คาด18มค.ได้ชื่อ25สนช. ยื่นศาลวินิจฉัยกม.ปปช.


เพิ่มเพื่อน    

“ประยุทธ์” เคลียร์ประชาธิปไตยไทยนิยม   ชี้หมายถึงทำให้คนไทยเข้าใจ ปชต.ที่ถูกต้อง ทำแต่สิ่งดีงาม แต่ไม่ละเลยกติกาสากล ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  ยังกั๊กยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ภาคประชาชนเรียกร้อง ลั่นเรื่องกฎหมายลูก ป.ป.ช.ยังไม่ถึงคิวต้องลงมือ “เจตน์” ยัน 18 ม.ค.น่าจะล่าชื่อ 25 สนช.ครบเพื่อยื่นตีความ
เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานวันครูแห่งชาติ ครั้งที่ 62/2561 ว่า คนไทยติดนิสัยชอบอะไรก็จะชอบอยู่อย่างนั้น ค่อนข้างมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ศิลปิน รักแรง เกลียดแรง ชอบแรง สิ่งเหล่านี้เรียกว่าไทยนิยม เข้าใจไหม ไม่ใช่เรื่องการเมืองเรื่องประชาธิปไตยอย่างเดียว เราต้องเข้าใจความเป็นไทยของเรา นี่เป็นสิ่งที่ต้องฝากครู คนไทยจะมีส่วนร่วมพัฒนาชาติได้อย่างไร คนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยได้ลึกซึ้งเพียงใด วันนี้เราอย่าไปเดินตามสิ่งที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยอาจไม่ใช่อย่างนั้น แต่ด้วยหลักการพื้นฐาน เราต้องเป็นไปตามกติกาโลก ประชาธิปไตยอะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ลืมพื้นฐานประชาธิปไตย
"ประชาธิปไตยไทยนิยมในแบบของผม คือทำอย่างไรคนไทยจะเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ทำอย่างไรคนไทยจะทำสิ่งที่ดีงาม ถ้าทุกคนมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว นั่นแหละคือไทยนิยม คนไทยชอบทำ เราต้องทำสิ่งดีๆ จะเกิดผลดีต่อบ้านเมือง อันนี้ขอโอกาสชี้แจง เพราะพาดหัวมาหลายวันแล้ว ประชาธิปไตยไทยนิยมของผม คนไทยชอบอะไรก็ชอบ รักอะไรก็รัก เกลียดอะไรก็เกลียด บางคนก็รักๆ เกลียดๆ เกลียดข้างนี้บ้าง เกลียดข้างโน้นบ้าง ผมไม่เคยเกลียดใคร เพราะทุกคนคือคนไทยทั้งสิ้น เว้นแต่หลายคนเขาเกลียดผม แต่ในห้องนี้ผมว่าไม่น่ามี" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ต่อมาในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงนิยามของประชาธิปไตยไทยนิยมอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องอยู่หลายวัน ซึ่งได้พูดในเรื่องประชาธิปไตยไทยนิยม มีหลายคนไปบิดเบือนว่าจะเป็นแบบตนเองไม่ไปสู่ประชาธิปไตยสากลหรือเปล่า หรือจะเป็นแบบเป็นอยู่วันนี้ ไม่ใช่เลย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบใดก็ตาม มันต้องไม่ทิ้งกลไกหรือทิ้งสาระสำคัญของคำว่าประชาธิปไตยอันเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส และเป็นธรรม
“การที่ผมต่อเติมไปด้วยว่าไทยนิยม หมายความว่า ประเทศไทยท่านต้องสังเกตดูการจะทำอะไรให้สำเร็จ มันต้องสร้างจิตสำนึกร่วมกันให้ได้ ฉะนั้น ผมจึงใช้แนวคิดของตนเอง คืออะไรที่ชอบก็ชอบ สนับสนุนตลอดทุกอย่าง อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่สนับสนุน ผมจึงคิดว่าต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทยทั้งหมดทุกพวก ทุกฝ่ายเข้าใจ และมีอุดมการณ์อันเดียวกัน ที่จะทำให้ประเทศชาติเรามั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน นั่นแหละคือไทยนิยมของผม”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า การจะทำอะไรต่างๆ คนไทยต้องทำให้ทุกคนยอมรับให้ได้ และการยอมรับให้ได้คือต้องไม่ทิ้งกลไก ทิ้งสาระสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยสากลของเรา เพราะเราเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉะนั้นอย่าไปกังวลกันตรงนี้ว่าไทยนิยมคือไทยนิยมของตนเอง  มันไม่ใช่ไทยนิยม คือคนไทยทั้งหมดนิยมประชาธิปไตยที่มันถูกต้อง หลายคนหลายฝ่ายก็ไม่เข้าใจ
บิ๊กตู่กั๊กยกเลิกคำสั่ง คสช.
