เกาหลีเหนือจวกสหรัฐ ทำข้อตกลง'ออคัส'ปลุกแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์


เพิ่มเพื่อน    

กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือแถลงประณามการจับมือเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ที่จะทำให้สหรัฐถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย ว่าอาจกระตุ้นให้เกิด "การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์" ในภูมิภาคนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศการทำความตกลงออคัสระหว่างสหรัฐ, อังกฤษ และออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 (Getty Images)

    สำนักข่าวเคซีเอ็นเอของทางการเกาหลีเหนือรายงานอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือรายหนึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 20 กันยายน โจมตีข้อตกลงด้านความมั่นคง 3 ฝ่ายในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกระหว่างสหรัฐ, อังกฤษ และออสเตรเลีย (ออคัส) ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์

    เอเอฟพีและบีบีซีกล่าวว่า ตามข้อตกลงฉบับนี้ สหรัฐและอังกฤษจะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่สหรัฐถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแก่ประเทศอื่น หลังจากก่อนหน้านี้เคยแบ่งปันกับอังกฤษเพียงชาติเดียวเท่านั้น

    เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งออสเตรเลียวางแผนจะสร้าง 8 ลำ มีข้อได้เปรียบจากเรือดำน้ำที่ใช้พลังงานแบบอื่นคือ สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นและตรวจจับได้ยากขึ้น เรือดำน้ำนิวเคลียร์ยังสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานหลายเดือน และยิงมิสไซล์ที่มีพิสัยไกลขึ้น แม้ออสเตรเลียจะกล่าวว่าไม่มีความตั้งใจจะติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ก็ตาม

    "สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำไม่พึงปรารถนาและอันตรายอย่างยิ่ง ที่จะทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกระตุ้นให้เกิดห่วงโซ่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์" เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือผู้นี้กล่าว "นี่แสดงให้เห็นว่า สหรัฐเป็นหัวโจกในการทำลายระบบไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ"

    เขายังกล่าวถึงปฏิกิริยาไม่พอใจจากจีนด้วยว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ รวมถึงจีน จะประณามการกระทำเหล่านี้ว่าเป็นการกระทำขาดความรับผิดชอบที่ทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

    รัฐบาลฝรั่งเศสก็ไม่พอใจที่ออสเตรเลียยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศสเพื่อไปจับมือสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กับสหรัฐซึ่งฝรั่งเศสมองว่าเป็นการโดนแทงข้างหลัง โดยเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือผู้นี้กล่าวว่า ข้อตกลงฉบับนี้ยังก่อให้เกิด "วิกฤติร้ายแรง" ระหว่างชาติพันธมิตรเหล่านี้

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบอาวุธขนาดใหญ่ 2 ครั้ง หนึ่งคือการยิงทดสอบมิสไซล์ครูซพิสัยไกล และอีกครั้งเป็นการทดสอบขีปนาวุธ วันพุธที่แล้วซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ เกาหลีใต้ก็ยิงทดสอบขีปนาวุธชนิดยิงจากเรือดำน้ำ (เอสแอลบีเอ็ม) ประสบความสำเร็จ คล้อยหลังการทดสอบของเกาหลีเหนือไม่กี่ชั่วโมง และทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ 7 ในโลกที่มีขีดความสามารถนี้

    ในแถลงการณ์อีกฉบับของเกาหลีเหนือ ที่เคซีเอ็นเอรายงานเมื่อวันจันทร์ จาง ชางฮา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การป้องกันประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดหาและพัฒนาอาวุธของทางการเกาหลีเหนือ กล่าวถึงการทดสอบอาวุธของเกาหลีใต้ครั้งล่าสุดนี้ว่า จากภาพถ่ายที่เผยแพร่ทางสื่อแสดงให้เห็นถึงอาวุธที่ชุ่ย และไม่มีรูปร่างของเอสแอลบีเอ็มแต่อย่างใด

    "เอสแอลบีเอ็มที่ผลิตเองของเกาหลีใต้จะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือโจมตีที่มีประสิทธิภาพในการทำสงครามได้" เขากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"