76จว.ทั่วไทย! พลีกรรมตักน้ำ บรมราชาภิเษก


เพิ่มเพื่อน    

 ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศไทยประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดทำน้ำอภิเษก เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร  

    เมื่อวันที่ 6 เมษายน ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดเพื่อทำน้ำอภิเษก เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อย่างพร้อมเพรียงกัน ในเวลา 11.52 น.  
    ที่วัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมืองหนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้นำข้าราชการและประชาชนทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในสระมุจลินทร์ หรือสระพญานาค หลังจากนั้นได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปที่วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมืองหนองคาย เพื่อรอประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษก ในวันที่ 8 เม.ย. และพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ในวันที่ 9 เม.ย. ก่อนจะได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 10 เม.ย.
     สำหรับสระมุจลินทร์ หรือสระพญานาค เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดหนองคาย อยู่ภายในวัดพระธาตุบังพวน ภายในสระมีรูปปั้นพญานาค 7 เศียร ไว้กลางสระ เป็นสระน้ำโบราณที่มีบันทึกไว้ในหนังสือใบลานไว้ที่ภูลวงแห่งนี้ แล้วได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ พระมหาเทพหลวงและพระมหาเทพพล พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุได้สังเกตเห็นน้ำพวยพุ่งออกมาเป็นสายตลอดเวลาจากปากปล่องภูพญานาค ที่เฝ้ารักษาองค์พระธาตุบังพวน จึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้ 
    ครั้นถึงสมัยพระเจ้าวิชุลราช กษัตริย์ล้านช้าง ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุ ช่วง พ.ศ.2043-2063 โปรดให้มีการปรับปรุงตกแต่งสระน้ำแห่งนี้ และนิมนต์พระคุณเจ้าจัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษก ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างเป็นต้นมา 
    ในสมัยต่อมา สมเด็จพระไชยเชษฐา พ.ศ.2093-2115 กษัตริย์ล้านช้าง ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก 9 เศียรไว้ในบริเวณใกล้เคียงด้วย น้ำจากสระมุจลินทร์แห่งนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเคยถูกนำเข้าพิธีสรงมูรธาภิเษก พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พิธีสำคัญในรัชกาลที่ 9 และพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ถวายถึง 4 ครั้ง โดยครั้งแรกงานพระราชพิธีครองราชสมบัติ ครบ 50 ปี, ครั้งที่ 2 งานพระราชพิธีครองราชสมบัติครบ 60 ปี, ครั้งที่ 3 งานพระราชพิธีเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และครั้งสุดท้ายงานพระราชพิธีเจริญพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์บาราย
    ที่บริเวณบ่อน้ำพระอินทร์ ในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานตักน้ำใส่ขันสาคร โดยมีนายนรวัฒน์ สวยงาม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม, พล.ต.ปราโมทย์ นาคจันทึก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (ผบ.มทบ.210), พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม (ผบก.ภ.จว.ฯ) เป็นผู้กว้านน้ำใส่ถังนำขึ้นมาจากบ่อ มีนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รอง ผวจ.นครพนม คนที่ 2 ใช้ขอดึงเชือกให้นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.นครพนม คนที่ 3 ส่งถังให้นายสยาม ผวจ.นครพนม ตักน้ำใส่ขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นขาว เชิญขึ้นเสลี่ยงแห่ไปยังพระอุโบสถที่อยู่บริเวณด้านหน้าองค์พระธาตุพนม
    ที่บริเวณมณฑลพิธีโดยรอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (บาราย) วัดกู่ประภาชัย บ.นาคำน้อย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานในการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามลำดับขั้นตอนการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ สำหรับใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    ผวจ.ขอนแก่นกล่าวว่า ในวันที่ 8 เม.ย. จะเป็นพิธีทำน้ำอภิเษก โดยพระสงฆ์ 30 รูปเจริญพระพุทธมนต์ น้อมเจริญจิตภาวนาอธิษฐานจิต และสวดภาณวาร ขณะที่ในวันที่ 9 เม.ย. จะเป็นการประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก และในวันที่ 10 เม.ย. จะเข้าสู่พิธีเชิญคนโทน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเวลา 06.00 น.   
