ชงรื้อภาษีสรรพากรทั้งระบบ


เพิ่มเพื่อน    

  คกก.ปฏิรูปภาษีชงรื้อใหญ่ 6 ประเด็น ลดภาษีมนุษย์เงินเดือนเหลือ 25% ใกล้เคียงอัตรานิติบุคคล พร้อมหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เพิ่มเพดานรายได้จดทะเบียนแวตเป็น 10 ล้านบาท แก้เลี่ยงภาษี คาดขยายฐานผู้เสียภาษีสูงขึ้นแตะ 35 ล้านคน

    ที่โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 กันยายน คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร ที่มีนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นประธาน ในคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน จัดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไขประมวลรัษฎากร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย นักวิชาการ และประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างประมวลรัษฎากรให้มีความทันสมัย เป็นธรรม และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยจะเร่งรัดและผลักดันร่างประมวลรัษฎากรให้แล้วเสร็จในปี 2562 ตามแผนปฏิรูปประเทศ
    ภายหลังการสัมมนา นายกิติพงศ์เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้เปิดรับฟังความเห็นการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎาของกรมสรรพากรจากประชาชน โดยมีการเสนอให้แก้ไข 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นธรรมาภิบาลการจัดเก็บภาษีและบริหารภาษีอากร โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายภาษีอากรแห่งชาติ ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานจัดเก็บภาษี เพื่อกำหนดนโยบายการเก็บภาษีโดยคำนึงโครงสร้างภาษีทั้งระบบและทุกประเภท รวมถึงการตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ซึ่งเป็นคนนอก ไม่ใช่จากกรมสรรพากร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นกลาง
    รวมทั้งสร้างค่านิยมในการเสียภาษี โดยกำหนดนโยบายเพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้เข้าสู่ระบบภาษี อาทิ การช่วยเหลือผู้มีเงินได้น้อย และการให้สิทธิประโยชน์เชิงสวัสดิการที่มิใช่เป็นตัวเงินแก่ผู้เสียภาษีมาก เป็นต้น และกำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมีเงินได้หรือไม่ หรือมีเงินได้ถึงเกณฑ์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และให้ประชาชนเปิดเผยจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีในแบบแสดงรายการ แม้ในปีภาษีดังกล่าวจะไม่มีภาษีที่ต้องชำระก็ตาม
    2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เสนอปรับเงินได้ใหม่ให้เหลือ 3 ประเภท โดยแยกตามวิธีการคำนวณภาษี คือ เงินได้จากน้ำพักน้ำแรง ได้แก่ เงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (1) (2) (6) เดิม, เงินได้จากทรัพย์สินและการลงทุน ได้แก่ เงินได้ประเภทเงินปันผลและดอกเบี้ย และเงินได้จากธุรกิจและอื่นๆ รวมทั้งเสนอให้มีการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ตามประเภทของประเภทเงินได้ จากปัจจุบันที่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท
          นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงจากปัจจุบันสูงสุด 35% ให้อยู่ระดับ 25% ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้ของนิติบุคคล และขยายช่วงเงินได้สำหรับแต่ละอัตรา เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการประกอบธุรกิจ แต่ยังไม่พร้อมจะเป็นนิติบุคคล
          3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เสนอให้มีการปรับลดอัตราภาษีและภาระภาษีรวมอยู่ที่ไม่เกิน 25% จากปัจจุบันภาษีนิติบุคคลของไทยเสียอยู่ที่ 20% และต้องเสียภาษีเงินปันผลอีกประมาณ 10% ทำให้มีภาระภาษีรวมประมาณ 28% รวมถึงให้กลุ่มบริษัทเดียวกันมีสิทธิคำนวณกำไรเสียภาษีรวมแบบกลุ่ม ป้องกันการถ่ายโอนราคาสินค้าบริหารเพื่อเสียภาษีให้น้อยลง นอกจากนี้เสนอให้กำหนดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพียงอัตราเดียวสำหรับเงินได้ทุกประเภท และปรับวงเงินขั้นต่ำที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้จ่ายเงินได้ในการตีความ 
          4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จากปัจจุบันต้องจดทะเบียนภาษีแวตเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เสนอเพิ่มเป็นเกิน 10 ล้านบาทต่อปี แก้ปัญหาผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีแวต เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปัจจุบันมีรายได้อยู่ปีละ 7-8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ต้องจดทะเบียนขึ้นภาษีแวต จะต้องเสียภาษีจากการขายจากรายรับ 2% ทดแทน รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีแวตให้กิจการบางประเภท เช่น บริการสอบบัญชี การว่าความ โรงเรียนกวดวิชา การให้บริการนักแสดง เป็นต้น และคงเหลือยกเว้นเฉพาะประเภทที่มีเหตุจำเป็นสมควร นอกจากนี้ เสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีแวต โดยนำหลักตามร่างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซมาใช้
         5.ภาษีธุรกิจเฉพาะ เสนอให้มีการยกเลิกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอัตรา 0.1% จากรายรับจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และ 6.ภาษีอากรแสตมป์ เสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีอากรแสตมป์ทั้งหมด เนื่องจากซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีประเภทอื่น และมีจำนวนน้อยและมีค่าใช้จ่ายในการติดตามตรวจสอบสูงกว่าภาษีอากรแสตมป์เก็บได้
          “ข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายสรรพากรดังกล่าว เชื่อว่าช่วยขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดาของคนไทยให้สูงขึ้นได้ถึง 35 ล้านคน จากประชาชน 60 ล้านคน จากปัจจุบันมีคนอยู่ในระบบภาษีเพียงกว่า 10 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงเพียง 3 ล้านคน รวมถึงการขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปัจจุบันอยู่ในระบบ 4 แสนราย เทียบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีถึง 3 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ายังมีคนอยู่นอกระบบภาษีอยู่มาก” นายกิติพงศ์ ระบุ
          นายกิติพงศ์กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะเสนอการแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรให้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วน เพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน คาดว่าจะใช้เวลาเขียนร่างแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากรไม่เกิน 5 เดือน โดยจะนำข้อมูลจากการรับฟังความเห็นจากประชาชนไปใช้เป็นข้อมูลในการเขียนร่างกฎหมายด้วย
          ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร เพราะหากทำไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งใหม่อาจจะไม่ดำเนินการต่อ เพราะเรื่องของการขยายฐานภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้งหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ เนื่องจากทำให้เสียความนิยมได้
        นายปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2562 กรมมีเป้าหมายต้องเก็บภาษีให้ได้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้ได้ตามเป้าหมาย สำหรับการแก้ไขกฎหมาย กรมสรรพากรอยากให้คณะกรรมการฯ ทำการแก้ไขกฎหมายรองรับการเก็บภาษีในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะการทำธุรกิจจะเป็นอี-บิสสิเนสและดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทำให้การเก็บภาษีต้องทันกับการเปลี่ยนที่รวดเร็วดังกล่าว.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"