‘ในหลวง’ทรงห่วงน้ำท่วม


เพิ่มเพื่อน    

  นายกรัฐมนตรีเผย พระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทรงขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด รัฐบาลรับใส่เกล้าฯ ทำงานเต็มที่ ปัจจุบันเหลือเพียงสกลนคร นครพนม และเพชรบุรี ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย ขณะที่น้ำโขงภาพรวมยังน่าห่วง

    วันที่ 25 สิงหาคม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยทรงขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด ในส่วนของรัฐบาล รับใส่เกล้าฯ ทำงานอย่างเต็มที่ และยึดแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นหลักในการดำเนินงาน หน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และจังหวัดที่ประสบภัยทุกพื้นที่ ภายใต้การกำกับของรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นายกฯ ระบุว่ารายงานล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะพบว่า ยังมีจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม และเพชรบุรี จากพื้นที่เฝ้าระวังทั้งหมด 8 จังหวัด ปัจจุบันยังคงเฝ้าระวังในลำน้ำสายหลักต่างๆ เนื่องจากประเทศไทยยังมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง 
    สำหรับพื้นที่เพชรบุรี ระดับน้ำเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะคลี่คลายลงภายใน 5 วัน ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำยม ได้วางแผนรับมือสถานการณ์น้ำ โดยใช้บางระกำโมเดลเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากใน จ.สุโขทัยและพิษณุโลก ด้วยการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ และใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำหลากในช่วงวิกฤติราว 382,000 ไร่ ซึ่งปีที่แล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
    "นายกฯ กำชับให้ทุกหน่วยออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับปริมาณฝนและระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมการล่วงหน้า ช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที" โฆษกรัฐบาลกล่าว
ปภ.เผยยอดเสียชีวิตแล้ว 4 ราย
    นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17- 25 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ หนองคาย นครพนม บึงกาฬ และเพชรบุรี รวม 65 อำเภอ 271 ตำบล 1,494 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,180 ครัวเรือน 93,392 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย 
    สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 8 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 3 จังหวัด รวม 17 อำเภอ 86 ตำบล 751 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,227 ครัวเรือน 38,875 คน ได้แก่ 
    นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาแก, อำเภอศรีสงคราม, อำเภอนาหว้า, อำเภอนาทม และอำเภอบ้านแพง รวม 36 ตำบล 395 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,354 ครัวเรือน 9,434 คน ปัจจุบันระดับน้ำโขงลดลง  
    บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ, อำเภอบุ่งคล้า, อำเภอโซ่พิสัย, อำเภอปากคาด, อำเภอศรีวิไล, อำเภอบึงโขงหลง, อำเภอเซกา และอำเภอพรเจริญ รวม 44 ตำบล 340 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,376 ครัวเรือน 27,393 คน ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำโขงลดลง 
    และเพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน, อำเภอท่ายาง, อำเภอบ้านลาด และอำเภอบ้านแหลม รวม 6 ตำบล 16 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 497 ครัวเรือน 2,048 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีแนวโน้มลดลง 
    ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
    ด้าน?นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ประจำวันที่ 25 ส.ค.61 ว่าวันนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 19 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนครอุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุบลราชธานี ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนองและพังงา
จับตาสถานการณ์เขื่อน
     24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมาก โดยภาคเหนือปริมาณฝนสูงสุดที่ จ.น่าน 133.0 มม.,  แม่ฮ่องสอน 129.5 มม., ลำพูน 88.5 มม., เชียงราย 84.5 มม., พะเยา 69.0 มม., ลำปาง 59.5 มม. ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี 55.0 มม., หนองคาย 52.2 มม. และภาคใต้ จ.ระนอง 92.5 มม.
    ?สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุดในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5 แห่ง เปรียบเทียบจากวันที่ 24 ส.ค.    
    1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 755 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 5 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1 เมตร ลดลง 10 ซม. ขณะที่ปริมาณการระบายน้ำลดลง โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 86 ซม. แนวโน้มลดลงที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง 35 ซม. แนวโน้มลดลง ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังได้รับผลกระทบน้ำท่วมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าตลิ่งของคันกั้นน้ำเทศบาลลดลงเช่นกัน 
    2.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 563 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 108% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 13.77 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 7.23 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 7.74 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.53 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 
    3.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,091 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 101 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 40 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.24 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 4 ล้าน ลบ.ม. โดยการระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ และแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง 
