โลกปลื้ม‘โนเบลสันติภาพ’ ต้านความรุนแรงทางเพศ


เพิ่มเพื่อน    

  ทั่วโลกแซ่ซ้องโนเบลสันติภาพปีนี้มอบรางวัลแก่ 2 นักต่อสู้เพื่อต่อต้านความรุนแรงทางเพศในภาวะสงคราม รายแรก "นพ.เดนิส มูเกวกี" ชาวคองโกผู้ช่วยเหลือเหยื่อ อีกรายคือ "นาเดีย มูราด" สาวชาวยาซิดีที่โดนไอเอสจับเป็นทาสกามในอิรัก ก่อนหนีรอดมาได้แล้วเป็นนักรณรงค์ต่อสู้เพื่อเหยื่อ

    รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีเมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2561 กล่าวว่า เบริต ไรส์-แอนเดอร์สัน ประธานคณะกรรมการโนเบล ทำหน้าที่ประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2561 ที่กรุงออสโล โดยยกย่องการทำงานของบุคคลทั้งสองที่ต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงทางเพศในภาวะสงครามหรือความขัดแย้งทั่วโลก คนแรกคือนายแพทย์เดนิส มูเกวกี นรีแพทย์ชาวคองโก อายุ 63 ปี และอีกคนคือนาเดีย มูราด หญิงชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดีในอิรัก อายุ 25 ปี 
    "บุคคลทั้งสองได้รับรางวัลสำหรับความพยายามยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธของการทำสงครามและความขัดแย้งด้วยอาวุธ" ไรส์-แอนเดอร์สัน กล่าวระหว่างประกาศชื่อผู้ชนะรางวัลนี้ ซึ่งในปีนี้มีบุคคลและองค์กรได้รับการเสนอชื่อประมาณ 331 ราย "โลกที่สงบสุขขึ้นจะเกิดได้ต่อเมื่อผู้หญิงและสิทธิพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยของพวกเธอได้รับการยอมรับและปกป้องในภาวะสงคราม" 
    การตัดสินใจมอบรางวัลนี้แก่ผู้ต่อสู้และช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางเพศในสงคราม นับว่าสอดคล้องกับกระแสรณรงค์ของเหยื่อคุกคามทางเพศทั่วโลกภายใต้แฮชแท็ก #MeToo (ฉันก็ด้วย) ที่ครบรอบการเคลื่อนไหว 1 ปีพอดี การเปิดโปงของเหยื่อการล่วงละเมิด, ข่มขืน และคุกคาม ทำให้บุรุษผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงต่างๆ ทั่วโลกโดนดำเนินคดีหรือพ้นจากตำแหน่งแล้วหลายสิบราย 
    เอเอฟพีกล่าวว่า นายแพทย์มูเกวกีนั้นได้รับการเสนอชื่อครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 จากการทำงานนานกว่า 20 ปีเพื่อช่วยเหลือเหยื่อให้ฟื้นจากบาดแผลทางร่างกายและจิตใจจากการโดนล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนในพื้นที่สู้รบทางภาคตะวันออกสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เหยื่อการข่มขืนที่มูเกวกีช่วยเหลือหลายหมื่นคนนั้น มีทั้งผู้หญิง, เด็กหญิง และทารกที่มีอายุไม่กี่เดือน ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปันซีในเมืองเซาท์คิวู ที่นายแพทย์มหัศจรรย์ผู้นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อโนเบลประกาศข่าวดีนั้น นายแพทย์มูเกวกีกำลังทำการผ่าตัดให้คนไข้ในโรงพยาบาลนี้
    มูเกวกีซึ่งได้รับฉายาว่า "หมอมหัศจรรย์" เคยกล่าวถึงการข่มขืนผู้หญิงระหว่างสงครามว่าเป็น "อาวุธมหาประลัย" ประธานคณะกรรมการโนเบลกล่าวว่า นายแพทย์มูเกวกีเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพที่สุดทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ของการต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศในสงครามและความขัดแย้งด้วยอาวุธ 
    ส่วนมูราด คือสาวผู้ตกเป็นเหยื่อและเป็นพยานรับรู้ความโหดร้ายที่เกิดกับผู้หญิง โดยเฉพาะเด็กหญิงและผู้หญิงชาวยาซิดีเช่นเดียวกับเธอหลายพันคน เธอโดนพวกนักรบกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ลักพาตัวเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2557 และถูกข่มขืนทรมานในฐานะทาสกามนาน 3 เดือน ก่อนที่เธอจะหลบหนีออกมาได้ องค์การสหประชาชาติกล่าวถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนที่นักรบญิฮาดไอเอสทำกับชนกลุ่มน้อยในอิรักที่ใช้ภาษาเคิร์ดกลุ่มนี้ว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ 
    มูราดเคยเล่าว่า หลังจากโดนลักพาตัว พวกไอเอสบังคับให้เธอเปลี่ยนมาถืออิสลาม หลังจากนั้นพวกนี้ก็ทำกับเธอตามอำเภอใจ คณะกรรมการโนเบลกล่าวยกย่องเธอว่ามีความกล้าหาญอย่างไม่ธรรมดาที่สามารถบอกเล่าประสบการณ์ของเธอ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอปฏิเสธที่ยอมรับหลักเกณฑ์ทางสังคมที่ผู้หญิงต้องปิดปากเงียบและละอายเมื่อตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด
    "เดนิส มูเกวกี คือผู้ช่วยเหลือที่อุทิศชีวิตเพื่อปกป้องเหยื่อเหล่านี้ ส่วนนาเดีย มูราด คือพยานผู้บอกเล่าเรื่องราวของการช่วงละเมิดที่กระทำกับตัวเธอและคนอื่นๆ" ไรส์-แอนเดอร์สันกล่าว พร้อมกับยกย่องทั้งคู่ว่ายอมเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของตนเอง โดยมุ่งความสนใจและต่อสู้กับอาชญากรรมสงคราม 
    การมอบรางวัลให้นักต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศทั้ง 2 ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง โดนัลด์ ทุสก์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยกย่องทั้งคู่ในความกล้าหาญ ความเห็นอกเห็นใจ และมนุษยธรรม, นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวถึงทั้งคู่ว่าเป็นผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม ทั้งสองคือตัวแทนของเสียงร้องเพื่อมนุษยธรรมท่ามกลางความโหดร้ายเกินจินตนาการที่ผู้คนกระทำต่อกัน
    มิเชล บาชเลต ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น บรรยายว่า ไม่อาจจินตนาการถึงบุคคลใดที่เหมาะสมไปกว่า 2 คนนี้อีกแล้ว, ประธานาธิบดีบัรฮาม ซาเลห์ ของอิรัก ยกย่องการมอบรางวัลแก่มูราดว่าเป็นการตระหนักถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าของชาวยาซิดี และเป็นการยอมรับความกล้าหาญของเธอเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของเหยื่อความรุนแรงทางเพศและการก่อการร้าย ส่วนประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา ของคองโก แสดงความยินดีกับมูเกวกีแบบพอเป็นพิธีและเตือนเขาว่าอย่าทำให้การทำงานด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องการเมือง
    ทั้งสองจะเข้ารับรางวัลที่กรุงออสโลวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของอัลเฟรด โนเบล นักวิทยาศาสตร์ใจบุญชาวสวีเดนผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.2439 ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีที่แล้วคือกลุ่มรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อทำลายอาวุธนิวเคลียร์ (ICAN).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"