อ้างคำสั่งคสช.ใช้คุ้มครองกกต.


เพิ่มเพื่อน    

  "วิษณุ" อ้างคำสั่ง คสช.ใช้คุ้มครอง กกต. เหตุทำตามประกาศเขตเลือกตั้งไม่ได้ หวั่นมีการฟ้องร้องจนการเลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนคราวที่แล้ว "อิทธิพร" ปัดรับใบสั่งเปลี่ยนเขตเลือกตั้ง ยันแบ่งจบภายใน 30 พ.ย. เคาะรับสมัคร ส.ว.สัปดาห์หน้า จับฉลากเลือก 413 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง 

    เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 ให้ขยายเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า เหตุผลที่ออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากต้องการคุ้มครองคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ให้มีความผิด เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ได้ออกประกาศเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่กำหนด แต่ไม่สามารถดำเนินการแบ่งเขตได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย รวมถึงภายใน กกต.มีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ โดยบางส่วนคิดว่าหากต้องเร่งดำเนินการถ้าได้แค่ไหนเอาแค่นั้น แต่คงไม่ดี จึงต้องทำให้ครบเรียบร้อย ดังนั้นแม้ กกต.จะเป็นผู้กำหนดเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งว่าเป็นเมื่อใด ถือเป็นการมัดตัวเอง และมีผู้ร้องเรียนมาถึง คสช.และ กกต.
    "จึงมีความคิดกันว่าต้องออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ที่มีลักษณะเป็นเชิงบริหารเพื่อคุ้มครอง กกต.ให้สามารถพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเสียใหม่ได้ โดยไม่กระทบกับเวลาใดๆ ในโรดแมปทั้งสิ้น เพราะของเดิมการแบ่งเขตเลือกตั้งจะทำให้เสร็จเมื่อไรก็ได้ภายในวันที่ 11 ธ.ค.61 ซึ่งเมื่ออยากให้กระบวนการต่างๆ รวดเร็ว แต่ติดที่การแบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้า จึงเหลือเวลาทำไพรมารีโหวตไม่ถึง 30 วัน จึงยืดให้ทำไพรมารีโหวตได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง  ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงปลายเดือน ธ.ค. คาดว่า 10 วันหลังจากวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่ง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งจะเป็นตัวคุมไทม์ไลน์ทั้งหลาย และเมื่อ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวประกาศใช้จะเริ่มหาเสียงได้ และต้องปลดล็อกคำสั่งและประกาศของ คสช." นายวิษณุระบุ
    รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการร้องเรียนมานานแล้ว ที่ประชุม คสช.ได้พิจารณา 2 ครั้ง ส่วนจะมีพรรคการเมืองใดร้องเรียนเข้ามาบ้าง กกต.คงมีการเปิดเผยต่อไป ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะพรรคการเมือง แต่มีชาวบ้านที่ร้องเรียนเข้ามาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวอะไรกับการเลื่อนการเลือกตั้ง เคยบอกไปแล้วว่าเราเริ่มต้นทุกอย่างในวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ส่วนกระบวนการต่างๆ ที่พูดถึงคือ กระบวนการต่างๆ ที่ต้องดำเนินการก่อน 11 ธ.ค. ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงวันที่กฎหมาย ส.ส.มีผลบังคับใช้จะเกิดความยากลำบาก
    ส่วนการที่ คสช.ออกคำสั่งดังกล่าว ทำให้ถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต.นั้น  นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้ไปแทรกแซงอะไร ไม่ได้มีการไปบอกให้แบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร อำนาจยังเป็นของ กกต.อยู่ แต่เมื่อ กกต.ไปประกาศตั้งแต่ก่อนหน้านี้และทำตามที่ประกาศไว้ไม่ได้ ดีไม่ดีจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น จนการเลือกตั้งจะเสียถ้ายังดำเนินการต่อไป ดังนั้น เวลาที่ กกต.ได้กำหนดไว้เองตั้งแต่ต้นแล้วไม่สามารถทำตามให้เสร็จได้ แล้วจะมากำหนดใหม่มันก็ไม่สวยงาม ประโยคสำคัญในคำสั่งหัวหน้า คสช.จึงระบุว่าให้ไปจัดการดูใหม่ และคุ้มครอง กกต.ตามรัฐธรรมนูญเพราะเกรงว่าจะโดนฟ้อง ไม่ได้เป็นการไปแทรกแซงอะไร