    4.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 195 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับเมื่อวานนี้ คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 8.21 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 0.28 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 7.68 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.84 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 79 ซม.ลดลง 1 ซม. 
    5.เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 322 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 5 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.17 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.62 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก ยังคงที่ 11.21 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีวันนี้จะสูงขึ้นไม่เกิน 25 ซม. 
เพชรบุรีกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
    ?“ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังคงเฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ ทั่วประเทศ ในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนนี้ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยปัจจุบันอ่างฯ ที่ความจุเกิน 100% แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 108%, เขื่อนแก่งกระจาน 106% ขนาดกลาง 27 แห่ง ขณะที่อ่างเฝ้าระวัง 80-100% ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ 89%, เขื่อนวชิราลงกรณ 91%, เขื่อนรัชชประภา 87%, เขื่อนขุนด่านปราการชล 87%, เขื่อนปราณบุรี 82% ขนาดกลาง 53 แห่ง 
    ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี 5 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำนครนายก แม่น้ำยังที่ อ. เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีระดับสูงกว่าระดับตลิ่งแล้ว” นายสำเริงกล่าว? 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเพชรเช้าวันนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ถนนเกือบทุกสายในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีน้ำแห้งแล้ว เหลือเพียงถนนหน้าห้างสหไทย ที่ยังคงมีน้ำท่วมพื้นผิวจราจรเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ตลาดเมืองเพชรวันนี้กลับมาคึกคักเหมือนเช่นเคย ในขณะที่วัดใหญ่สุวรรณารามฯ ที่มีน้ำท่วมขังสูง ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ ได้นำน้ำเครื่องสูบน้ำระยะไกล ขนาด 5,000 ลิตรต่อนาที จำนวน 1 ชุด เข้าติดตั้งเพื่อระบายน้ำออกจากวัดใหญ่สุวรรณารามฯ ซึ่งวันนี้สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
    นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม มอบหมายให้นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ  เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันเเละเเก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย เเละดินถล่ม ครั้งที่ 1 ปี 2561 ณ ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) โดยมีกว่า 30 หน่วยงานเข้าร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งชลประทานจังหวัดนครพนมเป็นหน่วยงานหลักที่จะเสนอสถานการณ์น้ำท่วมเพิ่มหรือลด ส่วนหน่วยงานอื่นเป็นฝ่ายช่วยเหลือสนับสนุน และทุกหน่วยต้องอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ร่วมกับผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล และ อบต. แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาทราบตามขั้นตอน โดยทุกหน่วยจะต้องเข้าประชุมทุกวันในเวลา 09.00 น. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ
น้ำโขงยังน่าห่วง
    ภาพรวมสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงยังคงน่าเป็นห่วง และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน หลังจากมวลน้ำเหนือด้าน จ.เลย หนองคาย และบึงกาฬ ไหลหลากมาเติม โดยล่าสุดวันเสาร์สามารถตรวจวัดระดับน้ำที่สถานีตรวจวัดชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม เวลา 08.00 น. วัดได้ 12.39 เมตร เพิ่มขึ้น 1 ซม. ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่าน้ำโขงเริ่มทรงตัว
    อย่างไรก็ตาม จากฝนที่ตกหนักติดต่อกันมานานหลายวัน ทำให้มีปริมาณน้ำที่สะสม ส่งผลกระทบกับลำน้ำสาขา โดยเฉพาะแม่น้ำสงคราม มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานไหลผ่าน 5 จังหวัด คือ อุดรฯ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม โดยจะระบายลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากน้ำ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ซึ่งการไหลนั้นค่อนข้างช้า เนื่องจากน้ำโขงหนุนสูง อีกทั้งเขื่อนน้ำอูนที่ จ.สกลนคร ยังพร่องน้ำมาเติม ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสงครามได้พุ่งสูงเลยขอบตลิ่ง และเอ่อล้นไหลบ่าทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ ต.หาดแพง หมู่ 1 บ้านอ้วน หมู่ 4, 7 มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 35 ครัวเรือน บางแห่งถูกน้ำท่วมขังร่วมเดือน ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมสูง 50-80 ซม รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
    โดยทางชลประทานนครพนมยังคงเร่งเดินเครื่องผลักดันน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามประตูระบายน้ำทุกจุด เพื่อระบายลงน้ำโขงให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมรับมือ หากมีฝนตกหนักในพื้นที่เพิ่มอีก เบื้องต้นทางจังหวัดนครพนมได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมแล้วทั้งจังหวัด รวม 12 อำเภอ 94 ตำบล 908 หมู่บ้าน 17,454 ครัวเรือน รวมชาวบ้านได้รับผลกระทบ 51,080 คน มีถนนได้รับความเสียหายกว่า 111 สาย และมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบประมาณ 165,545 ไร่ แยกออกมาเป็นนาข้าว คาดว่าจะเสียหาย 162,970 ไร่ ยางพารา ปาล์ม ประมาณ 2,567 ไร่ และมันสำปะหลัง 8 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดนครพนมได้ประสานไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"