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณี 24 เครือข่ายภาคประชาสังคมเตรียมล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. 35 ฉบับว่า ต้องไปดูว่าจะยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.อันไหน เพราะ คสช.ออกไปกว่า 100 เรื่อง ซึ่งเขาไม่ได้เสนอยกเลิกทุกเรื่อง แต่เสนอยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไปดูตรงนั้น ไปดูว่ากฎหมายที่ออกมามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ก็มีเยอะแยะ เราต้องมีหลักคิด
    ด้านนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กฤษฎีกาได้จัดทำข้อมูลให้รัฐบาลได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รวบรวมว่าที่ผ่านมา คสช.ได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 กี่ฉบับ ในเรื่องในบ้าง อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งมาตรา 44 ในรัฐบาลนี้ต่างออกด้วยความระมัดระวัง เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดความขัดข้องในทางปฏิบัติมากกว่าการสร้างกติกาใหม่ในสังคม
    สำหรับกรณีการร้องเรียนให้นายกฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ…. โดยเฉพาะประเด็นการต่ออายุคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ขั้นตอนของตนเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเขาทำเองได้ ฟ้องได้ เว้นแต่ว่าหากส่งกลับมาที่ตนเองเพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
    ส่วน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มรวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ยังได้รายชื่อไม่ครบ 1 ใน 10 หรือ 25 คน ตามมาตรา 148 คาดว่าจะได้รายชื่อครบภายใน 1-2 วัน เพื่อยื่นต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้ในวันที่ 18 ม.ค. เพื่อยื่นต่อศาลต่อไป
ทั้งนี้ ในการลงมติของ สนช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุ  ป.ป.ช.นั้น มีทั้งสิ้น 26 คน ได้แก่ 1.พล.ร.อ.กฤษฎา เจริญพานิช 2.พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ 3.พล.อ.อ.ชนัท รัตนอุบล 4.พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร 5.พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ 6.พล.ร.อ.ชุมพล วงศ์เวคิน 7.นายดิสทัต โหตระกิตย์ 8.พล.อ.อ.ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ 9.นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน 10.พล.ร.อ.นพดล โชคระดา 11.นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา 12.นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ 13.นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ 14.คุณพรทิพย์ จาละ 15.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ 16.นายวันชัย ศารทูลทัต 17.พล.อ.วิชิต ศรีประเสริฐ 18.พล.ร.อ.วีรพันธ์ สุขก้อน 19.นางเสาวณี สุวรรณชีพ 20.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ 21.พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง 22.น.ส.อรจิต สิงคาลวณิช 23.นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ 24.พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ 25.พล.อ.ธนดล สุรารักษ์ และ 26.พล.ร.อ.สนธยา น้อยฉายา
ส่วนรายชื่อที่งดออกเสียง 29 คน ได้แก่ 1.นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน  2.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 3.พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา 4.พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ 5.นายประมุท สูตะบุตร 6.นายพรเพชร วิชิตชลชัย 7.นายพีระศักดิ์ พอจิต 8.นายมณเฑียร บุญตัน 9.นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร 10.พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล 11.นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ 12.พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ 13.นายสมพล พันธุ์มณี 14.พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์ 15.นายเจน นำชัยศิริ 16.นายสุพันธุ์ มงคงสุธี 17.พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ 18.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ 19.พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ 20.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ 21.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล 22.พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ 23.นายอิสระ ว่องกุศลกิจ 24.พล.ท.พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์ 25.พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง 26.นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ 27.นายวิทยา ผิวผ่อง 28.พล.อ.อ.สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ และ 29.พล.ท.สุรใจ จิตต์แจ้ง
ชี้คนยื่นตีความอาจคว้า ส.ว.
