นายกฯโอ่จีดีพี-ส่งออกพุ่ง โพลสวน‘เครียด’เรื่องศก.


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" แจงเอกชนเศรษฐกิจดี จีดีพี-ส่งออกเพิ่ม ฝากช่วยบอกต่อ สวนทางโพล! "ของแพง-ศก.แย่" ทำคนไทยเครียด เบื่อ-ไม่มีความสุข-หมดกำลังใจ กระทุ้งรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ปี 2561 (Prime Minister's Export Award 2018) จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ว่า สำหรับเศรษฐกิจวันนี้ จีดีพีและการส่งออกดีขึ้น แต่บางจังหวะการส่งออกอาจลดลง แต่ไปสูงขึ้นในการค้าขายออนไลน์ จึงต้องสร้างการรับรู้ ไม่เช่นนั้นจะถูกวิจารณ์ว่าการส่งออกลดลง  เพราะเมื่อรวมกันแล้วยังสูงขึ้น เข้าใจว่าต่างคนต่างคิดต่างคนต่างวิจารณ์ จนเห็นว่าสิ่งที่ตนพูดนั้นไม่จริง ยืนยันว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง เพราะดูแลอยู่ข้างบนตามลำดับ ทุกอย่างต้องมีก้าวแรก เพราะถ้าก้าวผิดจะผิดไปตลอด เราต้องดึงการก้าวผิดมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่ ที่เคยเดินเลี้ยวไปมาขอให้หยุด กลับมาเดินใหม่ เพราะได้ใช้แนวทางนี้มาตลอด ควบคู่กับหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุ มีผล มีภูมิคุ้มกัน ใช้จ่ายอย่างพอประมาณ
    “ประเทศจะอยู่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือ ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชนทุกกลุ่ม ภาครัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายและและระเบียบให้ทันสมัย ถ้าใช้กฎหมายเดิมแล้วทำแบบเดิม จะไม่ทันกับสถานการณ์ จะเห็นว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งประชาชนต้องได้ประโยชน์ มิเช่นนั้นจะถูกมองว่ารัฐเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อ เวลานี้มักเกิดความสับสนในหลายเรื่อง และสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้ง การเป็นประชาธิปไตยในวันข้างหน้า จึงอยากบอกอีกครั้งว่า เราพยายามทำมาตรการต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรม ประชาชนอาจยังไม่เข้าใจ ไม่เรียนรู้มากนัก จึงขอให้ผู้ประกอบการช่วยกันสร้างความเข้าใจ ว่าเรามีกฎหมายและกติกาที่ต้องทำตามสากลด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า โดยจะเตรียมการทั้งหมดไว้ เพื่อให้การพูดคุยในอาเซียนด้วยหลักการไทยแลนด์พลัสวัน รวมถึงเรื่องอีอีซี ไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ตาม ตนจำเป็นต้องพูดกับผู้ประกอบการ เพราะเป็นแกนสำคัญให้กับเรา จะเห็นว่ากฎระเบียบออกมามากมายในช่วงรัฐบาลนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการกับประเทศไทยทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นประโยชน์กับตน
    อย่างไรก็ตาม เกษตรกรคิดแต่เรื่องน้ำ เรื่องราคาผลผลิตปลายทาง แต่ต้นทางไม่รู้ ใครเป็นรัฐบาลต้องไปหามา โดยไม่รู้ว่าเงินทั้งหมดมาจากภาษี สร้างการรับรู้แบบนี้ไม่ได้ ส่วนการประกันราคาข้าวของรัฐบาล โดยตั้งราคาจากราคาเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี แล้วหารออกมา ไม่ใช่ตั้งส่งเดชอะไรก็ได้ จะตั้ง 18,000-19,000 บาท ไม่ใช่ ฝากช่วยกันชี้แจงด้วยแล้วกัน ไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่เรื่องนี้ เดี๋ยวคอยดู มีการหาเสียงเมื่อไหร่ทุกอย่างก็ถอยหลังกลับมาที่เก่าหมด
    นายกฯ กล่าวว่า ดูตำราต่างประเทศเขาสรุปมาแล้วว่า ประชาธิปไตยข้อเท็จจริงก็คือประชานิยมนั่นแหละ เพราะมีการเลือกคนที่ชื่นชมชื่นชอบ ทำยังไงให้ชอบก็ต้องให้ แต่ประชานิยมถ้าจะทำต้องมีประโยชน์ ไม่มีผลต่อระบบการเงินการคลังของประเทศต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ว่าเงินเกินครึ่งของงบประมาณมาทำตรงนี้ทั้งหมด แล้วได้กลุ่มนี้อยู่กลุ่มเดียว ยังมีคนจนอีกตั้งเยอะแยะ ขอให้เข้าใจสิ่งที่พูด และขอให้สื่อไปถึงประชาชน เพราะบรรดานักการเมืองต่างๆ พยายามพูดบิดเบือน เกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิดไปอีก แล้วจะกลับมาแบบเดิม 
    วันเดียวกัน สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยกรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,007 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-20 ส.ค.61 พบว่า คนไทยมีความเครียดคล้ายคลึงกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือน พ.ค.61 โดยคนไทยส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ (ร้อยละ 77.08) รองลงมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 66.52) และเรื่องครอบครัว (ร้อยละ 55.06) เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าระดับความเครียดของคนไทยในการสำรวจครั้งนี้พุ่งสูงกว่า 2 ไตรมาสที่ผ่านมา
        ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัย ก็พบว่าคนไทยตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยชรา ต่างมีความเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน แม้ว่ารายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาจะมีการขยายตัว และปรับตัวลดลงมาเพียงเล็กน้อย แต่ความเครียดของคนไทยในเรื่องนี้ยังมีสูงอยู่ จึงเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างตัวเลขจากรายงานภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาดี กับอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยที่กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต 
    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น (ร้อยละ 67.43) ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน (ร้อยละ 50.95) ปัญหาหนี้สินและรายรับไม่พอกับรายจ่าย (ร้อยละ 48.46) ได้ส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่แปลกที่คนไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกกังวลและอดที่จะเครียดไม่ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด และคุณภาพชีวิตของตนจะดีขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้นตามที่หน่วยงานต่างๆ คาดการณ์ไว้จริงหรือไม่
          จากผลการสำรวจพบว่า เพื่อจะเผชิญหน้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเองมากกว่า โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 58.97) หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น (ร้อยละ 11.06) และปล่อยวางทำใจยอมรับความเป็นจริงและมีสติ (ร้อยละ 6.28) เป็นต้น อย่างไรก็ตามถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 78.18) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 66.92) และรู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 50.37) ซึ่งจะส่งผลทำให้ความเครียดของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ในที่สุด.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"