‘7ก.ค.’เคาะยุทธศาสตร์20ปี


เพิ่มเพื่อน    

  สนช.ตั้ง กมธ.ศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้ความเห็นชอบ 7 ก.ค. "วิษณุ" แจงผูกมัดรัฐบาลใหม่ ผูกพันแผนพัฒนา ศก.-แผนชาติ-งบประมาณ-แผนปฏิรูปประเทศ ทบทวนทุก 5 ปี "บิ๊กตู่" เปิดประชุมผู้นำ ACMECS ชูบทบาทเอกชน ผุดกลอนย้ำ "ประชารัฐ"  

     ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน เวลา 11.00 น. ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน มีการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561-2580 รวม 20 ปี ซึ่งอาจจะยาวนานจนเกิดความวิตกว่าจะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร 
    โดยประเด็นนี้กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า 1.ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี 2.ในระหว่าง 5 ปี หากมีเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถจะยกขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะแจ้งมายัง ครม.และรัฐสภา เพื่อขอดำเนินการแก้ไข จึงไม่เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตจนไม่สามารถทำอะไรได้แต่อย่างใด
    รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังบังคับใช้อยู่ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากไม่ปฏิบัติตาม จะต้องแก้ไขหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน  ยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดมี 6 ด้าน โดยเมื่อประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้วจะมีผล 5 ประการที่ทำให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1.ผูกมัดรัฐบาลโดยต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเวลาจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ 2.ผูกพันแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 3.การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนแห่งชาติ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 4.การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากนี้ไปต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 5.แผนการปฏิรูปประเทศ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
    "ยุทธศาสตร์ชาติ วันนี้เสนอเข้ามายังสภาจำนวน 71 หน้าเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ดังนั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำงานต่อไปอีก ซึ่งคาดว่าแผนแม่บทน่าจะยกร่างแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน" นายวิษณุกล่าว  
    ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการเดิม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญๆ ต่อได้ ซึ่งก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา พบว่าเศรษฐกิจของไทยโตเพียงร้อยละ 1 ในขณะที่เพื่อนบ้านโตร้อยละ 5-6 ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ได้ ซึ่งส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 
    ทั้งนี้ ในหลายประเทศมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือแผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี สิงคโปร์ 20 ปี ขณะที่มาเลเซีย รวมถึงจีนก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า
ตั้ง กมธ.ศึกษา 22 วัน
    จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิก สนช.อภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ แต่มีบางส่วนได้ท้วงติงเนื้อหาที่ยังขาดความชัดเจนต่อภารกิจตามเป้าหมาย รวมทั้งเสนอข้อทักท้วงต่อการทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าต้องไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขที่ผูกมัดจนกลายเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติของหน่วยงาน หรือรัฐบาลในอนาคต กระทั่งเวลา 15.00 น. ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 38 คน มีเวลาทำงาน 22 วัน และเสนอความเห็นกลับมาเข้าที่ประชุมใหญ่ สนช. ภายในวันที่ 7 ก.ค.นี้  
    สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
    ที่โรงแรมแชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ACMECS CEO Forum ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนในการสร้างประชาคมลุ่มน้ำโขง" ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 โดยมีอูวินมยิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา, นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าร่วม
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านเทคโนโลยีแล้ว อนุภูมิภาค ACMECS ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาทั้งหลายให้มีสมดุล เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นเอกภาพ สามารถรักษาบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเอาไว้ได้ ประการแรก ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกับภาครัฐในการขับเคลื่อนการลงทุนใน ACMECS เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค ACMECS และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างครบวงจร 
ชูเอกชนขับเคลื่อน ศก.
    ประการที่สอง ภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทในการเตรียมพร้อมให้ ACMECS สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจ และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต ประการที่สาม ภาคเอกชน ACMECS ต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับชาติ ACMECS โดยยึดหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม มีพลังจากความร่วมมือที่เป็นเอกภาพ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 
    นอกจากนี้ รัฐบาลไทยขอยืนยันต่อชาติสมาชิก ACMECS และภาคเอกชนว่า ไทยมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมที่จะให้การดูแลแรงงานเหล่านี้ให้ได้รับสิทธิต่างๆ อย่างเป็นธรรม 
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางในอนาคต การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกลุ่มน้ำโขง" ในการประชุม ACMECS CEO Forum ว่า ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา  เอเชียได้กลายเป็นจุดหมายใหม่ของเศรษฐกิจโลก การเติบโตหลักๆ มาจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ปัจจุบันประเทศในกลุ่มแม่น้ำอิรวดี เจ้าพระยา และเเม่น้ำโขง มีบทบาทมากขึ้น มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 6-8 ต่อปี ถือว่าสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน
    ด้านสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาเห็นด้วยกับแผนแม่บท ACMECS ปี 2562-2566 ของรัฐบาลไทยที่เน้นการส่งเสริมเพิ่มศักยภาพธุรกิจ SMEs สร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก และเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกัน กัมพูชายังต้องการบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะให้กัมพูชาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง จึงได้วางนโยบายเศรษฐกิจที่จะตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนกัมพูชา โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชน
    ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการหารือทวิภาคีกับสมเด็จฮุน เซน รวมถึงนายกฯ สปป.ลาว และนายกฯ เวียดนาม
    วันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้แต่งกลอน ชื่อว่า "ประชารัฐ ไทยนิยม" ขึ้น เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. เนื่องจากอยากให้คนไทยเข้าใจเรื่องประชารัฐและประชานิยม เพื่อได้พัฒนาตัวเองและช่วยกันร่วมมือพัฒนาชาติไปพร้อมๆ กัน 
    โดยกลอนดังกล่าวมีเนื้อหาว่า ประชารัฐ ไทยนิยม เหมาะสมยิ่ง, ทำทุกอย่าง ตามจริง ให้มองเห็น, 
สารพัน ปัญหา น่าลำเค็ญ, ให้เปรียบเป็น แสงสว่าง ส่องทางไป, ไม่มีใด จะได้มา อย่างง่ายดาย, ไม่กระจาย เชื่อมโยง ต้องสงสัย, ความเข้มแข็ง สามารถ ขาดหายไป, ทำต่อไป เช่นเดิม ไม่เสริมกัน, ทั้งงบกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น, เป็นอาจิณ ผ่านมา ให้สร้างสรรค์, ทำไม่ดี ทุจริต สินบนกัน, แล้วสักวัน ล่มสลาย หยุดหายใจ,     ขอวอนให้ คนไทย ต้องรีบตื่น, เพื่อจะฟื้น เศรษฐกิจ ให้สดใส, รายได้น้อย ปานกลาง สูงขึ้นไป, เพื่อช่วยให้ ประเทศชาติ พัฒนา
    ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์เคยแต่งกลอนชื่อประชานิยมมาแล้ว โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำถึงความแตกต่างระหว่างนโยบายประชารัฐและประชานิยม. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"