สนช.จ่อถกงบฯ พบ5ปียุคทหาร 14ล้านล้านบาท


เพิ่มเพื่อน    

  สนช.จ่อถกงบประมาณแผ่นดินปี 62  วาระ 2-3 วงเงิน 3 ล้านล้าน วันที่ 30 ส.ค.นี้ เพิ่มงบกลาง 9 พันล้าน ยอดรวม 5 ปี คสช.บริหารงบประมาณไปแล้ว 14 ล้านล้านบาท กลาโหมทุบสถิติได้ยอดรวม 9.38 แสนล้านบาท

    การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 30 สิงหาคมนี้ จะมีร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 วาระสอง และวาระสาม ตามที่ กมธ.วิสามัญฯ ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เป็นประธาน เสนอ 
    โดยงบประมาณยังคงเป็นไปกรอบวงเงินเดิม คือ 3,000,000,000,000 บาท แต่ กมธ.วิสามัญฯ ได้ปรับวงเงิน 24,222,829,100 บาท เพื่อนำจัดสรรเพิ่มเติมให้หน่วยงานอื่นๆ
    สำหรับรายการเพิ่มเติมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ 1. มาตรา 4 งบกลาง ตั้งเพิ่มขึ้น 9 พันล้านบาท สำหรับแผนงานเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2.มาตรา 30 รัฐวิสาหกิจ ตั้งเพิ่มขึ้น 7.2 พันล้านบาท สำหรับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. และสถาบันเกษตรกร และ 3.มาตรา 34 กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 2.5 พันล้านบาท สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 
    ส่วนรายการเพิ่มเติมที่น่าสนใจ อาทิ มาตรา 51 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตั้งเพิ่มขึ้น 1.8 พันล้านบาท สำหรับโครงการปรับปรุงชลประทาน โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ มาตรา 7 กระทรวงกลาโหม ตั้งเพิ่มขึ้นอีก 307 ล้านบาท สำหรับ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม เงินอุดหนุนการบริหารองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 138 ล้านบาท กับกองทัพบก ด้านการเสริมสร้างกำลังกองทัพ 169 ล้านบาท 
    หน่วยงานที่ได้งบประมาณมากที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ 174,958,321,100 บาท ถูกตัดงบลง 1,369 ล้านบาทบาท รองลงมาคือ กระทรวงกลาโหม 117,583,067,200 บาท ถูกตัดงบลง 534 ล้านบาท  กระทรวงคมนาคม 55,028,332,800 บาท ถูกตัดงบลง 253 ล้านบาท และกระทรวงมหาดไทย 36,526,341,600 บาท ถูกตัดงบลง 435 ล้านบาท 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบรายจ่ายเพิ่มเติม ตลอด 5 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. รวมใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 14 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณทุกปีรวม 2.1 ล้านล้านบาท โดยงบประมาณของกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่ถูกจับตา ตลอด 5 ปี รวมได้รับอนุมัติงบประมาณราว 9.38 แสนล้านบาท   
    ขณะที่งบประมาณในส่วนของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ได้รับการเสนอในวงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยไม่ถูกตัดลดงบประมาณลงแต่อย่างใด
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Ladawan Wongsriwong ว่า รู้สึกเป็นห่วงผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่รอบคอบ จึงขอตั้งคำถามถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า ได้ให้ความสำคัญต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับ กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท รวมทั้งมีการยกเว้นการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment Report) ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ นำไปสู่วิกฤติความชอบธรรมของการดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามกฎหมายหลายประการ  
          เธอระบุว่า สงสัยการบริหารประเทศสวนทางกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ยุทธศาสตร์ชาติระบุไว้ว่า จะต้องทำให้การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, ระบุวิสัยทัศน์อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาอย่างสมดุล, ให้ทำตามพันธกิจขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม, บูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 
          วันที่ 25 พ.ย.2559 กรมควบคุมมลพิษตรวจพบทั้งสารประกอบไดออกซิน ไฮโดรเจนคลอไรด์ และแคดเมียม เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย จนต้องระงับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ จ.สงขลา จนกว่าจะแก้ไขไม่ให้ปล่อยมลพิษออกสู่ชุมชน โครงการนี้ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบก่อนใช่หรือไม่? 
          วันที่ 22 ส.ค.61 ชาวบ้านทุ่งงิ้ว ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมตัวคัดค้านการนำพื้นที่ป่าชุ่มน้ำบ้านทุ่งงิ้วประมาณ 500 ไร่ ไปใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ใช่หรือไม่? 
          นางลดาวัลลิ์ยังระบุว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นเรื่องจำเป็นก็จริงอยู่ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ไม่เช่นนั้นจะได้ไม่คุ้มเสีย ตนเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ และที่สำคัญ ควรให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีส่วนรับรู้ข้อดีข้อเสีย การป้องกัน และร่วมตัดสินใจด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"