'วังน่านิมิต'ส่งผ่านมรดกวัฒนธรรมและความทรงจำ


เพิ่มเพื่อน    

(นิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลอดีตกับปัจจุบัน)

 

    'วังน่านิมิต' นิทรรศการที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้พื้นที่ประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งวังหน้าในอดีตมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และบางส่วนด้านทิศเหนือของสนามหลวง แต่อาคารที่ยังหลงเหลืออยู่ ใช้งานในปัจจุบัน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมู่พระวิมาน และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ในพิพิธภัณฑ์พระนคร นิทรรศการนี้จัดโดยกรมศิลปากร ร่วมกับมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สนับสนุนโดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

(จัดแสดงเอกสารประวัติศาสตร์ ภาพเก่าวังหน้า)


    นิทรรศการครั้งนี้เป็นการส่งผ่านมรดกทางวัฒนธรรมและความทรงจำวังหน้า โดยเนื้อหานิทรรศการพัฒนาจากข้อมูลและภาพจำลองสันนิษฐานจากโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี โดยคณะทำงานกรมศิลปากร (ศก.) อาทิ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักโบราณคดี สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และสำนักพิพิธภัณฑ์ รวมถึงรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย แผนที่ รวมถึงสิ่งที่เก็บรวบรวม โดยนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ ช่วยกระตุ้นความสนใจประวัติศาสตร์และความทรงจำของเมืองที่เลือนรางตามกาลเวลา จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 27 มิ.ย.นี้ โดยวันเปิดนิทรรศการ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธี

(คุณใหม่แนะนำเนื้อหาในส่วนห้องข้อมูล)


    คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ช่วยราชการที่สำนักสถาปัตยกรรม ศก. ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ กล่าวถึงที่มาว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการศึกษาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี โดยกรมศิลปากร จนถึงปัจจุบันใช้เวลาเกือบ 2 ปี ตนเคยเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่ไม่เคยรู้ว่าวังหน้าคืออะไร ไม่รู้ว่าเคยเป็นพระราชวังตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นพร้อมตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้งานสิ้นสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งได้ทำงานที่กรมศิลปากร และทราบว่าเมื่อ 5 ปีก่อนมีโครงการศึกษาวังหน้าและขุดค้นทางโบราณคดี ได้ข้อมูลมากมาย หากมีการรื้อฟื้น วิเคราะห์ ตีความมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในการสื่อความหมาย จะเข้าถึงคนและสร้างความเข้าใจยิ่งขึ้น ส่วนชื่อนิทรรศการ 'วังน่านิมิต' หลายคนคิดว่าสะกดผิด แต่แท้จริงแล้ว คำว่า 'วังน่า' เป็นวิธีสะกดดั้งเดิมจากพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  

(คุณสิริกิติยา เจนเซน สาธิตการชมแผนที่วังหน้าผ่าน Interactive Map สั่งงานด้วยมือ)


    หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คุณสิริกิติยากล่าวว่า เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างยั่งยืนและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเรียนรู้เพื่อต่อยอดมรดกวัฒนธรรม จะใช้คำว่า 'อนุรักษ์' ก็ไม่ใช่อนุรักษ์สิ่งที่จับต้องได้อย่างเดียว แต่ต้องมีเรื่องความรู้สึกในจิตใจ ประวัติศาสตร์เป็นความทรงจำของเมือง ความรู้สึกของคนในช่วงเวลานั้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจ เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น 
    "นิทรรศการนี้เน้นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ พยายามดึงความรู้สึกของคนในอดีตมาต่อยอด เพื่อให้คนปัจจุบันรู้สึกและสร้างประสบการณ์ อยากแชร์ความทรงจำให้เด็กรุ่นใหม่พร้อมตั้งคำถาม โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Inter active Map เทคโนโลยีสั่งงานด้วยมือโดยไม่ต้องสัมผัสหน้าจอ วิดีโอ และกราฟฟิก ซึ่งจะสร้างความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์กับเด็ก นอกจากนี้ยังมีโมเดลแผนผังวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งหมดให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์ โดยไม่คิดว่าประวัติศาสตร์อยู่ไกลตัว สำหรับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องวังหน้า เมื่อได้ชมจะรู้ประวัติศาสตร์มีหลายชั้น และได้รู้ของเดิมมีอะไรอยู่ อยากให้คนได้ค้นหาและกลับไปตั้งคำถาม" คุณสิริกิติยากล่าว 

(ภาพถ่ายโบราณพระที่นั่งคชกรรมประเวศกับภาพจำลอง)


    พลับพลาสูงและพระที่นั่งคชกรรมประเวศ เป็นส่วนหนึ่งความทรงจำที่ฟื้นกลับมาในนิทรรศการ สถาปัตยกรรมนี้ไม่มีให้เห็นแล้วในวังหน้า คุณสิริกิติยากล่าวว่า พระที่นั่งคชกรรมประเวศ รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นด้านหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อพระอนุชาขึ้นเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ให้มีพระเกียรติเสมอกษัตริย์พระองค์ที่ 2 เป็นพระที่นั่งเครื่องไม้ทรงปราสาทเครื่องยอดซ้อน 5 ชั้น องค์เดียวในวังหน้า ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รื้อเพราะชำรุด เหลือแต่ฐานปราสาทและเกยประทับช้าง เช่นเดียวกับพลับพลาสูงบนกำแพงวังที่ ร.4 มีพระราชดำริให้มีขึ้นในวังหน้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศเช่นกัน ผู้ชมจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่ายโบราณ การขึ้นแบบสามมิติของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว
    คุณสิริกิติยากล่าวด้วยว่า วังหน้ามีหลายมิติ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวรรณกรรม มีข้อมูลให้ทำโครงการในอนาคตอีก 50-100 ปี อยากให้คนเข้าถึงเรื่องราวและค้นหาข้อมูลวังหน้าแบบเจาะลึกด้วยตนเอง จึงมีเว็บไซต์วังน่านิมิต จะเปิดตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำข้อมูลที่คณะทำงานได้ค้นคว้า ทั้งภาพถ่ายโบราณ หนังสือ เอกสารสำคัญที่แสดงนิทรรศการมาเผยแพร่วงกว้าง เพราะรายละเอียดและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์เยอะ นิทรรศการวังน่านิมิตจะจัดแสดงอีกครั้งที่พิพิธภัณฑ์พระนครในเดือน ธ.ค.นี้ เหมือนได้กลับบ้าน
    นอกจากนิทรรศการที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ยังมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องมีเสวนาในหัวข้อ Reading the intangibles และนำชมนิทรรศการวังน่านิมิต โดยคุณใหม่-สิริกิติยา และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร วันเสาร์ที่ 16 มิ.ย. เวลา 14.00-15.30 น. ห้องประชุม 501 ชั้น 5 หอศิลป์กรุงเทพฯ และกิจกรรม "Walk with the cloud : The hidden Palace" วันอาทิตย์ที่ 24 มิ.ย. เวลา 09.00-15.00 น. เริ่มออกเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการบรรยายและนำชมพื้นที่วังหน้า โดยคุณใหม่-สิริกิติยา, ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม, ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนสมัครที่ readthecloud.co. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"