    บริเวณบ่อน้ำโจ้ก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งเดียวของจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายความเคารพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นประธานประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บ่อน้ำโจ้ก อำเภอวารินชำราบ เพื่อนำไปประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีข้าราชการ ศาล อัยการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า และประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีแต่งกายด้วยชุดสุภาพโทนสีเหลือง เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ในโอกาสที่ได้ร่วมพิธีมหามงคลในครั้งนี้ จากนั้นพราหมณ์หรือบัณฑิตอ่านโองการบวงสรวงเพื่อบูชาเทพยดาเทพารักษ์ผู้ดูแลรักษาสถานที่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ และตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันน้ำสาคร เจ้าหน้าที่เชิญขันน้ำสาครและที่ตักน้ำขึ้นรถบุษบกแห่ขบวนไปยังสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อรอพิธีทำน้ำอภิเษก ในวันจันทร์ที่  8 เมษายน 2562 พร้อมกันทั่วประเทศ
บ่อน้ำโจ้ก
    บ่อน้ำโจ้ก อำเภอวารินชำราบ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดที่เคยใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปีพุทธศักราช 2542 และในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ส่วนสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกจังหวัดได้เลือกวัดสุปัฏนารามวรวิหาร โดยเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร แห่งแรกของจังหวัด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก และยังเคยใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
    ที่วัดกลาง (พระอารามหลวง) ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ สถานที่ตั้งของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่า ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้    
     โดยพิธีเริ่มจากการถวายความเคารพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การเปิดกรวยกระทงดอกไม้บวงสรวง จุดเทียนธูป การอ่านโองการบวงสรวง ประธานในพิธีอ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ การอัญเชิญขันสาครและที่ตักน้ำไปยังแหล่งศักดิ์สิทธิ์ การตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์
     จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นสู่ขบวนรถยนต์อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์มุ่งสู่พระอุโบสถ วัดกลาง (พระอารามหลวง) โดยมี พล.ต.รณกร ปานกุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26, พล.ต.ต.วีรพล เจริญศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์,  นายดำรงชัย เนรมิตตกพงศ์ นายกฤษฎา แก้วสองเมือง และนายพิจิตร บุญทัน รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวบุรีรัมย์ ทุกหมู่เหล่ามาร่วมพิธีในครั้งนี้ โดยเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และสมพระเกียรติ
    สำหรับสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เดิมชาวบ้านเรียกว่า “สระสิงโต” ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อกรุงเจ้าพระยาจักรี ซึ่งต่อมาได้เป็น (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ยกทัพมาตีเมืองจำปาศักดิ์ ทรงได้พักทัพที่บริเวณสระน้ำแห่งนี้ ในอดีตชาวเมืองอาศัยน้ำจากสระดังกล่าวสำหรับดื่มกิน และใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา โดยนำน้ำในสระไปทำพิธีดื่มกินในพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถในปัจจุบัน และเมื่อคราวที่ทางราชการได้จัดพระราชพิธีมหามงคลต่างๆ ก็จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระแห่งนี้ไปประกอบพิธี
    ในส่วนวัดกลางพระอารามหลวงดังกล่าว เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์มาแต่โบราณ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2329 มีประวัติเล่าสืบต่อกันว่า สมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปจัดระเบียบการปกครอง และได้หยุดพักทัพที่บริเวณนี้ ซึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในวัดกลางบุรีรัมย์ และทางราชการได้มีประกาศยกวัดกลางเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของบุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ.2533
