ผงะ!40สถาบันการศึกษา 182หลักสูตรตํ่ามาตรฐาน


เพิ่มเพื่อน    

ผงะ! หลักสูตรของสถาบันศึกษาไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 182 หลักสูตร 40 มหาวิทยาลัย    พบ ม.รามคำแหงนำโด่ง ขณะที่กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เร่งยกระดับ ศรัทธาความเป็นครู 
    เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.)  กล่าวถึงกรณีการพิจารณาผลการดำเนินการประกันคุณภาพในระดับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด และในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว มีมติเห็นชอบให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ว่าผลการประเมินภายในปีการศึกษา 2558 และ 2559 ประเมินระดับหลักสูตรเฉพาะองค์ประกอบที่ 1 คือ เรื่องจำนวนและคุณสมบัติอาจารย์ การบริหารจัดการหลักสูตรมีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี โท และเอก รวม 9,099 หลักสูตร ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน 155 แห่ง 
    "ผลปรากฏว่า มี 182 หลักสูตร ใน 40 สถาบันอุดมศึกษา ที่มีปัญหาไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามการกำกับมาตรฐานตามองค์ประกอบที่ 1 เป็นเวลาติดต่อกันถึง 2 ปีการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 2 ของหลักสูตรทั้งหมด ประกอบด้วย หลักสูตรระดับปริญญาตรี 68 หลักสูตร,  ปริญญาโท 89 หลักสูตร, ปริญญาเอก 24 หลักสูตร และประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 หลักสูตร"
    นายสุภัทรกล่าวว่า เมื่อ กกอ.พบว่ามีหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามการกำกับมาตรฐาน จึงได้เสนอให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีปัญหานั้นๆ งดรับนักศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว พร้อมปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอย่างเร่งด่วนภายใน 90 วัน เพื่อจัดการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาที่คงค้างอย่างมีคุณภาพจนสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐาน และเนื่องจากการประเมินผลดังกล่าวเป็นการประเมินตั้งแต่เมื่อปี 2558 และ 2559 ดังนั้น สกอ.จึงได้ดำเนินการตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพบว่าสถาบันอุดมศึกษาได้มีการแก้ไขปัญหานี้ไปบ้างแล้ว คือใน 182 หลักสูตรนั้น สถาบันอุดมศึกษาได้แก้ไขปัญหาหลายรูปแบบ คือ ปิดหลักสูตร 59 หลักสูตร งดรับนักศึกษาไปแล้ว 68 หลักสูตร ควบรวมหลักสูตรไปแล้ว 2 หลักสูตร และยังเปิดดำเนินการสอนและปรับปรุงแก้ไข 53 หลักสูตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สกอ.ได้นำข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ทางเว็บไซต์ สกอ. www.mua.go.th เรียบร้อยแล้ว
    “เพื่อให้การจัดการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมีผลกระทบต่อนักศึกษาผู้เรียนน้อยที่สุด และคงไว้ซึ่งคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา สกอ.ได้เตรียมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการหมุนเวียนอาจารย์ประจำหลักสูตร เนื่องจากร้อยละ 90 ของ 182 หลักสูตรดังกล่าว จะมีปัญหาในประเด็นเรื่องจำนวนคุณวุฒิและคุณสมบัติอาจารย์ประจำหลักสูตร รวมทั้ง สกอ.ได้วางแผนจัดการประชุมเพื่อจัดระบบคลินิกแก้ไขปัญหาร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เนื่องจากบางหลักสูตรมีปัญหาด้านกระบวนการจัดการ แต่สถาบันอุดมศึกษาสามารถปรับปรุงได้ด้วยตนเองโดยทันที” เลขาฯ กกอ. กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม การที่ กกอ.มีมติให้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีข้อดีให้เห็น เพราะตนได้คุยกับอธิการบดีหลายท่านก็บอกว่าเป็นการกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยตื่นตัว และพบว่าหลักสูตรไหนที่มีปัญหาก็ตัดสินใจรวดเร็วขึ้น
    www.mua.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานสองปีติดต่อกันคือปีการศึกษา 2558 และปีการศึกษา 2559 อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรที่รอปรับปรุงจำนวน 2 หลักสูตร มหาวิทยาลัยพะเยา 2 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 1 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 4 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 1 หลักสูตร, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5 หลักสูตร 
    มหาวิทยาลัยรามคำแหง 17 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เชียงราย 2 หลักสูตร, มรภ.เชียงใหม่ 2 หลักสูตร, มรภ.มหาสารคาม 7 หลักสูตร,  มรภ.สกลนคร 1 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา 1 หลักสูตร, มทร.ศรีวิชัย 1 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 4 หลักสูตร, มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ (ประเทศไทย) 2 หลักสูตร 
    วันเดียวกัน นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเนื่องในวันครูว่า ขณะนี้ศักดิ์ศรีและความเคารพศรัทธาครูลดน้อยลงไป จึงจำเป็นต้องยกระดับศรัทธาความเป็นครู ด้วยการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การผลิตครูที่บางสาขาขาดบางสาขาเกิน จึงต้องวางแผนการผลิตให้ถูกต้อง มีการคัดกรองที่ดี ซึ่งปัจจุบันแทนที่จะคัดกรอง กลับเป็นคลองขวางทางไม่ให้ไหล 
    นอกจากนี้ เส้นทางวิชาชีพครูก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะระบบการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะยังไม่ให้ค่าความเป็นครู แม้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีการปรับเกณฑ์การประเมินเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะใหม่แล้ว แต่ก็ดีขึ้นนิดหน่อย เพราะวัดเวลาที่สอน แต่ยังวัดความเชี่ยวชาญในการสอนไม่ได้ จึงต้องมีการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังต้องมีการหารือกันอีกหลายครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เคยศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาแล้ว จึงให้นำมาสังเคราะห์เพื่อนำผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้
    ด้านนางทิศนา แขมมณี ประธานคณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ กล่าวว่า ตนได้นำเสนอบอร์ดอิสระฯ ถึงปัญหาด้านครูอาจารย์ สืบเนื่องมาจาก 4 เรื่องใหญ่ คือ 1.การผลิตครู ที่พบว่าหลักสูตรไม่สามารถผลิตครูที่มีความสามารถอย่างแท้จริง ขาดสมรรถนะที่ครูควรจะมี ดังนั้นต้องจัดทำหลักสูตรผลิตครูที่มุ่งเน้นสมรรถนะ พร้อมกำหนดสมรรถนะขั้นต่ำที่จำเป็น ถ้าไม่มีก็จบไปเป็นครูไม่ได้ นอกจากนี้ ต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพตั้งแต่ปี 1-4 โดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ 2.การคัดกรองครู ให้มีการสอบวัดสมรรถนะในการคัดเลือกครูเข้าทำงาน มีระบบการสอบบรรจุแต่งตั้งที่กระจายตัวในพื้นที่ มีระบบจูงใจให้ครูไปทำงานในพื้นที่ขาดแคลน 
    3.การพัฒนาครู ควรจัดระบบการพัฒนาครู ไม่ใช่ให้ครูกระเสือกกระสนเอง และการพัฒนาควรเป็นสิ่งที่ครูปฏิบัติจริงในโรงเรียนแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในระบบ PLC และ 4.เส้นทางวิชาชีพครู ต้องออกแบบระบบกลไกการเลื่อนวิทยฐานะที่ยึดโยงกับความสำเร็จของผู้เรียน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"