษ และไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแล้วแต่กรณี รัฐบาลจึงควรออกมาขอโทษกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดยเร็ว สำหรับพุทธะอิสระ วันหนึ่งต้องได้ไปเจอกันแน่นอน ถ้าอยากขอโทษค่อยทำกันตอนนั้น ผู้คุมคงไม่ห้าม" นายวัฒนากล่าว
    ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาขอโทษอดีตพระพุทธะอิสระ สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีเป้าหมายทางการเมืองคือต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงกลัวเสียมวลชน และกลัวกองหนุนหายหมด เพราะขณะนี้คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์กำลังตกต่ำอย่างหนัก เช่น ผลสำรวจความคิดเห็นในแฟนเพจที่ทำขึ้นเพื่อเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์แท้ๆ กลับมีคนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกแล้ว เพราะอย่างนี้ใช่ไหม พล.อ.ประยุทธ์เลยต้องลงทุนขอโทษอดีตพระพุทธะอิสระ และตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งๆ ที่ปกติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นกลุ่มคนที่คิดต่าง มักจะให้ท้ายเจ้าหน้าที่อยู่เสมอว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างโน้นอย่างนี้ เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์จึงปฏิบัติต่อประชาชนแบบสองมาตรฐาน
     "ท่าทีต่ออดีตพระพุทธะอิสระในครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของ พล.อ.ประยุทธ์กับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.ในการโค่นล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ในอดีต โดยทำให้ชาวบ้านเข้าใจเหตุการณ์ย้อนหลังว่าทำไมตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก จึงไม่ออกแรงอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์แก้ไขสถานการณ์ความวุ่นวายในขณะนั้น แต่กลับวางเฉยจนเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ปูทางไปถึงการยึดอำนาจให้ตัวเองก้าวขึ้นเป็นนายกฯ ในเวลาต่อมา" ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว  
โพลวิตกปัญหาเศรษฐกิจ
    ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในขณะนี้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับจนมีข้อสงสัยของหลายฝ่ายจะมีเลือกตั้งหรือไม่ หรือการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่ เป็นเรื่องยากที่ใครจะคาดการณ์หรือยืนยัน แม้แต่ คสช.ก็ใช้วิธีพูดแบบคลุมๆ เครือๆ ไปเท่านั้น แม้แต่พรรคการเมืองหลายพรรคก็เริ่มไม่แน่ใจในโรดแมปเลือกตั้งเท่าไหร่นัก เห็นแต่พรรคใหม่ๆ ที่เริ่มขยับตัว แต่พรรคเก่าดูเหมือนออกอาการโลเล บรรยากาศแบบนี้อาจส่งผลให้สังคมการเมืองดูอึมครึม ยากจะคาดการณ์ แม้อยู่ในยุคอำนาจพิเศษ แต่ก็ไม่ได้ประกันถึงเสถียรภาพของรัฐบาลและฝ่ายบริหารได้
    "ความไม่แน่นอนแบบนี้ทำให้การจัดวาระประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรองดองและการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือการปฏิรูปผ่านและหลังการเลือกตั้ง อาจจะกลายเป็นข้อเสนอที่ดูไร้พลัง สะเปะสะปะ หรือไม่ได้สร้างโมเมนตัมให้กับการเมืองเท่าที่ควร การปฏิรูปประเทศ และการปรองดองไม่ว่าจะก่อนเลือกตั้ง ผ่านการเลือกตั้งหรือหลังตั้ง ก็ยังดูเหมือนขาดเจ้าภาพที่แน่นอน และคาดหวังได้ยากขึ้น ถ้าช่วงเลือกตั้งวาระปฏิรูปไม่ชัดเจน พรรคการเมืองไม่จริงจัง แค่ใช้หาเสียง อนาคตทางการเมืองไทยก็ยังไร้ความสดใสใดๆ" นายสุริยะใส กล่าว 
         “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจเรื่อง ความวิตกของสังคมไทย ณ วันนี้ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,182 คน ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2561 สรุปผลได้ดังนี้ 1.ประชาชนวิตกกังวล “ด้านการเมืองไทย” ณ วันนี้ เรื่องใดบ้าง อันดับ 1 การเลือกตั้งและความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง 49.39%, อันดับ 2 พฤติกรรมที่ไม่ดีของนักการเมือง ใส่ร้าย โจมตี เห็นแก่พวกพ้อง คอร์รัปชัน 27.07%, อันดับ 3 การบริหารประเทศและเสถียรภาพทางการเมือง 24.42%, อันดับ 4 การทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยก ขาดความสามัคคี 17.24%, อันดับ 5    การเคลื่อนไหว การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น    13.59%
     2.“ด้านเศรษฐกิจไทย” อันดับ 1 วิตกเรื่องค่าครองชีพสูง ของกินของใช้ราคาแพง น้ำมัน ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา 74.77%, อันดับ 2 ค้าขายไม่ดี การเงินฝืดเคือง 31.80%, อันดับ 3 เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ต่างชาติไม่กล้ามาลงทุน 24.77%, อันดับ 4 รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ 21.48%, อันดับ 5 การจ้างงาน ตกงาน ปัญหาการว่างงาน     12.38%
    3.“ด้านสังคม ชีวิตความเป็นอยู่” อันดับ 1 วิตกเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 39.85%,  อันดับ 2    ปัญหาปากท้อง รายได้น้อย รายจ่ายเยอะ เป็นหนี้ 35.38%, อันดับ 3 ความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูง 28.72%,  อันดับ 4    คนขาดศีลธรรม เห็นแก่ตัว อารมณ์ร้อน มีเรื่องกันง่ายขึ้น 22.48%, อันดับ 5 เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด ทุจริตคอร์รัปชัน     21.23%
    4.วิตกกังวลด้านใดมากที่สุด อันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ 39.73% เพราะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพ สภาพการเงินไม่คล่อง ทำให้ประเทศไม่พัฒนา การค้าการลงทุนชะงัก ฯลฯ, อันดับ 2 ด้านสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ 30.98% เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว รู้สึกไม่ปลอดภัย สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีปัญหา กระทบต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ฯลฯ, อันดับ 3     ด้านการเมือง    29.29% เพราะต่างชาติไม่ให้การยอมรับ ไม่เป็นประชาธิปไตย สร้างความขัดแย้ง บ้านเมืองวุ่นวาย ไม่สงบ กระทบต่อเศรษฐกิจ ฯลฯ. 
    
       


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"