หวั่นท็อปบูตยึดกสทช. 'สุภิญญา'คาด7อรหันต์ทหารได้รับเลือกเกินครึ่ง


เพิ่มเพื่อน    

อดีต กสทช. "สุภิญญา" อึ้ง! ทหารพาเหรดสมัครชิงเก้าอี้ 7 อรหันต์ทองคำ กสทช.ชุดใหม่เพียบ ชี้เป็นไปได้สายท็อปบูตได้รับเลือกมากกว่าอาชีพอื่น กรรมการสรรหาลั่นเอาชื่อเป็นเดิมพัน ไม่มีล็อกสเปก-ล็อกเก้าอี้ บอกอย่าแปลกใจทหารสมัครเพียบเพราะคุมช่อง 5-วิทยุกองทัพ เปิด 5 ภารกิจร้อนรอสะสาง แก้ปัญหาทีวีดิจิทัลขาดทุนยับ-เรียกคืนคลื่นวิทยุทหาร-จัดประมูลคลื่นดีแทค 1800

            เมื่อวันที่ 15 มกราคม พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังปิดรับสมัคร กสทช.ชุดใหม่จำนวน 7 คน ที่มีผู้มาสมัครถึง 86  คนว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติผู้สมัครเป็น กสทช.ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะทำการตรวจสอบประวัติทุกคนเพื่อดูว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติตรงตามกฎหมาย  และมีคุณสมบัติข้อห้ามอะไรหรือไม่ โดยดูจากหลักฐานต่างๆ เช่น หลักฐานการทำงาน และจากนั้น กรรมการสรรหาจะพิจารณาว่าหากผู้สมัครคนไหนคุณสมบัติไม่ครบก็ต้องตัดชื่อออกไป แล้วก็เรียกผู้สมัครที่ไม่มีปัญหามาทำการแสดงวิสัยทัศน์ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะให้เวลาไม่เกินคนละ 10 นาที จากนั้นก็จะลงมติเพื่อเลือกผู้สมัครให้เหลือ 2 เท่าของจำนวน กสทช.คือ 14 รายชื่อเพื่อส่งให้ สนช.ลงมติเลือกให้เหลือ 7 ชื่อ

            เมื่อถามถึงกรณีมีทหารที่ยังรับราชการอยู่และเกษียณไปแล้วมาสมัครกันจำนวนมาก จนทำให้เริ่มถูกจับตามองว่า กสทช.ชุดใหม่จะมีทหารเข้าไปจำนวนมาก เพราะปัจจุบันก็เป็นยุค คสช. พล.อ.วิทวัส ที่เคยเป็นอดีตรักษาการปลัดกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า หากดูรายชื่อผู้สมัครที่เป็นทหารจะพบว่าส่วนใหญ่ก็จะสมัครเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น กิจการโทรทัศน์ด้านกฎหมาย ที่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะกองทัพเองก็มีทั้งสถานีโทรทัศน์ วิทยุในเครือกองทัพ ที่ตั้งอยู่ในกองทัพ มีทหารไปทำงานทั้งที่ช่อง 5  และวิทยุของกองทัพจำนวนมาก

            "ไม่มีแน่นอนเรื่องจะมาล็อกสเปกอะไรกัน เพราะกรรมการสรรหาลองไปดูรายชื่อแต่ละคน ทุกคนต่างเป็นผู้ใหญ่ สังคมเชื่อถือได้ว่าทุกคนมีความสุจริต" พล.อ.วิทวัสกล่าว หลังถูกถามเรื่องการถูกจับตามองว่าอาจมีโผกรรมการ กสทช.ชุดใหม่โดยเฉพาะที่มาจากสายทหาร

            นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่เห็นรายชื่อผู้สมัครมาจากสายทหารจำนวนมากขนาดนี้ ไม่คิดว่าจะมากเช่นนี้ ซึ่งก็ต้องรอดูว่ากรรมการสรรหา กสทช.จะพิจารณาลงมติคัดเลือกผู้สมัครออกมาอย่างไร แต่ในต่างประเทศเขาคงแปลกใจที่เห็นคนที่จะมาทำงานด้านการกำกับกิจการโทรคมนาคม โทรทัศน์วิทยุเป็นแบบนี้ เพราะอย่างในประเทศคนที่จะมาทำงานด้านนี้จะเน้นที่ด้านเศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี

            อดีต กสทช.กล่าวต่อว่า กสทช.ชุดที่แล้วซึ่งมี 11 คนก็มาจากสายทหาร อดีตทหาร 5 คน และตำรวจอีก 1 คน ก็ถือเป็นเสียงข้างมากแล้ว แต่มาครั้งนี้สังหรณ์ใจว่าอาจจะมีทหารได้รับเลือกเข้ามาหลายคน ซึ่งหากเกิน 3 คนก็เกินกึ่งหนึ่งแล้ว

            "รายชื่อผู้สมัครที่ออกมา พบว่าจากภาคประชาสังคมมาสมัครกันค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มาจากอดีตข้าราชการ จากฝ่ายต่างๆ เท่าที่ดูพบว่าสัดส่วนยังถือว่าไม่ค่อยหลากหลายเท่าที่ควร ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงก็ยังค่อนข้างน้อย และมีหลายคนมาจากสายกิจการโทรทัศน์ รวมถึงคนที่ทำงานอยู่ใน กสทช.ก็มาสมัครกันมาก"

ชี้ภารกิจ กสทช.ชุดใหม่

            น.ส.สุภิญญากล่าวอีกว่า สำหรับภารกิจสำคัญของ กสทช.ชุดใหม่ที่รออยู่ หลักๆ ก็มีเช่น 1.การเข้ามารับผิดชอบเรื่องการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ ของดีแทคที่กำลังจะหมดสัมปทานในเร็วๆ นี้ 2.โรดแมปแผนจัดสรรคลื่นความถี่ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า 3.การแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะกิจการที่ไปไม่ไหวมีปัญหาการทำธุรกิจ กสทช.จะแก้ปัญหาอย่างไร จะให้นำใบอนุญาตมาคืนได้หรือไม่ โดยในต่างประเทศหากเกิดปัญหาเช่นนี้ สามารถนำคลื่นทีวีดิจิทัลไปทำเป็นคลื่นมือถือได้ เรื่องนี้ กสทช.ชุดใหม่ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะหาทางออกอย่างไร จะมีเจ้าของทีวีดิจิทัลคืนกี่ราย และหากคืนจริง กสทช.จะนำคลื่นไปทำอะไร เพราะหากปล่อยไว้เฉยๆ รัฐก็อาจเสียประโยชน์ ก็ต้องทำให้วิน-วินทั้งสองฝ่าย 4.เรียกคืนคลื่นความถี่ คลื่นวิทยุจากหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องนี้ กสทช.ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เรื่องที่ 5.ที่ต้องจับตาถือเป็นระเบิดเวลาสำคัญ คือเรื่องช่องทีวีอนาล็อกของช่อง 7 และช่อง 3 ที่พอยุติแล้วจะต้องส่งกลับไปที่กองทัพบกหรือไม่ เรื่องนี้อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ทหารพยายามจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ กสทช.ชุดใหม่ก็คงต้องเข้าไปมีบทบาทในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมา กสทช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างมาก บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะ กสทช.สอบตกเป็นเสือกระดาษ

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับสมัคร กสทช.ชุดใหม่ 7 คนเริ่มถูกจับตามองมากขึ้น หลังพบว่ามีทหารที่ยังรับราชการอยู่ และอดีตทหารมาสมัครเป็น กสทช.จำนวนมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคโซเชียลมีเดีย ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป ทำให้บทบาท กสทช.ชุดใหม่จะมีภารกิจหลายอย่างไม่เหมือนเดิม        

