ถกเอกชนรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า


เพิ่มเพื่อน    

“พาณิชย์” แจงปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 3.4% หรือ 315.90 บาท กระทบต่อต้นทุนสินค้าเฉลี่ยที่ 0.05% ลั่นผู้ผลิตใช้เป็นเหตุผลปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้  แต่พร้อมพิจารณาหากต้นทุนสูงขึ้นจริง นัดถกภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าสัปดาห์หน้า ธปท.ระบุส่งผลดีต่อการบริโภคในภาพรวม
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 มกราคมว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ศึกษาผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ที่ได้มีการปรับขึ้นทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยพบว่าปรับขึ้น 3.4% หรือทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 305.44 บาท เป็น 315.90 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10.50 บาท ได้มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าต่ำสุด 0.0008% และสูงสุดอยู่ที่ 0.1% หรือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.05% ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนไม่มาก ผู้ผลิตจะใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้
    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะนัดหารือภาคเอกชนทุกกลุ่มสินค้าอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าผลการวิเคราะห์ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำกระทบต่อต้นทุนสินค้าเท่าไร และภาคเอกชนมีความเห็นอย่างไร ถ้าพบว่าไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า ก็จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายต่อไป แต่ถ้ามีผลกระทบ มีผลกระทบเท่าไร มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาหารือพูดคุยกันก่อน ถ้าไม่กระทบ ก็ต้องไม่ขึ้นราคาสินค้า จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาต่อไป แต่ถ้ากระทบ ก็ค่อยมาว่ากัน
    รมว.พาณิชย์กล่าวว่า ขอฝากไปยังประชาชนให้ช่วยสอดส่องดูแล และช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับกระทรวงพาณิชย์ หากพบเห็นว่ามีสินค้าหรือบริการใดปรับขึ้นราคาก็ให้แจ้ง ให้ร้องเรียนเข้ามาได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบให้ทันที และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ โดยขอยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเข้มงวด แข็งกร้าว และเอาจริงกับผู้ที่เอาเปรียบขั้นเด็ดขาด
    เขายังได้วิเคราะห์ผลการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อภาคการผลิต โดยพบว่าต้นทุนค่าแรงในภาคการผลิตและบริการจะเพิ่มขึ้น 10,006 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.07% ของจีดีพี โดยภาคบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุด 3 อันดับแรก คือ การก่อสร้าง การขายส่งและการขายปลีก, การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์, โรงแรมและบริการด้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาหกรรม คือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, การฟอกและตกแต่งหนังฟอก, เครื่องจักรสำนักงานโลหะขั้นมูลฐาน
    ส่วนผลกระทบต่อการส่งออก จะทำให้ต้นทุนการส่งออกเพิ่มขึ้น 0.022% หรือมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 167 ล้านบาทต่อปี โดยสาขาที่มีสัดส่วนต้นทุนเพิ่มมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การพิมพ์ เครื่องหนัง เครื่องแต่งกาย โลหะประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และยานยนต์ สำหรับผลกระทบต่อเงินเฟ้อ พบว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.08% และทำให้กรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 0.6-1.6% เพิ่มเป็น 0.7-1.7% 
    ทั้งนี้ เมื่อช่วงค่ำวันพุธ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 เปิดเผยถึงผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากใช้เวลาในการหารือกันนานกว่า 7 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 5-22 บาท โดยแบ่งเป็น 7 ระดับ คือ 1. เป็นการปรับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 308 บาท 
    2.ปรับขึ้นจำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร สตูล ตรัง แม่ฮ่องสอน เชียงราย  ลำปาง นครศรีธรรมราช และหนองบัวลำภู อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 310 บาท 
    3.ปรับขึ้น 21 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครสวรรค์ พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ กาญจนบุรี อ่างทอง สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และน่าน อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 315 บาท
    4.ปรับขึ้น 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี และจันทบุรี อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 318 บาท
    5.ปรับขึ้น 14 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ขอนแก่น กระบี่ นครราชสีมา พังงา เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี และตราด เป็นต้น อัตราอยู่ที่ 320 บาท
    6.ปรับขึ้น 7 จังหวัด อาทิ กทม. นนทบุรี ฉะเชิงเทราสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม เป็นต้นอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาท 
    7.ปรับขึ้น 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง อัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 330 บาท
     โดยค่าเฉลี่ยทั้ง 77 จังหวัด มีการปรับค่าแรงต่ำสุด 5 บาท และสูงสุด 22 บาท ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 315.97 บาท    และจะเสนอ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 เป็นต้นไป
    ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า ในที่ 22 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมใหญ่คณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ซึ่งจะนำเรื่องผลกระทบค่าแรงไปหารือด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่อยากออกความเห็นจนกว่าได้รับความเห็นจากสมาชิกอย่างเป็นทางการก่อน และได้ให้อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดไปหารือกับผู้ประกอบการและเสนอผลกระทบมาอย่างละเอียด  
    นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอัตราค่าจ้างปัจจุบันเกิน 400 บาทต่อวัน แต่กลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบน่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า เนื่องจากบางรายอาจจะได้รับผลกระทบเนื่องจากค่าแรงเป็นเหมือนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่ม 3.4% โดยเฉลี่ยทั่วประเทศนั้น ถือว่าเป็นขนาดการปรับเพิ่มที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่กระจายตัวมากนัก โดยจะส่งผลดีให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อการบริโภคในภาพรวม และช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น จากข้อมูลการสำรวจพบว่ากลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ในปัจจุบันต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะประกาศใหม่มีอยู่ประมาณ 12% เมื่อประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่จะทำให้คนกลุ่มนี้มีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนของกลุ่มดังกล่าวที่ยังอยู่ในระดับสูงได้บ้าง
    “ความกังวลต่อความสามารถของผู้ประกอบการที่จะแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งมีต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานรายได้ขั้นต่ำเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ” นายดอนกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"