จาก 'ท้องถิ่น' สู่ 'ระดับชาติ' 'มันทำให้เราเข้าใจรากหญ้าดี'


เพิ่มเพื่อน    


    อยู่การเมือง “ระดับท้องถิ่น” มากว่า 20 ปี แต่ครั้งนี้ “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” ที่มี “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” ประธานหอการค้าสมุทรปราการ เป็นแกนนำ ตัดสินใจเข้าสู่การเมือง “ระดับชาติ” เพราะคิดว่าการพัฒนาจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วถ้าอยู่ในจุดนี้
    “ต่อศักดิ์ อัศวเหม” ทายาทตระกูลดังแห่งเมืองปากน้ำ อดีตรองนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังสดใหม่ในการเมืองระดับชาติ ขยายเหตุผลที่ตัดสินใจครั้งนี้ว่า ตนเคยมาช่วย “พี่เอ๋” ชนม์สวัสดิ์ ทำงานการเมืองท้องถิ่นเมื่อปี 2557 หลังญาติผู้พี่เห็นว่า จบทางด้านสถาปัตยกรรม มีความรู้เรื่องการออกแบบผังเมือง ตรงกับงานที่ต้องการ
    “ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังได้ติดสอยห้อยตามพี่เอ๋ไปพบผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน เอาโครงการต่างๆ ไปเสนอ เช่น กระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รถไฟฟ้าโมโนเรลที่จะเชื่อมต่อท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิมาที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งโครงการเหล่านี้ใช้งบประมาณเยอะ ลำพังตัวจังหวัดทำได้ แต่ต้องใช้เวลานาน จึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นสิ่งที่จะผลักดันให้โครงการมันเกิดขึ้นได้คือ การเข้าสู่การเมืองระดับชาติ เพราะหากเราได้รับการสนับสนุนโครงการเหล่านี้จากรัฐบาล จะทำให้พัฒนาโครงการต่างๆ ได้เร็วขึ้น นี่คือสิ่งที่พี่เอ๋ตัดสินใจแรกว่าเราควรจะขยับมายืนอยู่จุดนี้”
    “ต่อศักดิ์” ยังระบุอีกว่า การที่ทำงานการเมืองท้องถิ่นมาก่อนถือว่าได้เปรียบ เพราะการเมืองท้องถิ่นเป็นการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชน รับรู้และรับทราบปัญหาต่างๆ แบบรายวัน ทั้งเรื่องปากท้อง สุขภาพชุมชน สวัสดิการต่างๆ ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
    “ถ้ามองกันในภาพเล็กๆ เหมือนกับเราได้สัมผัสทุกแง่มุมและทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ถ้าถามว่ามันมีประโยชน์หรือไม่ว่าทำงานการเมืองท้องถิ่นแล้วขยับมาเล่นระดับชาตินั้น ผมคิดว่ามันมีมากกว่าที่เราคิด เพราะเราเข้าใจในปัญหาระดับเล็กๆ เรารู้ต้นเหตุปัญหาคืออะไร ถ้าอยู่ดีๆ ผมโดดไปเล่นการเมืองระดับชาติเลย ผมคงไม่เข้าใจปัญหาพวกนี้ เพราะปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาระดับรากหญ้า คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นแรงบวกให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น และทำงานได้ตรงเป้า และตรงประเด็นมากขึ้น”
    ทายาทตระกูลอัศวเหมรายนี้ยังเท้าความด้วยว่า แม้จะเข้าสู่การเมืองระดับชาติเป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้อ่อนประสบการณ์หากต้องเจอ “ขาประจำ” ในระดับชาติ
     “พวกเรามาจากการเมืองท้องถิ่นก็จริง แต่ถ้าดูกันให้ลึกซึ้งตระกูลอัศวเหมอยู่ในการเมืองมา 40 ปี นอกจากนี้ เรายังมีตระกูลกุลเจริญ มีลูกหลานของคุณอาสนิท (สนิท กุลเจริญ อดีต ส.ส.สมุทรปราการหลายสมัย) รวมไปถึงนายกรุง ศรีวิไล สุทินเผือก ถ้าจะบอกว่ากลุ่มเราไม่มีบุคลากรในระดับชาติคงไม่จริง พวกเราเข้าใจการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราหายไปจากการเมืองเลย เรายังยืนอยู่ในการเมืองตลอด ส่วนในระดับชาติข้างหน้าถ้าเราเข้าไปยืนอยู่แล้ว จะมีคนเก่าคนแก่ที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำ และโดยพื้นฐานของเราที่เกิดมาในตระกูลการเมือง เราพอที่จะมีความเข้าใจในการเมืองทุกๆ ด้าน”
    ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจซบ “พรรคพลังประชารัฐ” นั้น “ต่อศักดิ์” ชี้แจงว่า เพราะเป็นพรรคใหม่ ตลอดจนแนวทางและวิธีการดำเนินงานของพรรคเป็นเหมือนการบริหารประเทศให้ต่อเนื่อง