            ขณะเดียวกันก็เริ่มมีกระแสข่าวถึงตัวเต็งที่อาจได้รับเลือกเข้ามาเป็น กสทช.ชุดใหม่ โดยมองกันว่า หากรายชื่อผู้สมัครบางคน เช่น พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปสื่อสารมวลชน สปท.ที่เคยผลักดันให้สื่อมวลชนต้องจดทะเบียนและเสนอแนวทางคุมสื่อหลายเรื่อง ได้รับเลือก เข้ามาก็มีโอกาสได้ลุ้นเป็นประธาน กสทช.คนใหม่ได้ โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.คณิตทำงานอยู่ที่ตึก กสทช.มาก่อน เป็นทีมงานหน้าห้อง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี อดีตประธาน กสทช.และอดีตเสนาธิการทหารอากาศ 

            อนึ่ง กสทช.ชุดใหม่มีด้วยกัน 7 คน แยกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้ (1) ด้านกิจการกระจายเสียง (2) ด้านกิจการโทรทัศน์ (3) ด้านกิจการโทรคมนาคม (4) ด้านวิศวกรรม (5) ด้านกฎหมาย (6) ด้านเศรษฐศาสตร์ และ (7) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

            โดยรับสมัครมาตั้งแต่ 8 มกราคม ถึง 14 มกราคมที่ผ่านมา โดยปรากฏว่ามีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 86  คน รายชื่อดังนี้ (1) ด้านกิจการกระจายเสียง จำนวน 9 คน คือ 1.รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์ 2.ดร.ธนกร  ศรีสุขใส ผู้ปฏิบัติงานประจำกรรมการ กสทช. 3.นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ตี้ ผู้บริหารวิทยุกระจายเสียง 4. นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส 5.พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด 6.พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ ผอ.กองกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม  7.พล.ต.ธนณัฐ ยังเฟื่องมนต์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก 8.นายไพทูรย์ หิรัญประดิษฐ์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ 9.ดร.บัณฑิต ตั้งประเสริฐ อดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

            (2) ด้านกิจการโทรทัศน์ จำนวน 9 คน คือ 1.พล.ต.วิเศษศักดิ์ สุนทรเกส ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน ททบ.5 2.นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท 3.พล.อ.ศักดา แสงสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย 4.พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์ ข้าราชการบำนาญ สังกัดกองทัพบก 5.นายวิษณุ ตัณฑวิรุฬห์ ที่ปรึกษากรรมการ กสทช. 6.นายณภัทร วินิจฉัยกุล  รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท 7.นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บมจ.อสมท 8.นายจำลอง สิงห์โตงาม อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ 9.พล.ท.สายัณห์ สวัสดิ์ศรี ผอ.ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า

            (3) ด้านกิจการโทรคมนาคม จำนวน 12 คน คือ 1.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม 2.นายสุพจน์ เธียรวุฒิ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม โทรคมนาคม 3.นายอธิคม ฤกษบุตร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร 4.พ.อ.พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ นายทหารปฏิบัติการ กองบัญชาการกองทัพไทย 5.นายทศพร ซิมตระการ ปฏิบัติงาน กสทช. รองผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 6.นายอานนท์ ทับเที่ยง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที 7.พล.ท.มณฑล ปราการสมุทร เจ้ากรมการทหารสื่อสาร 8.นายวุฒิดนัย ฐิตะกสิกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที 9.พล.ท.สมศักดิ์ ต่างท้วม อดีตหัวหน้ากิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคม กลาโหม 10.นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที 11.นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการ รฟม. อดีตรอง กก.ผอ.บมจ.ไทยคม 12.นายไพโรจน์ ตั้งอาษาศิลป์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการกฎหมายกระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ

ทหาร-ตร.-นักวิชาการพรึ่บ!

