รัฐบาลเดินหน้าสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม-บ้านประชารัฐริมคลอง


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลเดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ริมคลองลาดพร้าว  เร่งสร้างเขื่อนระบายน้ำคลองลาดพร้าวเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ สร้างบ้านประชารัฐรองรับประชาชนที่รุกล้ำลำคลอง  เสธ.ไก่อู ควง สกลธี รองผู้ว่า กทม.  และผู้บริหาร พอช. ฯลฯ จัดกิจกรรม On Ground สร้างความเข้าใจกับพี่น้องริมคลองลาดพร้าว ขณะที่การสร้างเขื่อนฯ คืบหน้า 35.15 %  สร้างบ้านแล้ว   29  ชุมชน  รวม 2,656   ครัวเรือน 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในเขตกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากมีบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำลงไปในคลองเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ  เริ่มที่คลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรก  โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว  ระยะทาง (ทั้งสองฝั่ง) 45.3 กิโลเมตร  ความกว้างของแนวเขื่อนเฉลี่ย 38 เมตร  และขุดลอกคลองให้ลึกกว่าเดิม 4 เมตร  มีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน  2562

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ  ‘พอช.จัดทำแผนงานรองรับชาวชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำที่ดินราชพัสดุและรุกล้ำคลองลาดพร้าว  ตามแผนงาน บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว โดยรื้อย้ายบ้านออกจากพื้นที่ริมคลองเพื่อสร้างบ้านใหม่   รวมทั้งหมด 50 ชุมชน  จำนวน  7,069   ครัวเรือน  

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559   โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน  5,101 ครัวเรือน   ยังไม่เข้าร่วม  1,740  ครัวเรือน   ทำให้โครงการดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามแผนงาน  เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่ยอมรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ  ทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างเขื่อนฯ เข้าไปตอกเสาเข็มไม่ได้  ขณะที่การสร้างบ้านในชุมชนเดิมก็มีความล่าช้าเพราะต้องปรับผังชุมชนใหม่เพื่อสร้างบ้านใหม่  แต่ติดขัดบ้านเรือนที่ยังไม่เข้าร่วม 

พลโทสรรเสริญ   แก้วกำเนิด หรือ เสธ.ไก่อู  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้โครงการดังกล่าวจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม ‘On Ground’ ลงพื้นที่  ครั้งที่ 1 คืนความสุขให้คนคลอง  คืนสายคลองให้คนเมือง เมื่อวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน  โดยนำผู้บริหาร กทม.นายสกลธี  ภัททิยกุล  รองผู้ว่าฯ  นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. ผู้อำนวยการเขตบางเขน  ตัวแทน คสช. ฯลฯ  และสื่อมวลชนล่องเรือสำรวจความคืบหน้าการสร้างเขื่อนระบายน้ำ-การสร้างบ้านประชารัฐริมคลอง  จากท่าเรือวัดบางบัวไปยังชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา  เขตบางเขน   

โดยที่ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนามีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง  เพื่อให้เห็นประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง  การสร้างบ้านประชารัฐริมคลองรองรับประชาชนที่ต้องย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อน  นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การออกร้านธงฟ้าจำหน่ายข้าวสาร  น้ำมันพืช  และน้ำตาลในราคาถูก  การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า  ตัดผมฟรี  รวมทั้งการแสดงต่างๆ ของชาวชุมชนและวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์  ลำตัดคณะ แม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์  และนักร้อง โฉมฉาย  อรุณฉายแสดงบนแพริมน้ำ  มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน

พลโทสรรเสริญ  แก้วกำเนิด  กล่าวว่า  ที่ผ่านมามีนักการเมืองบางคนไปบอกกับชาวบ้านชุมชนริมคลองลาดพร้าวว่า  คนที่สร้างบ้านเรือนบุกรุกแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับเงินชดเชยจาก กทม.รายละ 1   แสนกว่าบาท  แต่คนที่อยู่ริมคลองไม่ได้รับเงินชดเชย  ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำ  แต่ข้อเท็จจริงคนที่บุกรุกแม่น้ำเจ้าพระยามีประมาณร้อยกว่าราย   ส่วนชุมชนริมคลองมีการบุกรุกกว่า 1,600  คลอง  มีผู้บุกรุกกว่า  30,000 ครอบครัว  หากจะจ่ายชดเชยต้องใช้เงินกว่า 6,000 ล้านบาท  ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล  ต้องดึงเอามาจากภาษีรายได้เพื่อพัฒนาประเทศ  ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เดิมพื้นที่ริมคลองเป็นที่ดินราชพัสดุ  ไม่อนุญาตให้ใครอยู่อาศัย   แต่ตอนนี้รัฐบาลจะให้ประชาชนอยู่อย่างถูกกฎหมาย  เสียค่าเช่าประมาณปีละ  100 บาท  และมีเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 147,000 บาท  เพื่อใช้ในการรื้อย้าย  สร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว  เป็นค่าเดินทางไปทำงาน  และสร้างบ้านใหม่  โดยมีสินเชื่อให้กู้รายละ 330,000-360,000 บาท  และผ่อนเดือนละ 1,000-3,000 บาทต่อเดือน  เพื่อให้ประชาชนมีบ้านใหม่ที่สวยงาม  เป็นการสร้างอนาคตให้ลูกหลาน  แต่ผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือก็จะต้องเข้าร่วมโครงการ   หากไม่เข้าร่วมก็จะอยู่ไม่ได้  เพราะผิดกฎหมาย  และจะต้องถูกดำเนินคดีด้วย  พลโทสรรเสริญกล่าว

