จวกนโยบายขายฝัน ซัดกระทบวินัย‘เงิน-คลัง’‘มิ่ง’ผวา!เตี๋ยวชามละ100


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ส่งสารห่วงนโยบาย "ถลุงงบรัฐ" หาเสียง หวั่นกระทบวินัยการคลัง-การลงทุน ชี้ใช้เงินเยอะต้องแจงที่มาหางบประมาณให้ได้ "สมคิด" ขออย่าไปประชานิยมมากนัก "พปชร." เสียงแข็งไม่ได้ขายฝัน ลั่นทำได้จริงแต่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันทั้งระบบ "ชัชชาติ" ย้ำขึ้นค่าแรงรอเศรษฐกิจดี "มิ่งขวัญ" บอกคงต้องเตรียมใจกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาท "คสรท." เชื่อแค่การหาเสียง ระบุปรับจริงต้องฟังบอร์ดไตรภาคี

    เมื่อวันที่ 15 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งสารมีใจความว่า นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นถึงการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง กรณีการชูนโยบายว่าจะดำเนินการเรื่องใดๆ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมาก บางเรื่องก็อาจกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชน รวมถึงภาครัฐ เช่น ด้านการศึกษา สวัสดิการและการขึ้นค่าแรง จึงขอยืนยันว่าทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบ วิธีการ กฎหมายด้านงบประมาณ การเงิน การคลัง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับรายได้และสัดส่วนงบประมาณโดยรวมของรัฐ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีทางเดียวที่จะทำได้ตามที่หลายพรรคการเมืองหาเสียงกันไว้ คือรัฐต้องมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการเก็บภาษี ทั้งทางตรง ทางอ้อม กำไรและรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยให้มากขึ้น และหากงบประมาณไม่เพียงพอก็ต้องกู้เงิน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นด้วย
    "การขึ้นค่าแรงก็ต้องไม่กระทบต่อการลงทุน การย้ายฐาน การผลิต การลงทุน ในขณะที่เรากำลังเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐ เพิ่มงาน เพิ่มอาชีพ และเพิ่มการดูแลสวัสดิการให้กับประชาชนคนไทย ผมขอยืนยัน หากเรายังหารายได้ให้รัฐมากขึ้นไม่เพียงพอ ก็จะไม่สามารถทำตามนโยบายที่หลายพรรคการเมืองหาเสียงไว้ได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะเป็นใคร พรรคใด จะต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน อันได้แก่ หลักคุณธรรม ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า เราควรต้องได้นายกรัฐมนตรีแบบนี้ ที่มีธรรมาภิบาล บริหารราชการอยู่ในกฎระเบียบ กติกา กฎหมาย การดำเนินโครงการและงบประมาณจะต้องชี้แจงได้ว่าเราจะหางบประมาณมาจากไหน และอยู่ในวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูแลประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ" สารจากนายกฯ ระบุ
    เช่นเดียวกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ช่วงนี้มีการต่อสู้แข่งขันกันทางการเมือง จึงนำเสนอว่าใครมีนโยบายที่ดีกว่ากัน แต่ขอร้อง บางครั้งอย่าไปประชานิยมกันมากนัก ทุกอย่างต้องมีเหตุและผล ท้ายสุดทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีนโยบายอะไรในการบริหารราชการแผ่นดิน 
    "รัฐบาลอาจมาจากพรรคเดียวหรือหลายพรรค แต่ต้องเป็นความร่วมมือของแต่ละพรรคที่มาร่วมรัฐบาล และไม่มีรัฐบาลไหนทำทุกอย่างโดยไม่มีเหตุผล แต่เอาเป็นว่าวันนี้อย่าแข่งกัน เบิ้ลกันมากเกินไป สุดท้ายมันไม่มีประโยชน์ ขอให้ทำในสิ่งที่มีเหตุและผล ผมไม่ได้ว่าถ้าแต่ละพรรคจะเบิ้ล แต่อย่าเบิ้ลกันมากนัก การที่แต่ละพรรคแข่งกันนั้น เข้าใจเพื่อแย่งชิงฐานเสีย แต่สุดท้ายก็จะกลับมาอยู่ที่เดิม คือรัฐบาล นายกฯ และ ครม. ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมือง แต่ทำเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้" รองนายกฯ กล่าว
