ผบ.ทบ.โอดกำลังพลเยอะ ลั่นหากผิดไม่มีปกป้องแน่


เพิ่มเพื่อน    

  “บิ๊กเจี๊ยบ” รับสภาพกำลังพลมีกว่า 2 แสนนาย กำชับสุดๆ ทุกเรื่องแล้ว แต่บางครั้งเป็นเรื่องส่วนบุคคล ลั่นไม่ปกป้องใคร “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม-ศรีสุวรรณ” ประสานเสียงตั้ง กก.อิสระสอบคดีทำร้ายพลทหาร ชงใช้ ม.44 ฟันผู้บังคับบัญชา!

    เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีพลทหารคชา พะชะ อายุ 22 ปี ทหารเกณฑ์สังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) จังหวัดลพบุรี ถูกเพื่อนพลทหาร 3 นายทำร้ายบาดเจ็บสาหัสว่า เรื่องทำร้ายร่างกายมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ขณะนี้เป็นเรื่องที่โรงพยาบาลดูแลผู้บาดเจ็บ โดยได้กำชับกับผู้บังคับหน่วยอยู่เสมอในเรื่องการดูแลกำลังพล โดยเฉพาะพลทหาร 
     “ผมกำชับสุดจะกำชับทุกเรื่องอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้บังคับกองพันก็ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย ก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย และผู้พันก็ดูแลเรื่องการรักษา และอยู่กับทางญาติเพื่อให้กำลังใจ ส่วนการย้ายโรงพยาบาล ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่หน่วยระดับกองทัพและกองพลจะเข้าไปดูแล” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว และว่า ส่วนกำลังพล 3 นายในทางวินัยถูกดำเนินการไปแล้ว ตอนนี้ก็ดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งทราบว่ามีการพาไปแจ้งความเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ก็รอผลทางการแพทย์เพื่อชี้ข้อหา
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีข่าวกำลังพลมีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้น อย่างที่ จ.ตรัง ก็มีเรื่องอนาจารเด็ก พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า กำลังพลกองทัพบกมีกว่า 200,000 นาย  หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องส่วนบุคคล เมื่อมีกำลังพลกระทำความผิด เราก็ดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่มีการปกป้องใคร และในการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ก็ได้กำชับทุกหน่วยที่จะต้องสร้างมาตรฐานที่ดีกับสังคม โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเงื่อนไขต่างๆ
    ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าว และเรียกร้องให้ออกกฎหมายใหม่ให้การทรมานเป็นความผิดอาญา และให้กองทัพสร้างมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยระบุว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่กรณีแรก และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ซ้อมทรมานพลทหารจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสเช่นนี้หลายครั้ง อาทิ ปี 2554 กรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย ปี 2559, กรณีสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ผู้ต้องขังเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ถูกผู้คุมเรือนจำทหารกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
“ไทยเป็นรัฐภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มีข้อห้ามการทรมานโดยเด็ดขาดตั้งแต่ปี 2540 และได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการปฏิบัติอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550  แต่ไทยยังขาดหลักประกันทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่จะยุติการซ่อมทหารจนเป็นเหตุให้ถึงแก่บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาต่อต้านฯ ดังกล่าว” แถลงการณ์ระบุ
    แถลงการณ์ชี้ว่า แม้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งนายกฯ ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 ลงวันที่ 23 พ.ค.2560 หรือการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับให้สูญหายปี พ.ศ…. แต่ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด  จึงยังถือว่าไทยยังไม่มีการกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญาการต่อต้านการทรมานแต่อย่างใด และการขาดซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในข้อหาความผิดฐานกระทำทรมาน หรือไม่มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันการทรมานอย่างจริงจัง เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานผู้อื่นจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และหลายกรณี ทำให้ไม่สามารถนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในค่ายทหาร
“มูลนิธิฯ ขอสนับสนุนท่าทีของผู้บังคับกองพันฯ และ ผบ.ทบ. ต่อกรณีพลทหารคชาที่ออกมาเปิดเผยและยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาต่อทหารที่กระทำผิด และผู้บังคับบัญชาที่อาจเกี่ยวข้องหรือละเลย แต่ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ รวมทั้งให้มีอำนาจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส” มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุ
ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์
สมาคมฯ เช่นกัน ในหัวข้อ ขอให้ใช้มาตรา 44 ตั้ง กก.อิสระสอบเอาผิดผู้บังคับบัญชากรณีพลทหารคชา โดยระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวผิดปกติ สะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานในการควบคุมดูแลทหารภายในค่าย ซึ่งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยลงโทษเฉพาะพลทหารทั้ง 3 นายที่ก่อเหตุเท่านั้น อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาภาพลักษณ์ของกองทัพได้ สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ผบ.ทบ. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ลงโทษผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 และ ผบ.กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 3 รอ.) ตามกฎหมายวินัยทหาร นอกจากนั้นในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการทางวินัยและคดีอาญาต่อผู้บังคับบัญชาของพลทหารดังกล่าว ถ้าจะโปร่งใสต้องมีกรรมการจากบุคคลภายนอก โดยใช้อำนาจตาม ม.44 แต่งตั้งจึงจะชอบ
“ปัจจุบันภาพลักษณ์ของทหารได้ตกต่ำถึงขีดสุดตั้งแต่ปี 2558 เพราะมีเหตุการณ์หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในค่ายทหารและในกองทัพ แต่ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้อย่างใด ทั้งกรณีของน้องเมย กรณีทหารละเมิดทางเพศเด็กชาย กรณีพลทหารรับใช้ กรณีการปล่อยทหารกลับบ้าน ดังนั้นหากมีการปฏิรูปทหาร เปลี่ยนแนวคิดในการจัดการลงโทษทหารเสียใหม่ โดยอาจปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร 2476 ให้ทันสมัย ก็เชื่อว่าภาพลักษณ์ของทหารในสายตาประชาชนส่วนใหญ่จะกลับมาดีเหมือนเดิม” นายศรีสุวรรณระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"