            (4) ด้านวิศวกรรม จำนวน 11 คน ได้แก่ 1.นายวันชัย ผโลทัยถเกิง กรรมการบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด 2.พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน ทหารกองหนุน (ข้าราชการบำนาญ) 3.ดร.ณัฐวุฒิ ศาสตราวาทะ  รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริษัท เอซีทีโมบาย จำกัด 4.พล.อ.ต.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  รองเลขาธิการ กสทช. 5.พล.อ.อ.เอกรัฐ ษรานุรักษ์ อดีตเจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ 6.พล.อ.ต.ศ.ดร.วินัย จันทร์เปล่ง รอง ผบ.โรงเรียนนายเรืออากาศฯ 7.นายสุวัฒน์ เทพสุทิน ผู้จัดการบริษัท สมาร์ทอินทิเกรทเชอร์ 8.นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง 9.พ.อ.รศ.ดร.ผเดิม หนังสือ รศ. สกศ. รร.จปร. 10.รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองศาสตราจารย์/รองอธิการบดี/อดีตคณบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 11.นายปรเมศวร์ กุมารบุญ วุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร/กรรมการวิศวกรรมเทคโนโลยี สารสนเทศ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

            (5) ด้านกฎหมาย จำนวน 18 คน ได้แก่ 1.ศ.ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อาจารย์ประจำพิเศษ สาขานิติศาสตร์ มสธ. 2.พ.ต.อ.ดร.ขิง แขวงวิเศษชัยชาญ ข้าราชการบำนาญ, ตำรวจ, เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ การพาณิชย์ การอุตสาหกรรมและการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 3.นายประพันธ์  คูณมี อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการกระจายเสียง 4.นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด 5.นายพรชัย ด่านวิวัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย 6.นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการสำนักงาน กสทช. 7.พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (ด้านกระบวนการยุติธรรม) 8.นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 9.นายอัครวัฒน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 10.พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ที่ปรึกษาประจำ กสทช. 11.พล.ต.ท.ดร.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว จเรตำรวจ 12.นายมนูภาน ยศธแสนย์  อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 13.นายสรจักร เกษมสุวรรณ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 14.นายสุจิต จงประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ (ผู้ทรงคุณวุฒิกรมที่ดิน) 15.นายสมชัย ทรัพย์ศิริผล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์/อนุกรรมการ กสทช. 16.พล.อ.จิระ  โกมุทพงศ์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 17.นายเจริญ คัมภีรภาพ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร 18.นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

            (6) ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 9 คน ได้แก่ 1.นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม คณะกรรมการกฤษฎีกา 2.นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 3.พล.อ.ณัฏฐิพงษ์ เผือกสกนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก 4.นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ข้าราชการบำนาญ 5.นายปรีย์มน ปิ่นสกุล  ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน 6.หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต 7.ผศ.ดร.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. 8.นางทรงพร โกมลสุรเดช เกษียณอายุราชการ 9.นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

            (7) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจำนวน 18 คน ได้แก่ 1.นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 2.นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภค 3.พล.อ.ภุชพงศ์ พงษ์ศิริ ข้าราชการบำนาญ 4.รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 5.ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ ประธานสภาอาจารย์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 6.นาย ณ กาฬ เลาหะวิไลย รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจหนังสือพิมพ์ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) 7.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม 8.นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม อดีตเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 9.นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์ นายกสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้/ที่ปรึกษาประจำ กสทช. 10.นายปริญญา ศิริสารการ  ประธานมูลนิธิประกายสิทธิ 11.นายบรรจง บุญรัตน์ รองนายกสมาคมคนที่ 2 สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 12.ดร.พิสิฐ ประเสริฐศรี ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จังหวัด อุบลราชธานี 13.นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 14.พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล  อดีตผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15.นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการ/อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 16.รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล 17.พล.อ.ทรงบุญ วุฒิวงศ์ ข้าราชการบำนาญ 18.นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการส่วนประสานงานภาครัฐและเอกชน (สคบ.)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"