สงกรานต์ วิถีน้ำ วิถีไทย ชุ่มฉ่ำ 4 ภาค


เพิ่มเพื่อน    

(ก่อเจดีย์ทราย เป็นอีกกิจกรรมที่จะได้เห็นทุกแห่ง)

    อีกไม่กี่สัปดาห์ก็ใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว เป็นอีกหนึ่งเทศกาลความสุขที่คนไทยหลายๆ คนรอคอยที่จะได้กลับบ้าน ไปหาพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย คนในครอบครัว หรือออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากหยุดหลายวัน และไฮไลต์ของสงกรานต์ปีนี้หลายแห่งมีการประกาศความพร้อมจัดงานออกมาแล้ว และน่าสนใจจนอยากจะให้ถึงวันนั้นเร็วๆ
    โดยเฉพาะงาน “Water Festival 2019  เทศกาลวิถีน้ำ...วิถีไทย” ครั้งที่ 5 ที่มีหัวเรือใหญ่โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอีกหลายภาคส่วนร่วมมือกันจัดเต็มทั้ง 4 ภาค ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุดรธานี ภูเก็ต จัดภายใต้แนวคิด “อยู่เย็น เป็นสุข” พร้อมกับขานรับปีวัฒนธรรมแห่งอาเซียน โดยนำเสนอสงกรานต์แบบไทยๆ ขนเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรมไทยแต่ละภาคมาเพรียบ

(สระเกล้าดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ที่เชียงใหม่)

    ถ้าขึ้นเหนือ ‘จ.เชียงใหม่’ คือจังหวัดที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงอยู่แล้ว สงกรานต์เชียงใหม่เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีความสนุกสนานไม่แพ้กรุงเทพฯ และชาวต่างชาติก็มาเที่ยวสงกรานต์เชียงใหม่เยอะพอสมควร ปีนี้เขาเลยมีการนำเอาวัฒนธรรมล้านนามานำเสนอมากขึ้น โดยจัดงานภายใต้ชื่อ “สืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง” วันที่ 13-15 เม.ย. ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักงานศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจะมีการแบ่งงานออกเป็นโซนๆ ในโซนแรก เป็นโซนลานทรายข่วงหลวง จัดให้มีการสรงน้ำพระ แห่ไม้ค้ำเสรี แจกสรวยดอกสำหรับบูชาสิริมงคล และกิจกรรมที่เกี่ยวกับตุง ซึ่งก็คือธง ที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา สร้างกุศลให้กับตนเอง ทั้งยังใช้ในการสะเดาะเคราะห์ขจัดภัยต่างๆ ให้หมดสิ้น แล้วก็เชื่อกันอีกว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับตุง ไม่ว่าจะตัดตุงไส้หมู ปักตุงที่เจดีย์ทราย ตานตุงประจำราศีเกิด คือการเฉลิมฉลองศาสนสถาน ศาสนวัตถุ หรือสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ ส่วนตุงที่มีให้เห็นกันมากก็จะเป็นตุงไส้หมู และตุงราศี ซึ่งหน้าตาจะเป็นอย่างไรก็ไปหาชมได้ที่งาน เพราะมันคือศิลปะการตัดกระดาษของชาวล้านนา นอกจากนี้ก็มีโซนกาดหมั้วครัวฮอม โซนที่รวมอาหารพื้นเมืองหลากเมนู และอาหารมงคล พอได้ชิมอาหารโซนนี้แล้วก็ไปนั่งชมการแสดงดนตรีพื้นเมืองล้านนา แล้วในงานก็ยังมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ฉบับล้านนาที่เรียกว่า การสระเกล้าดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ สุดท้ายก็จะเป็นโซนกาดโบราณและสล่าเมือง แสดงหัตถกรรมพื้นบ้านล้านนาจากปราชญ์ชาวบ้าน พ่อแม่ครู สล่าเมือง ฯลฯ

(แห่สงกรานต์กับไทพวนที่อุดรธานี)