พปชร.ชี้ไม่ใช่ประชานิยม
    ขณะที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงชี้แจงกรณีนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดูแลผู้ใช้แรงงาน
    นายอุตตมกล่าวว่า พปชร.เสนอค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 400-425 บาท หรือวุฒิปริญญาตรี ประมาณ 20,000 บาท, อาชีวะอยู่ที่ 18,000 บาท ซึ่งทุกอย่างมีเหตุผล คือการปรับค่าแรงให้ทันกับค่าครองชีพ ที่ผ่านมาไม่ค่อยเกิดขึ้น โดยทำให้เหมาะสมกันได้ และไม่เกี่ยวกับเรื่องของเงินเฟ้อ ถ้าต้องการหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ก็ต้องช่วยกันและเสียสละกันระหว่างภาคเอกชนและผู้ใช้แรงงาน เพื่อเกื้อกูลให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรทางเศรษฐกิจ 
    "ยืนยันจะไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ ประเทศไทยต้องจริงจังกับการพัฒนาคน ซึ่งจะมีการตั้งกองทุนพัฒนาบุคลากรแรงงานของประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนโดยตรง และเพิ่มทักษะผู้ใช้แรงงาน ทั้งหมดต้องใช้เวลา จึงต้องเริ่มทำวันนี้ และการมียุทธศาสตร์แบบนี้ เชื่อว่านักลงทุนเข้าใจ เพราะมีขั้นตอน ไม่ได้อยู่ในโมเดลแบบเดิมๆ โดยระยะยาวจะเกิดประสิทธิภาพของภาคการผลิตและการบริการ" นายอุตตมกล่าว
    ถามถึงสารที่นายกฯ ออกมา หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า เชื่อว่าเป็นข้อห่วงใยของนายกฯ จึงมีสารออกมาเพื่อให้ระมัดระวังในการนำเสนอนโยบายที่จะมีผลต่อประเทศ ซึ่งท่านพูดในสิ่งที่เป็นหลักการที่ถูกต้องที่สุด ส่วนพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีหน้าที่เสนอนโยบายต่างๆ ที่จะไม่กระทบหรือสร้างผลเสียที่ติดตามมา     
    นายสนธิรัตน์ยืนยันว่า ไม่ใช่นโยบายประชานิยมเหมือนพรรคอื่น และพรรคทำได้จริง มีกระบวนการขับเคลื่อน เพียงแต่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันทั้งระบบ เพื่อยกระดับการแข่งขัน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อให้เท่าทันกับโลกของนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ถือเป็นนโยบายพรรคที่ใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ไม่ทำร้ายผู้ประกอบการ และเป็นประโยชน์เพื่อต้องการเปลี่ยนผ่าน 
    ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงนโยบายโค้งสุดท้ายของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท และเงินเดือนของเด็กจบใหม่วุฒิปริญญาตรี เป็น 20,000 บาท ว่าเรื่องนี้พรรค พท.กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตต้องมีการปรับขึ้น เพราะที่ผ่านมาปรับขึ้นไม่มาก โดยเราเคยปรับขึ้น 300 บาท ตั้งแต่ปี 2555 อย่าง กทม.ขึ้นประมาณ 325 บาท ถือว่าขึ้นเฉลี่ยปีละ 1% ซึ่งน้อยกว่าจีดีพีที่ขึ้นเฉลี่ย 3% แต่ขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี ต้องรอให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นก่อนจึงจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นได้ 
    "หัวใจหลักของรัฐบาลตอนนี้ไม่ใช่ขึ้นทันที แต่ต้องทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน เพราะจะทำให้ค่าแรงขึ้นตามไปด้วยได้ การขึ้นค่าแรงมี 2 มิติ คือทำให้ประชาชนได้เงินเยอะขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการผลักคนออกจากระบบ มีการจ้างงานน้อยลง ดังนั้นนโยบายของพรรคเรามีเป้าหมายเพิ่มค่าแรงถึง 400 บาท แต่ต้องขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาพเศรษฐกิจ" นายชัชชาติกล่าว 
