หนุ่มสถาปัตย์จับฝุ่น PM 2.5 สร้างงานศิลปะ


เพิ่มเพื่อน    

ศิลปินรุ่นใหม่จับฝุ่นละอองมาสร้างงานศิลปะสื่อมลพิษอากาศ 
 

     ปัญหาฝุ่นพิษและมลภาวะทางอากาศที่อันตรายคร่าชีวิตของมนุษย์หากสะสมเป็นระยะเวลานาน ชัชพล ทองอยู่ หรือ "หมึก" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาภาพพิมพ์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จับฝุ่นพิษมาถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะภาพพิมพ์และรูปปั้นนูนต่ำชื่อ "ฝุ่นพิษ PM 2.5" โดยผลงานชิ้นนี้ส่งให้หมึก-ชัชพล ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 74 ศิลปินรุ่นใหม่ร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปี 2562 ที่ จ.กระบี่ เมื่อวันก่อน จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม หมายมั่นปั้นมือพัฒนาทักษะ ความรู้ เทคนิค วิธีการ รวมถึงแชร์ประสบการณ์การสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยให้กับศิลปินรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 

 

หมึก-ชัชพล เผยแรงบันดาลใจสร้างผลงานสื่อวิกฤตฝุ่นอันตราย

    ผลงานชิ้นแรก "ฝุ่นพิษ PM 2.5" หนุ่มวิจิตรศิลป์ผู้ตระหนักถึงปัญหามลพิษอากาศนำฝุ่นที่ลอยฟุ้งในกรุงเทพฯ มาสร้างงานศิลปะ ส่วนชิ้นที่สองชื่อ "PM 2.5 AQI" เก็บฝุ่นที่เมืองกระบี่ขณะร่วมค่ายพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่มาเสนอเรื่องราวมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ฝุ่นจากการก่อสร้างตึกอาคาร ฝุ่นดิน ฯลฯ สะท้อนอันตรายรูปแบบใหม่ที่ต้องร่วมกันแก้ไข  
    ชัชพล ทองอยู่ เผยแนวคิดว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่ล่องลอยมาตามลม เป็นมลพิษทางอากาศยากที่จะรับรู้ได้ตาเปล่าหรือการมองเห็น ซึ่งหากสูดดมเข้าไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลร้ายแรงแต่ด้านสุขภาพของคนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างพืช ที่เป็นแหล่งอาหาร มีการวิจัยรองรับในพื้นที่อุตสาหกรรมลาดกระบัง พบว่า เมล็ดพันธุ์หลายชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะอากาศที่ปกคลุมด้วยฝุ่นพิษแบบนี้ เพราะเมล็ดพืชและต้นไม้ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือย้ายออกจากปัญหาที่มนุษย์ทำไว้ได้ ต้องจำทนและรับผลกระทบ แต่ท้ายสุดผลร้ายก็ตกมาที่ผู้คนที่บริโภคพืชผักเหล่านี้ 
    " ผลงานชิ้นแรกผมเก็บฝุ่นละอองที่ตกลงสู่พื้นมาทำงานศิลปะให้ผู้ชมมองผ่านหยดน้ำ จะเห็นเบื้องหลังมีฝุ่นพิษ บรรยากาศดูขมุกขมัวเหมือนฝุ่นคลุม แล้วก็ทำภาพร่างเป็นเมล็ดพันธุ์ ผมเล่นกับความรู้สึกของคน คล้ายจุดด่างพร้อยที่เกิดขึ้น ตั้งใจให้ดูงานแล้วตั้งคำถาม เราจะรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นอันตรายไหวมั้ย รวมถึงรัฐจะปกป้องสุขภาพประชาชนอย่างไร" ศิลปินหนุ่ม เผย

 

ผลงาน "ฝุ่นพิษ PM 2.5" เทคนิคภาพพิมพ์และรูปปั้นนูนต่ำ
 


    ส่วนผลงานที่สอง ชัชพลกล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า ปัจจุบันมลพิษอากาศถึงขั้นวิกฤติ กลายเป็นปัญหาสำคัญ ลมยังพัดพาหมอกควันข้ามพรมแดน กระทบคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายประเทศ รวมถึงพืชที่เป็นแหล่งอาหารคนและสัตว์ ชิ้นนี้ร่างภาพเป็นต้นอ้อยที่ไม่สามารถเติบโตได้ ฝนกรดจากมลภาวะอากาศส่งผลให้การสังเคราะห์แสงของพืชทำได้ไม่เต็มที่ ทั้งหมดก็เป็นผลจากฝีมือมนุษย์ ทำกิจกรรมสร้างมลภาวะ เป็นความจริงที่วนเวียนไม่รู้จบสิ้น ทรัพยากรเหลือจำกัด แต่สิ่งแวดล้อมถูกทำลายทุกวัน     
    ศิลปะที่นำเสนอมลพิษอากาศ เกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะชวนให้ทุกคนช่วยรักษาโลก หมึก-ชัชพลกล่าวว่า อากาศคือสสารที่เป็นนามธรรม ทุกวันนี้อากาศที่เราใช้หายใจร่วมกันกลับกลายเป็นภัยร้ายที่เป็นรูปธรรมต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มลพิษอากาศเป็นสิ่งที่ยากต่อการมองเห็น และเป็นภัยใกล้ตัว ฝุ่นพิษคือตะกอนที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ สูดดมเข้าไปร่างกายก็ย่ำแย่ นอกจากนี้ เมื่อฝุ่นตกลงสู่พื้นสร้างภัยร้ายแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อม เมื่อฝุ่นพิษปนเปื้อนสู่สาธารณะจะฝังตัวเป็นสารตกค้างในแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งพืชพันธุ์อาหารของคน เมื่อบริโภคเข้าไปก็เป็นผลกรรมที่ผู้กระทำต้องรับผิดชอบต่อปัญหาและใส่ใจดูแลทรัพยากรธรรมชาติ   

 

ฝุ่งที่ฟุ้งกระจาย สร้างปัญหาสุขภาพ นำมาถ่ายทอดในผลงานศิลปะ
    

     หนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่ที่ร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพสร้างงานศิลปะ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมจะพัฒนาและสร้างงานศิลปะร่วมสมัย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของผู้คนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค้นหาพัฒนาเทคนิคที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้ดีที่สุด ทั้งนี้ อยากให้เพื่อนๆ ที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการของ สศร.ไปศึกษาดูงานศิลปะร่วมสมัยที่ประเทศญี่ปุ่น เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด ขณะที่ตนจะไม่ท้อถอย จะพัฒนาตัวเองก้าวสู่เส้นทางที่ตั้งใจไว้ รวมถึงนำคำแนะนำของศิลปินแห่งชาติที่ถ่ายทอดความรู้ในโครงการไปปรับใช้ให้ดีที่สุดด้วย

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"