    จากเหนือก็ลงมาสู่อีสานปีนี้มีกิจกรรม “สงกรานต์ไทพวน บ้านเชียง” ณ วัดสระแก้ว และลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี ชาวอุดรฯ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงจะได้สัมผัสสงกรานต์และวัฒนธรรมแบบไทพวน ซึ่งไทพวนก็คือชื่อชาวไทยสาขาหนึ่ง มีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ในประเทศลาว ชาวอุดรฯ หลายคนเป็นไทพวน เขาเลยยกวัฒนธรรมไทพวนมานำเสนอให้คนได้รู้จักตลอดสองวัน คือ 13-14 เม.ย. มีการตักบาตรกับชาวไทพวน สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ไทพวนบ้านเชียง ขบวนแห่วัฒนธรรมไทพวนในบรรยากาศน่ารักๆ

(ยลวัฒนธรรมที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต)

    ส่วนที่ภาคใต้จัดเต็มไม่แพ้กัน ที่ถนนดีบุก เมืองเก่าภูเก็ต ในวันที่ 14-15 เม.ย. ใครอยากสัมผัสวัฒนธรรมแบบภูเก็ต ที่นี่รวมอัตลักษณ์เมืองเก่าภูเก็ตไว้ที่เดียว โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน แต่ละโซนเรียกตามภาษาถิ่น ไม่ว่าจะโซนกินดืย ที่หมายถึงกินดี แน่นอนว่าแค่ชื่อก็รู้แล้วว่าต้องเป็นเรื่องอาหาร จะรวมอาหารชื่อดังในตำนาน 40 ร้านค้าในภูเก็ต ต่อด้วยโซนบายใจได้ แรงอก กับการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป โซนแชะแชร์ ถ่ายภาพกับบ้านโบราณ ก็จะมีชุดประจำถิ่น บาบ๋า ญะญ๋า ให้เช่า โซนทำมืย (ทำมือ) ช็อปสินค้าทำมือ และเวิร์กช็อปกว่า 30 ร้านค้า และโซนอ้อรัก แดนซ์ฟลอร์ ลีลาศ และชมคอนเสิร์ตจากศิลปินดัง

(ชมเชิดสิงโตที่วัดวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร)

    แต่ถ้าหากว่าคนกรุงไม่อยากจะไปล่องเหนือ อีสาน ใต้ที่ไหน หรือไม่ใช่คนกรุงแต่อยากมาสัมผัสบรรยากาศสงกรานต์แบบภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ ก็จะมีการจัดกิจกรรมใหญ่ตาม 9 ท่าน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 13 ยันวันที่ 15 เม.ย.เลย ที่สำคัญยังมีการให้บริการฟรีล่องเรือด่วนเจ้าพระยาไปสนุกกับงานทั้ง 9 ท่าน้ำ ตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัน 4 ทุ่ม ซึ่ง 9 ท่าน้ำที่ว่านี้มีการจัดงานคล้ายกัน แต่ก็ยังมีการนำเสนอประเพณีวัฒนธรรมต่างกัน เริ่มตั้งแต่ท่าแรก ‘วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร’ มีการสรงน้ำพระประจำวันเกิด มีซุ้มรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีเวทีการแสดงทางวัฒนธรรม และกิจกรรมก่อพระเจดีย์ทราย ท่าที่สองคือ ‘วัดอรุณราชวรารามมหาวิหาร’ ไฮไลต์คือ กิจกรรมถวายราชสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นอกจากนี้ก็จะมีการสรงน้ำหลวงพ่ออรุณ แล้วยังมีซุ้มเวิร์กช็อปบุหงารำไป เครื่องหอมโบราณของสาวชาววัง และน้ำปรุงศาสตร์ เครื่องหอมชั้นสูงของไทย ส่วนท่าที่สาม ‘วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร’ จะมีการโชว์เล่นกีฬาพื้นเมืองไทยสมัยธนบุรีให้ดู ได้ยินมาว่าเป็นกีฬาฝึกหัดต่อสู้ในสมัยนั้น แต่ละชื่อปรากฏในหนังสือลิลิตเพชรมงกุฎ ได้แก่ ตีคลี การต่อสู้บนหลังม้า ชนช้าง มวยไทย มวยปล้ำ กระบี่กระบอง กายกรรม ลอดบ่วง แล้วยังมีการแสดงเชิดสิงโตเด็ก สิงโตผู้ใหญ่ ทำบุญให้อาหารนก อาหารปลา

