ถอยแล้วคุมเข้มถ่ายผู้นำ ชี้กฎเก่าข้องใจถูกวางยา


เพิ่มเพื่อน    

  สื่อมวลชนอึ้ง สันติบาลออกระเบียบเข้มถ่ายภาพนายกฯ ในงานไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป ต้องทำความเคารพก่อนและหลังถ่าย อยู่ห่าง 5 เมตร และข้อปฏิบัติอีกจิปาถะ ขณะที่บิ๊กตู่ข้องใจถูกวางยา ชี้เป็นเอกสารเก่าตั้งแต่ปี 58 ไหงมาโผล่ตอนนี้ วิจารณ์ขรมของเก่าทำไมออกประกาศพร้อมให้สื่อลงทะเบียนรับรู้

    เมื่อเช้าวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) มีภารกิจไปเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ฮอลล์ 5-7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่นายกฯ จะเดินทางไปถึง เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยทั้งตำรวจสันติบาล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิมแพ็ค  เมืองทองธานี ได้ตรวจสอบบุคคลที่จะเข้าร่วมงานอย่างเข้มงวด โดยทุกคนจะต้องเดินผ่านเครื่องสแกนวัตถุ รวมทั้งต้องลงทะเบียน ติดบัตร และติดสติกเกอร์เพื่อแสดงว่าผ่านการตรวจเรียบร้อยแล้วทุกคน และต้องให้ตรวจกระเป๋าและวัตถุต้องสงสัยด้วย
    ไม่แต่เท่านี้ ตำรวจจาก กก.1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล1 ยังได้จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพสื่อมวลชน โดยให้ลงชื่อ สังกัด และเบอร์โทรศัพท์อย่างชัดเจน มีการจดเลขที่ไอดีการ์ดบัตรประชาชน ตลอดจนแจกเอกสารกำหนดข้อปฏิบัติ มารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน คือ 1.ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรี และแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ 2.การแต่งกายที่สุภาพ บุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น 3.กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล 4.จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนและได้รับอนุญาตเท่านั้น 5.ไม่แสดงกิริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร 6.ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย 7. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่น หรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน
    สำหรับข้อควรปฏิบัติในการบันทึกภาพ 1.ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง 2.ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได ฯลฯ 3.ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร 4.ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลน หรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน 5.ให้บันทึกภาพได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม 6.การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์ และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง 7.หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติ หรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุการณ์ปรับระเบียบช่างภาพสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของสื่อมวลชน ได้รีบทำความเข้าใจกับตำรวจสันติบาล 1 ทันที พร้อมชี้แจงสื่อมวลชนด้วยว่า การปรับระเบียบนี้ เป็นในส่วนของตำรวจสันติบาล 1 เท่านั้น ซึ่งปกติการดูแลรักษาความปลอดภัยนายกฯ จะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล 3 เป็นหลัก แต่วันนี้ส่วนใหญ่ติดภารกิจ จึงเปลี่ยนมาใช้กำลังตำรวจสันติบาล 1 แทน ทั้งนี้ ภายหลังทำความเข้าใจ ตำรวจสันติบาล 1 จึงได้มีการปรับมาตรการดังกล่าว
    พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผบช.ส. สั่งการให้ตรวจสอบแล้วว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการออกข้อปฏิบัติจริงหรือไม่ และออกอย่างถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ โดยปกติตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชนก็ปฏิบัติงานร่วมกัน มีความเข้าใจกันดีมาโดยตลอด ข้อปฏิบัติใดๆ ก็พูดคุยประสานงานกันด้วยดี ไม่ได้มีข้อกำหนดอะไรเป็นพิเศษแบบนี้
     รอง ผบช.ส.กล่าวว่า โดยปกติแล้วอำนาจหน้าที่ในการดูแลปฏิบัติร่วมกับสื่อมวลชนในภารกิจของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ไม่ใช่กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ดังนั้นการปรากฏเอกสารที่อ้างว่าเป็นข้อบังคับข้อปฏิบัติ จาก บก.ส.1 จึงเป็นเรื่องไม่ปกติ ซึ่งตนเองยังไม่เห็นเอกสารตัวจริง จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง จริงหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานชี้แจงขึ้นมา แล้วจะชี้แจงสื่อมวลชนอีกครั้ง
    อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งออกมาชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เอกสารดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี 2558 จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อมวลชนและคนที่ได้พบเห็น โดยนายกฯ ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดปัญหาการทำงานระหว่างทีมนายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชน
         "นายกฯ เชื่อว่าวัตถุประสงค์ของการออกข้อปฏิบัติในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจคงมีความปรารถนาดี ต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งใจจะยกระดับการทำงานของทั้งเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนให้มีความเป็นสากล และมีมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
         พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า หากพิจารณาความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับใช้ข้อปฏิบัตินี้โดยเคร่งครัดแต่อย่างใด ส่วนเรื่องใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น โค้งคำนับก่อนและหลังการถ่ายภาพ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของช่างภาพ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาลไปพิจารณาทบทวนและถอนออกจากข้อปฏิบัติ เพราะคนจะเคารพหรือให้เกียรติกันนั้น ขึ้นอยู่กับวัตรปฏิบัติของแต่ละบุคคล
    ล่าสุดหลัง พล.ท.สรรเสริญได้ชี้แจงในกลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาลถึงเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่า เป็นเอกสารตั้งแต่ปี 2558 ไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อมวลชนและคนที่ได้พบเห็น เพราะเอกสารดังกล่าวได้นำมาวางไว้ให้ลงทะเบียนที่จุดลงทะเบียนของงาน Thailand Social Expo 2018 และเจ้าหน้าที่ยังได้ขอให้ช่างภาพเซ็นชื่อพร้อมเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งไม่ใช่เป็นเอกสารเก่า รวมทั้งผู้ดำเนินรายการยังได้ประกาศผ่านไมโครโฟนถึงข้อห้ามหลายข้อสำหรับสื่อ ซึ่งได้ยินทั่วทั้งงาน.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"