    "ส่วนกระแสนั้น ยอมรับในพื้นที่มันมีทั้งบวกและลบ บวกคือ ผลงานต่างๆ ความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้น รวมถึงนโยบายหลายนโยบายเข้าถึงคนระดับรากหญ้าจริงๆ การทำงานบนความสงบเรียบร้อย ทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ส่วนภาพลบที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ คนมักมองว่ามีเรื่องของ คสช.และทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมมองว่าวัตถุประสงค์ของ คสช.ที่เข้ามาดำเนินการงานในช่วงที่ผ่านมาก็เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง แล้วมันได้ผลจริงๆ เราปราศจากม็อบ ปราศจากความขัดแย้งมาเป็นเวลาพอสมควร ผู้คนได้กลับไปประกอบสัมมาอาชีพต่างๆ ได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นในช่วงระยะเวลาต่อไปหลังการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าความสงบเรียบร้อยมันน่าจะคงอยู่ และการบริหารประเทศ การทำความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มันเป็นเรื่องที่ต้องการมืออาชีพ ซึ่งมืออาชีพก็คือนักการเมืองที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา ตรงนี้หลังการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐน่าจะทำได้ทั้ง 2 เรื่อง เป็นพรรคที่มีความหวัง”
    “ต่อศักดิ์” ยังให้ทรรศนะเรื่องปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ถือเป็นความหวังของประชาชน เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาประเทศติดอยู่ในหล่มความขัดแย้ง และวัฒนธรรมเดิมๆ  
    “ที่ผ่านมามันเป็นการหาเสียงมาด้วยความขัดแย้ง มันเป็นวัฒนธรรมเก่าๆ ที่มันถูกสะสมมา คำตอบวันนี้ประชาชนมองข้ามอายุของนักการเมือง แต่หันไปมองที่คุณวุฒิของนักการเมืองมากกว่า จึงจะเห็นว่านักการเมืองเด็กๆ ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามากันมากมาย ตรงนี้มันคือกระแสสังคมที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องการอะไรใหม่ๆ นักการเมืองใหม่ๆ ผมเองเดินอยู่ในพื้นที่ คนเห็นผมยังทักว่า ดีใจที่ได้เห็นคนใหม่ๆ เข้ามาหา ได้เห็นวิสัยทัศน์ และได้พูดคุย ฉะนั้น กระแสรุ่นใหม่จึงเป็นความหวังของประเทศ รอให้คนพวกนี้เข้ามาทำงาน ซึ่งเรามีความพร้อม เพราะกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้ามีคนรุ่นใหม่อยู่จำนวนครึ่งต่อครึ่งจากทั้งหมด”
    ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ยังฝากให้คนสมุทรปราการไปเลือกตั้งกันมากๆ โดยคำนึง 2 ข้อ คือ ข้อแรก ไปใช้สิทธิ์ของตัวเอง และข้อสอง เมื่อใช้สิทธิ์แล้ว อยากให้ได้คิดถึง จ.สมุทรปราการ อยากให้ดูผลงานผู้สมัครก่อนเลือกตั้ง
    “อยากให้ดูผลงานที่ผ่านมาของพวกเรา เราจะชูเรื่องที่จะพัฒนา จ.สมุทรปราการ เราจะทำให้จังหวัดเราเป็นเมืองน่าอยู่ พี่น้องสมุทรปราการกินดีอยู่ดี นั่นคือเป้าหมายหลัก ส่วนเป้าหมายการบริหารประเทศ เรามีความเชื่อว่าถ้าเราทำบ้านเราให้ดี ให้น่าอยู่แล้ว ประเทศก็จะถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กัน”
    นอกจากนี้เขายังบอกว่า การเข้ามาในการเมืองระดับชาติของกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าครั้งนี้ที่อยู่กับการเมืองท้องถิ่นมาตลอด ยังจะเป็นตัวเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
    “ที่ผ่านมาคนที่เขาเคยยืนอยู่ในจุดนี้ไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับการเมืองท้องถิ่นเท่าที่ควร แต่ถ้าพวกเราได้เข้าไปเหมือนมันเป็นสายตรงกันทั้งหมด ฉะนั้น การทำงานไปในทิศทางเดียวกันผมเชื่อว่า จ.สมุทรปราการจะพัฒนาได้เร็วขึ้น มันจะเปลี่ยนโฉมจังหวัดเราให้เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ และมีสาธารณูปโภคที่ดี”
    ต้องรอดูกันว่า “กลุ่มปากน้ำ” หรือ “กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” ที่รีเทิร์นสู่การเมืองระดับชาติอีกครั้ง จะสามารถกลับมาประกาศศักดาได้หรือไม่.

การศึกษา : มัธยมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, ปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต, ปริญญาโท วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการออกแบบเมือง Brooklyn, New York USA

ประวัติการทำงาน : กรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นบริษัท แอด ออน อิงค์ จำกัด, รองนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ, รองประธานกรรมการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลนครสมุทรปราการ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"