(มหรสพแบบไทยๆ ในบรรยากาศงานวัด ที่เอเชียทีค)

    ท่าที่สี่ ‘วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร’ นอกจากสรงน้ำพระพุทธรูป ก็จะมีพิธีบังสุกุล มีร้านค้าต่างๆ มาเปิดร้าน มีเวิร์กช็อปหมูกระดาษ ผ้าขาวม้า สักการะหลวงพ่อพุทธนาคน้อย พระนาคปรก และถ้าได้ไปจะต้องไม่ลืมไปลอดอุโมงค์พระเจดีย์อันดับ 1 ของโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่วัดนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล แคล้วคลาด รอดปลอดภัย ต้อนรับปีหมู และจุดประทีปเทียนหอมอธิษฐานจิตขอพรจากพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกา ส่วนท่าที่ห้า ‘เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์’ ที่นี่จะจำลองเป็นงานวัดร่วมสมัยเก๋ไก๋ ส่วนไฮไลต์มีมหรสพแบบไทยๆ ทั้งการรำวงย้อนยุค สามช่า มวยทะเล ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน แล้วยังมีการจำลองตลาดน้ำย้อนยุคไปสู่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากยุคนั้นมีการขุดคลองรอบพระนครหลายแห่ง เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่และการค้าขาย จนกลายเป็นตลาดน้ำ แหล่งซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญๆ หลายพื้นที่ เช่น ย่านบางปะกอก ท่าเตียน คลองมหานาค คลองผดุงกรุงเกษม และตลาดน้ำวัดไทร ก็จะถูกนำมาจำลองไว้ในงาน
    ท่าที่หก ‘ท่ามหาราช’ ที่นี่จะมีความทันสมัยหน่อย หลักๆ คือ มีการจัดมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินดัง และท่าที่เจ็ด ‘ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ก’ เน้นการออกร้าน ส่วนท่าต่อมาคือ ‘ล้ง’ มีกิจกรรมรดน้ำดำหัว สรงน้ำพระเช่นกัน แล้วก็จะมีกิจกรรมรำกลองยาวร่วมสมัย รวมถึงสาธิตการทำขนม สานปลาตะเพียน ร้อยมาลัย และสถานที่สุดท้ายคือ ‘ไอคอนสยาม’ ก็จะมีวิถีสรงน้ำพระประจำท้องถิ่น 4 ภาค แต่ละภาคจะมีวิถีต่างกัน อย่างภาคเหนือสรงน้ำด้วยขมิ้นส้มป่อย ภาคกลางสรงน้ำด้วยดอกมะลิ ภาคอีสานสรงด้วยฮางฮด หรือรางพญานาค และภาคใต้สรงด้วยน้ำอบไทย แล้วก็จะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ วันที่ 13 เม.ย. โดยมีผู้สูงอายุมาจากบ้านบางแค และจะมีความสนุกอีกเพรียบ ทั้งชิงช้าสวรรค์ กิจกรรมตักไข่มหาโชค นุ่งโจมห่มสไบ แต่งชุดไทยถ่ายภาพ ชมการก่อเจดีย์ทราย และเกมอื่นๆ รวมทั้งยลโฉมสาวงามประกวดนางสงกรานต์เมืองสุขสยาม เสน่ห์ไทย และมีสินค้าอาร์ตๆ แนวๆ มาให้เลือกซื้ออีกด้วย
    กิจกรรมแต่ละแห่งที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่หยิบมาเล่าคร่าวๆ เท่านั้น สามารถติดตามความเคลื่อนไหว รายละเอียดกิจกรรมได้ที่ www.waterfestivalthailand.com และเฟซบุ๊ก Water Festival Thailand.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"