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  กล่าวถึงแผนงานโครงการ บ้านประชารัฐริมคลอง ว่า  ตามแผนงานรองรับชาวชุมชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ ในคลองลาดพร้าว  ซึ่งมีชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอยู่ในที่ดินราชพัสดุและบางส่วนปลูกสร้างรุกล้ำลงไปในคลอง  มีทั้งหมด 50 ชุมชน  จำนวน  7,069   ครัวเรือน  อยู่ในพื้นที่  8 เขต   คือ  วังทองหลาง  ห้วยขวาง  ลาดพร้าว  จตุจักร  บางเขน  หลักสี่  ดอนเมือง  และสายไหม 

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559    โดยมี  42 ชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้หลังจากที่รื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ  ขณะนี้บางชุมชนก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว   ส่วนอีก 8 ชุมชนมีพื้นที่ไม่พอเพียงจึงต้องจัดซื้อที่ดินใหม่  เป็นที่ดินเอกชนอยู่ในเขตสายไหม  และที่ดินของบริษัทบริหารสินทรัพย์  กรุงเทพพาณิชย์  จำกัด (มหาชน)  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  โดย พอช.มีงบประมาณสนับสนุนการสร้างบ้านครัวเรือนละ 147,000 บาท  และสินเชื่อก่อสร้างบ้านครัวเรือนละ 330,000 บาท  กรณีก่อสร้างบ้านในชุมชนเดิม  และสินเชื่อ 360,000 บาท  กรณีซื้อที่ดินใหม่และสร้างบ้าน  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี  ผ่อนชำระ 20 ปี

ตอนนี้มีบ้านที่กำลังก่อสร้างทั้งในชุมชนเดิมและชุมชนที่ซื้อที่ดินใหม่ รวม 29 ชุมชน จำนวน 2,656 ครัวเรือน คิดเป็น 37.57 % ของจำนวนบ้านที่จะสร้างทั้งหมด  โดยมีบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 1,223 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป ผอ.พอช.กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ระยะทาง  ฝั่ง  รวม 45.3  กิโลเมตร  บริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง  จำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน  1,645 ล้านบาท  ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ  35.15   โดยบริษัทตอกเสาเข็มเพื่อเป็นรากฐานเขื่อนไปแล้วเป็นระยะทาง 15.85    กิโลเมตร  จำนวนเสาเข็มที่ตอกแล้ว  21,091  ต้น   จากจำนวนเสาเข็มทั้งหมดประมาณ 60,000 ต้น   ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าแผนงาน  ดังนั้น กทม.จึงเร่งให้บริษัทริเวอร์ฯ ตอกเสาเข็มเพิ่มจำนวน  5,500 ต้นภายในเดือนสิงหาคมนี้

ทั้งนี้การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9  (ใกล้คลองแสนแสบ  เขตวังทองหลาง) ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  เขตสายไหม  ความยาวทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร  ความกว้างของเขื่อน 25 - 38 เมตร  และสร้างทางเดินหรือจักรยานเลียบคลองพร้อมรั้วกันตก  นอกจากนี้จะขุดลอกคลองให้ลึกกว่าเดิมอีก 4  เมตร  เพื่อให้การระบายน้ำคล่องตัว 

ตามแผนงานจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน  2562  ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จน้ำในคลองลาดพร้าวจะไหลเข้าสู่อุโมงค์เขื่อนพระราม 9 และอุโมงค์ลอดใต้คลองบางซื่อ  เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและไหลลงสู่ทะเลต่อไป   โดยสำนักการระบายน้ำ กทม.ระบุว่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 1 เท่าตัว

ส่วนผู้ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการและไม่ยอมรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองเพื่อเปิดพื้นที่ให้การ  ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำและก่อสร้างบ้านใหม่นั้น   มีทั้งหมด  1,740   ครัวเรือน   โดยผู้ที่เป็นแกนนำขัดขวางการดำเนินงาน  เนื่องจากมีผลประโยชน์   เช่น  เป็นเจ้าของบ้านเช่า   หอพัก  ร้านค้า  ร้านอาหาร  ฯลฯ   กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินราชพัสดุได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว  73  ราย  ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9  โดยการเข้าไปยึดถือครองที่ดินของรัฐ  ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน  เช่น  ที่ริมตลิ่ง  ทางน้ำ  คลอง  ฯลฯ  ซึ่งมีโทษตามกฎหมายที่ดินและกฎหมายอาญา  มีอัตราโทษจำคุก  3 - 5 ปี  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการในชั้นอัยการ  และเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการอีกประมาณ 78 ราย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"