    "คุณไม่รู้ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลัง กกต.อยู่ด้วยความไม่มั่นใจว่าถูกหรือผิด จึงออกคำสั่งนี้ให้มันถูกเสีย เพราะคนจ้องจะเล่นงานเขามีอยู่ พอดีพอร้ายเดี๋ยวเลือกไปจะมีปัญหา ดีกว่าปล่อยให้เล่นงานไปแล้วและการเลือกตั้งมีปัญหา เช่น เลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนคราวที่แล้ว แต่ตอนนี้แม้ กกต.ถูกเล่นงานใหญ่ก็ไม่มีปัญหา" รองนายกฯ กล่าว   
    เมื่อถามว่า มีการมองว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการเอื้อให้บางพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการต่างๆ ไม่เรียบร้อย นายวิษณุกล่าวว่าคงไม่ใช่ การดำเนินการของพรรคจะเรียบร้อยหรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งจะต้องออกมาอย่างนั้น แล้วเรายังไม่เคยเห็นด้วยว่า กกต.แบ่งเขตกันอย่างไร บางคนอาจจะรู้คร่าวๆ แต่ของจริงไม่มีใครรู้ ส่วนกรณีพรรคการเมืองขนาดเล็กเตรียมยื่นให้ กกต.เลื่อนการเลือกตั้งนั้นไม่มีความเห็น เมื่อถามย้ำว่า เวลาที่เหลืออยู่ถือว่าเพียงพอสำหรับการเตรียมตัวของพรรคการเมืองต่างๆ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อวันนี้ได้กำหนดวันเลือกตั้งคือ 24 ก.พ.62 จึงคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่สุด และขณะนี้ยังไม่มีอะไรแสดงว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไป
    ทางด้านนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/61 ออกมาเพื่อให้ กกต.ปฏิบัติงานได้เรียบร้อย และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตเลือกตั้งพึงพอใจภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และให้ กกต.ได้พิจารณาคำร้องอย่างรอบคอบ ซึ่ง กกต.มีการพิจารณาคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/61 และมีมติที่จะออกประกาศ กกต.กำหนดระยะเวลารับเรื่องร้องเรียน โดยจะเปิดรับตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 25 พ.ย.61 ซึ่งฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นประชาชนพรรคการเมือง หากเห็นว่าควรแบ่งเขตรูปแบบใด สามารถเสนอความเห็นมาได้ แต่ต้องระบุชื่อ-นามสกุล-ที่อยู่ให้ชัดเจน และให้ความเห็นด้วยว่าต้องการให้รูปแบบการแบ่งเขตเป็นแบบใด 
    ทั้งนี้ กกต.ได้วางกรอบเวลาเป็นการภายในว่าจะเริ่มพิจารณาในวันที่ 26 พ.ย.และเสร็จไม่เกิน 30 พ.ย. จากนั้นจะส่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็วต่อไป โดยมีกำหนดว่าต้องทำให้แล้วเสร็จก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ 
    รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ขณะนี้มีคำร้องที่ตกค้างหลังการพิจารณาแบ่งเขตเสร็จรอบที่แล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย.จนถึงปัจจุบัน 26 คำร้อง ซึ่ง กกต.จะหยิบขึ้นมาพิจารณารวมกับคำร้องใหม่ที่จะมีเข้ามาทั้งผ่านช่องทางที่ร้องตรงมายัง กกต.และผ่าน คสช.กับรัฐบาลด้วย โดยการพิจารณาของ กกต.ไม่ได้เป็นการรื้อเขตเลือกตั้งทุกจังหวัด แต่จะพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่มีการยื่นคำร้องเข้ามาเท่านั้น ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการของ กกต.เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย 
    "กกต.คงไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับจังหวัดที่มีการยื่นคำร้องเข้ามา รวมถึงรูปแบบที่เสนอด้วย หากเปิดเผยก็จะมีการโต้แย้งกันไม่จบสิ้น อีกทั้งอำนาจในการแบ่งเขตก็เป็นของ กกต. การที่กฎหมายกำหนดให้รับฟังความเห็นเป็นเพียงการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ยืนยันว่ารูปแบบเขตเลือกตั้งที่ กกต.กำหนดจะยึดโยงกับรูปแบบที่ได้เคยรับฟังความเห็นประชาชนมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย เพราะ กกต.คงไม่เอาตัวไปเสี่ยงกับการทำผิดกฎหมายเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าการแบ่งเขตไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้ ฉะนั้นมันต้องมีทั้งคนได้และคนเสียในเวทีของการแบ่งเขต" นายณัฏฐ์ระบุ
    นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ยืนยันว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ไม่มีอะไรเคลื่อนไปจากที่กฎหมายกำหนด โดยในคำสั่งที่ 13/61 ระบุให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 ธ.ค. เช่นเดียวกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ที่ออกมาล่าสุด แต่ยอมรับว่าการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากปฏิทินของ กกต.ที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง มีสาเหตุมาจากเรื่องของสุขภาพที่ตนต้องไปผ่าตัดตา 
    ส่วนที่มีกระแสข่าวเรื่องใบสั่งจากผู้มีอำนาจให้เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งนั้น นายอิทธิพรปฏิเสธว่า ไม่คิดเช่นนั้น เพราะได้บอกแล้วว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้งฉบับที่ 13/61 และ 16/61 ล้วนกำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ไม่แตกต่างกัน โดยยืนยันได้ว่าจะไม่แบ่งเขตตามคำร้องขอของผู้มีอำนาจ 
    วันเดียวกัน นายอิทธิพรพร้อมด้วยนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย, นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ และนายปกรณ์ มหรรณพ กกต.ร่วมกันจับฉลากแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว โดยจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต จะมีผู้ตรวจการฯ  5 คน, จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต มีผู้ตรวจการฯ 6 คน, จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต มีผู้ตรวจการฯ 7 คน และจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 12 เขตขึ้นไป มีผู้ตรวจการฯ 8 คน สำหรับผู้ตรวจการฯ มีทั้งหมด 595 คน และผ่านการจับฉลากเพียง 413 คน
    นายอิทธิพรเปิดเผยว่า การจับฉลากครั้งนี้เป็นการแบ่งตามกลุ่มจังหวัด 10 กลุ่ม โดยจะมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 2 คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเป็นตัวหลัก ที่เหลืออาจจะ 3-5 คนจะมาจากผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันมาร่วมเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งทั้ง 413 รายชื่อจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันที่ 20 พ.ย. จากนั้นเมื่อ กกต.ให้ความเห็นชอบสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เลย 
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต.แถลงว่า กกต.มีมติกำหนดวันเลือกและรับสมัคร ส.ว.ตั้งแต่วันที่ 26-30 พ.ย. วันเลือกระดับอำเภอ 16 ธ.ค. วันเลือกระดับจังหวัด 22 ธ.ค. และวันเลือกระดับประเทศวันที่ 27 ธ.ค. จากนั้นจะมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และจะเปิดรับสมัครที่อำเภอและสำนักงานเขตทั้งผู้สมัครอิสระและผู้สมัครจากองค์กร โดยทั้งองค์กรที่ส่งผู้สมัครและผู้สมัครอิสระต้องเตรียมหลักฐานให้พร้อม จึงขอให้มาแต่เนิ่นๆ รวมถึงตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามให้ครบถ้วน และอย่าฮั้วกันหรือทำผิดกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายแล้วผู้สมัคร ส.ว.ไม่สามารถหาเสียงได้ 
    พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช.เปิดเผยภายหลังการประชุมสำนักเลขาธิการ คสช.ที่มีพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เลขาธิการ คสช.เป็นประธานว่า พล.อ.อภิรัชต์ระบุถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่  16/2561 ว่ามีบางส่วนนำไปขยายความให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  ทั้งที่คำสั่งดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้ กกต.มีเวลาในการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างเหมาะสมมากขึ้น เกิดความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน  โดยไม่มีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง
    ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทราบว่า กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงการลงนาม แต่มีคำสั่ง คสช.ออกมา จึงชัดเจนว่าต้องการแทรกแซงการแบ่งเขตของ กกต. ขอให้ กกต.ยึดมั่นว่าเป็นองค์กรอิสระ ขอให้ใช้อำนาจของตนเองตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติต่อไป โดยดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งไปตามปกติที่ทำไว้แล้ว แม้ คสช.จะขอให้ทบทวนแต่ก็ยังสามารถยืนยันไปเช่นเดิมได้ ไม่ต้องหวาดกลัว
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ คสช.เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง จะเป็นตัวบั่นทอนความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง จึงอยากให้ คสช.และรัฐบาลยึดระบบในประเทศระยะยาวเป็นหลัก มิเช่นนั้นประเทศไทยก็จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรความวุ่นวาย ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ กกต.แม้คำสั่ง คสช.ที่ออกมาเหมือนกับจะให้การคุ้มครองทุกอย่าง แต่ กกต.ต้องพิสูจน์ความเป็นอิสระและความเป็นมืออาชีพว่า การที่อยู่ดีๆ จงใจจะไปแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยกเว้นประชากรเปลี่ยนไปถึงจะมีการปรับ
    "ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราทราบ เพราะมีคนมาต่อรองกับอดีต ส.ส. พยายามเอาเรื่องนี้มาต่อรองว่าถ้าไปอยู่พรรคนั้นก็จะแบ่งเขตเลือกตั้งให้แบบนี้ ถ้าไม่อยู่ก็จะแบ่งเขตให้อีกแบบหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็สงสัยว่าอำนาจการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็นของ กกต. ทำไมถึงมีคนกล้าที่จะมาอ้างว่าสามารถที่จะเข้าไปมีอิทธิพลไปแทรกแซงได้ คำสั่ง คสช.ที่ออกมาหากการแบ่งเขตเป็นไปลักษณะที่ว่า จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งอย่างมาก ความจริงท่านก็มีความได้เปรียบในเรื่องอื่นๆ อยู่แล้ว ก็หลบเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในหลายเรื่องๆ อยู่แล้ว ถ้าท่านทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผู้เสียหายคือประเทศ  และจะถูกตั้งคำถามเป็นปัญหาเปล่าๆ" นายอภิสิทธิ์ระบุ
    นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐมีความได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น และเหมือนกับรู้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองอื่นไม่รู้ เพราะบอกว่ามีความชัดเจนเรื่องส่งผู้สมัครแล้ว ตอน กกต.รับฟังความเห็นเรื่องแบ่งเขตบอกว่ามี 3 แบบ แต่ตอนนี้ทราบว่าจะมีเขตเลือกตั้งแบบที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ออกมา ซึ่งสร้างปัญหาต่อการจัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอย่างมาก รู้ข้อมูลอยู่พรรคเดียว ซึ่งไม่ยุติธรรมกับพรรคการเมืองอื่น ทั้งนี้ในวันที่ 20 พ.ย. แกนนำของพรรคนัดหารือเพื่อพิจารณาต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและเตรียมนำเสนอไปยัง กกต. ในวงประชุมวันที่ 22 พ.ย. โดยจะถามให้ กกต.ตอบว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร และที่สำคัญคือวันที่ชัดเจนของการประกาศเขตเลือกตั้ง
    ที่สำนักงาน กกต. นายสาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี นำสมาชิกพร้อมรายชื่อผู้ก่อตั้ง  841 คน และทุนประเดิม 1 ล้าน 5 หมื่นบาทมายื่นขอจดจัดตั้งพรรค และยืนยันว่าจะร่วมกับพรรคการเมืองอื่นในนาม "สหพรรคการเมืองไทย" เพื่อยื่นหนังสือถึง กกต.ในวันที่ 22 พ.ย. ขอให้เลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 ก.พ.62 เป็นวันที่ 5 พ.ค.62 โดยมีพรรคและกลุ่มการเมืองร่วมลงชื่อแล้ว 13 พรรค. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"