    ถามว่า การแข่งขันกันโดยการนำเอาตัวเลขมาใช้ในการหาเสียง เปรียบเหมือนการใช้นโยบายเดิมๆ ในลักษณะเน้นประชานิยมกับประชารัฐหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องระวังเรื่องดังกล่าว อย่างกรณีการปรับค่าแรง ซึ่งเป็นภาระของภาคเอกชน รัฐบาลไม่ได้รับผิดชอบ และอาจส่งผลต่อความมั่นใจ ดังนั้นต้องพูดให้ชัดเจนว่าการเพิ่มค่าแรงจำนวนกว่า 400 บาทนี้จะขึ้นอย่างไร และจะขึ้นเมื่อใด หรือต้องรอเศรษฐกิจดีขึ้นก่อน 
    "พรรคเราชัดเจนอยู่แล้ว การจะปรับขึ้นค่าแรงต้องรอให้เศรษฐกิจดีก่อน ส่วนเงินที่ต้องใช้เงินของรัฐในการจ่ายลงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องระวัง เพราะเข้าใจว่าเงินจะหมดแล้ว" แคนดิเดตนายกฯ พรรค พท.กล่าว
คสรท.เชื่อแค่การหาเสียง
    ส่วนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 เป็น 425 บาท ถ้าทำอย่างนั้น ท่านเตรียมทานก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาทได้เลยเพราะจะเกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรงแล้วเราจะเหมือน เวเนซุเอลา อย่าทำเลยครับ"
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวเรื่องนี้ว่า การเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาทได้ถามนายจ้างแล้วหรือยังว่าไหวหรือเปล่า ไม่เชื่อไปฟังสิ่งที่นายมิ่งขวัญพูดว่าต่อไปจะได้กินก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาท ซึ่งอยากแนะนำให้ศึกษาและถามทุกฝ่ายให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่คิดอะไรมาฟังดูดีดูเพราะแล้วพูดออกไป หากทำไม่ได้คนพูดต้องรับผิดชอบ ส่วนเรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 2 หมื่นบาทนั้น ก็อาจมีคนกลุ่มหนึ่งได้ 2 หมื่นบาท แต่อีกสิบล้านคนตกงาน ซึ่งหากได้ก็ขอสรรเสริญ แต่พรรคไม่เลือกวิธีนั้น เราเลือกวิธียั่งยืน
    วันเดียวกัน นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของพรรค พปชร.ว่า ในอดีตพรรคเพื่อไทยเคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ แต่การปรับค่าจ้างขึ้นอยู่กับบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี มีตัวแทน 3 ฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล การจะดันค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไปสูงขนาดนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะส่งผลกระทบกับนายจ้าง และยังจะทำให้ราคาสินค้าปรับราคาขึ้นตามไปด้วย จึงไม่ควรพูดเรื่องปรับค่าจ้าง เพียงแค่หวังคะแนนเสียง หรือปรับค่าจ้าง เพราะเอาใจคนทำงาน เพราะสุดท้ายข้าวของแพงขึ้น ค่าจ้างที่สูงขึ้นก็ไม่มีประโยชน์ การปรับจึงต้องให้ค่าจ้างกับราคาสินค้าสอดคล้องกันถึงจะอยู่ได้ และต้องมีการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไป
    นายสมพรกล่าวว่า คสรท.และผู้ใช้แรงงานเคยขอให้ปรับที่ 360 บาท ขอมานานยังไม่ได้ การจะปรับพุ่งไปที่ 400-425 บาท จึงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ผู้ใช้แรงงานก็สนับสนุนให้ปรับค่าจ้างให้เพียงพอกับค่าครองชีพ เมื่อพูดแล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย ถ้าคนพูดหรือพรรคมีอำนาจในมือ ก็อาจจะให้ค่าจ้างสูงถึง 400 บาท เป็นจริงก็ได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งบอร์ดค่าจ้างไตรภาคีไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย หากบอร์ดฝ่ายลูกจ้างกับรัฐบาลเห็นไปทางเดียวกัน ใช้ 2 เสียงรุม 1 เสียง มันก็สามารถทำได้.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"