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอแนะให้สมาชิก สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นต่ออายุ ป.ป.ช. ว่าตอนนี้กฎหมายยังไม่ถึงมือนายกฯ เพื่อนำสู่การทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ยินว่า สนช.เขากำลังรวมรายชื่ออยู่ คงจะส่งไป ซึ่งการยื่นจะส่งผลดีทำให้ข้อสงสัยที่มีเหตุอันควร จะได้ข้อยุติกับทุกฝ่าย เพราะหากปล่อยไปวันข้างหน้า มีคนยกขึ้นมาไปฟ้องศาล หากศาลชี้ว่าไม่ถูกต้องก็จะเป็นปัญหา จะเกิดการตั้งคำถามต่อไปอีกว่า แล้วระหว่างที่ทำหน้าที่นั้นถูกต้องหรือไม่ ใครที่ถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบก็อาจไปฟ้องโต้แย้งกันบานปลายไปใหญ่ เราถึงได้บอกเป็นแนวว่ากังวล แต่ขึ้นกับ สนช.จะตัดสินใจ 
“สาเหตุที่ กรธ.ไม่ทำความเห็นแย้งให้ตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายนั้น เนื่องจากไม่ใช่เรื่องขัดเจตนารมณ์ แต่เป็นปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง สนช.ก็เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก หากตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ก็ไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้” นายมีชัยกล่าว 
      เมื่อถามว่า อาจมีใบสั่งหรือไม่ สนช.จึงไม่กล้ายื่นเรื่อง เพราะกลัวไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้ง นายมีชัยกล่าวว่า ถ้ามีแล้ว กรธ.จะต้องมีข้อสังเกตให้ สนช.ทำไม ใบสั่งสั่งให้คนทำผิดรัฐธรรมนูญไม่ได้หรอก  กรธ.ไม่ได้บอกให้ สนช.ไปยื่นศาล แต่บอกว่ากังวลอาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งการวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญ จึงแจ้งมายัง สนช.จะเห็นอย่างไรก็แล้วแต่ ส่วนเรื่อง ส.ว.คิดว่าคนที่ยื่นสมควรได้รับเลือกมากกว่าอีก ถือว่ารอบคอบดี 
     เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีที่ สนช.ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งที่คุณสมบัติไม่ครบแล้ว นายมีชัยกล่าวว่า ศาลเคยชี้คุณสมบัติ ไม่ใช่ลักษณะต้องห้ามแบบในครั้งนี้ ถ้าศาลบอกเหมือนกรณีผู้ตรวจฯ ไม่รับไว้พิจารณาก็จบ แต่ที่ กรธ.กังวลในเรื่อง ป.ป.ช.นั้นคนละส่วน 
นายดิสทัต ในฐานะสมาชิก สนช. กล่าวถึงกรณีลงมติไม่เห็นชอบในประเด็นต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. ว่า การลงมติใช้สิทธิ์ในฐานะสมาชิก สนช. ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ที่ลงมติไม่เห็นชอบ เพราะเห็นด้วยกับเหตุผลของ กมธ.เสียงข้างน้อย และ กรธ. ซึ่งไม่มีใครมาล็อบบี้ว่าจะต้องลงมติอย่างไร ไม่มีการติดต่อหรือใบสั่งอะไรทั้งนั้น แต่ใช้ดุลยพินิจของตัวเองในฐานะสมาชิก สนช. แต่เมื่อที่ประชุม สนช.เสียงข้างมากเห็นชอบ ในฐานะสมาชิก สนช.น้อมรับตามกติกา
    ถามว่า มีการมองว่าเพราะสนิทสนมกับ กรธ. โดยเฉพาะกับนายมีชัย จึงลงมติไม่เห็นชอบ นายดิสทัต กล่าวว่า ขอย้ำว่าใช้สิทธิ์ในฐานะสมาชิก สนช.ที่มีความอิสระ ที่โหวตแบบนั้นเพราะเชื่อในเหตุผลของ กรธ.และกมธ.เสียงข้างน้อย เข้าใจในความคิดที่เขาพยายามอธิบายให้ที่ประชุมฟัง ไม่ใช่เพราะสนิทกับนายมีชัย เพราะที่ผ่านมามีก็กฎหมายลูกบางฉบับที่ไม่ได้เห็นด้วยกับ กรธ. ดังนั้นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง แต่ต้องดูเหตุผล
    ส่วนที่มีข่าวว่า สมาชิก สนช.บางส่วนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น นายดิสทัตกล่าวว่า ถ้าจะมีสมาชิก สนช.คนใดติดใจในประเด็นดังกล่าว และจะใช้กลไกตามกระบวนการของกฎหมายที่เปิดช่องให้ย่อมเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่ตนเองไม่ติดใจที่จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"