'ซูจี' โดนริบอีกหนึ่งรางวัล กลุ่มสิทธิเกาหลีใต้ทวงคืน 'ควังจูไพรซ์'


เพิ่มเพื่อน    

มูลนิธิอนุสรณ์ 18 พฤษภา. ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ประกาศจะทวงคืนรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เคยมอบให้นางอองซาน ซูจี ตั้งแต่ปี 2547 สืบเนื่องจากผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัยรายนี้ไม่แยแสต่อความทารุณโหดร้ายที่กระทำต่อชาวโรฮีนจา

แฟ้มภาพ วันที่ 31 มกราคม 2556 นางอองซาน ซูจี รับรางวัลควังจูไพรซ์เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เมืองควังจูในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ / AFP

    รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันอังคารที่ 18 ธันวาคม 2561 กล่าวว่า มูลนิธิอนุสรณ์ 18 พฤษภาคม ได้มอบรางวัลควังจูนี้แก่นางซูจีเมื่อปี 2547 แต่ขณะที่ประกาศมอบรางวัลนั้น นางยังถูกรัฐบาลทหารเมียนมากักบริเวณที่บ้านของนางในนครย่างกุ้ง ทำให้นางไม่สามารถมารับรางวัลได้ แต่ท้ายที่สุดนางซูจีมารับมอบรางวัลนี้เมื่อปี 2556

    หลังจากนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และนางซูจีได้รับแต่งตั้งเป็นมนตรีแห่งรัฐ แต่ถือกันว่านางเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาโดยพฤตินัย

    เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายนี้เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ซึ่งทำให้นางได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนควังจูนี้ ทว่าการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่โดยกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา ทำให้นางซูจีโดนวิจารณ์อย่างรุนแรง ที่ไม่ออกมาปกป้องหรือแสดงความเห็นใจต่อชะตากรรมของชาวโรฮีนจา ซึ่งตามคำเตือนขององค์การสหประชาชาติระบุว่ายังคงตกเป็นเป้าหมายของการล้างเผ่าพันธุ์อยู่ต่อไป

แฟ้มภาพ วันที่ 31 มกราคม 2556 นางอองซาน ซูจี ขณะมาเยือนสุสานแห่งชาติวันที่ 18 พฤษภาคม ที่เมืองควังจู / AFP

    โช จินแต โฆษกของมูลนิธิกล่าวกับเอเอฟพีว่า ความเพิกเฉยของนางซูจีต่อการกระทำโหดร้ายทารุณต่อชาวโรฮีนจานั้นขัดต่อค่านิยมที่รางวัลควังจูยึดมั่น นั่นคือการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการของมูลนิธิจึงลงความเห็นกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ว่าจะทวงคืนรางวัลนี้จากนางซูจี

    มูลนิธิอนุสรณ์ 18 พฤษภาคม ก่อตั้งเมื่อปี 2537 เพื่อระลึกถึงการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองควังจูเมื่อปี 2523 ที่จบลงด้วยการที่กองทัพใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกปราบปรามอย่างนองเลือดจนมีคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากกว่า 200 คน การลุกฮือต่อต้านเผด็จการทหารชุน ดูฮวาน ในครั้งนั้นเป็นแรงกระตุ้นที่ปลุกให้ชาวเกาหลีใต้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อันนำไปสู่การรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้ได้ในเวลา 7 ปีหลังจากนั้น

    เมื่อเดือนพฤศจิกายน องค์การแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลก็เพิ่งเพิกถอนรางวัลรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึกของนางซูจี โดยอ้างเหตุผลที่นางไม่แยแสต่อความทารุณโหดร้ายที่กระทำต่อชาวโรฮีนจา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"