ธารนารายณ์ 
    ที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 แห่งของจังหวัดจันทบุรี ได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จัดทำน้ำอภิเษกเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แหล่งแรกคือแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ธารนารายณ์ น้ำตกคลองนารายณ์บนเขาสระบาป ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองฯ นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานนำข้าราชการ ประชาชน ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชน จิตอาสา ร่วมพิธีจำนวนมาก โดยจิตอาสาและประชาชนที่มาร่วมพิธีกว่า 1,300 คน ได้ส่งต่อขันสาครจากยอดเขาระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความสมัครสมานสามัคคี 
    ทั้งนี้ ตามตำนานเล่ากันว่า ที่ได้ชื่อ ธารนารายณ์ ก็เพราะต้นธารน้ำไหลออกมาจากถ้ำ ซึ่งภายในถ้ำนั้นมีเทวรูปพระนารายณ์สถิตอยู่ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว ความจริงต้นของธารน้ำสายนี้จริงๆ คือ น้ำตกสระบาปที่สูงมาก และไหลพุ่งลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตรเศษ ลงอ่างเบื้องล่าง จากนั้นจึงไหลผ่านลงตามลาดเขาและมีอ่างขังน้ำที่อยู่ชั้นล่างโดยมีอ่างที่สำคัญแห่งหนึ่งเรียกว่า “อ่างหงส์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชเคยเสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ.2400 (จ.ศ.1219) และลงสรงน้ำในอ่างนี้กับโปรดให้สร้างเจดีย์และศาลาประทับพักร้อนไว้ด้วย พระราชทานชื่อเจดีย์ “จุลสีห์จุมภตเจดีย์”  
    เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อ พ.ศ.2419 ก็ได้เสด็จฯ ไปน้ำตกสระบาปและทรงสรงน้ำที่อ่างหงส์ น้ำในธารนี้ใช้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มาแต่สมัยใดไม่ทราบชัด
    แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สระแก้ว ตำบลเขาพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ นายพงษ์พัฒน์ วงษ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานนำข้าราชการ ประชาชน ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการจัดรูปขบวนเทวดานางฟ้าร่วมพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้ร่วมงาน 
    ตามตำนานกล่าวว่า น้ำที่สระแก้วอยู่ใกล้กับเขาสระแก้ว เมื่อกาลนานหลายชั่วอายุคนมาแล้ว มีผู้ที่พบสระน้ำแห่งหนึ่งอยู่ในป่าทึบปราศจากบ้านคน มีน้ำเต็มเปี่ยมและใสบริสุทธิ์ มองเห็นเป็นสีมรกต มีปลานานาชนิดอยู่ สามารถมองเห็นถนัด ปลาที่อยู่ในสระก็ปราศจากคนรบกวน ข้างสระมีต้นตาลใหม่งอกงาม เขียวชอุ่มอยู่เป็นนิจ ในสระปรากฏแสงสว่างเป็นวงเขียวคล้ายแก้วเป็นวงรอบสระ อีกประการหนึ่ง มีผู้พบเห็นแสงสว่างจากต้นตาล แล้วแสงสว่างนั้นสะท้อนลงในสระด้วยความสะอาดของน้ำในสระนั้น 
    ปี พ.ศ.2529 นายสุชาติ สงวนจิตร์ กำนันตำบลพลอยแหวน ในขณะนั้นเห็นว่าสระแก้วมีขนาดเล็กและตื้นเขินมาก จึงได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง เพื่อขอบูรณะสระแก้ว เนื่องจากว่านับตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ในพระราชพิธีมูรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรรวม 18 จังหวัด ที่ได้พลีกรรมนำมาประกอบพระราชพิธีฯ ปรากฏว่าน้ำที่ได้จากสระแก้ว ตำบลพลอยแหวนก็เป็นแห่งหนึ่งที่ได้นำเข้าพระราชพิธีฯ ด้วย จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ในการนี้ ได้มีผู้จิตศรัทธาร่วมบริจาคในการบูรณะสระแก้วเป็นเงิน 276,297 บาท โดยบูรณะให้มีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 7 เมตรในปัจจุบัน
แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดพลับ
    และแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดพลับ ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองฯ นายวิวัฒน์ มหาผลศิริกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานนำข้าราชการ ประชาชน ร่วมพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตามตำนานวัดนี้นามเดิมว่า “วัดสุวรรณติมพรุธาราม” แปลว่าอารามที่มีผลมะพลับทอง เนื่องจากมีต้นมะพลับสาขาใหญ่โต เมื่อเวลามีผลสุกสีเหลืองอร่ามเหมือนสีทอง อาศัยโคนต้นบำเพ็ญกุศลได้เป็นอย่างดี 
    ต่อมาประชาชนนิยมเรียกกันว่า “วัดพลับ” เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กองทัพของพระองค์ได้เสด็จฯ ผ่านทางวัดพลับ และพระองค์ได้ประทับแรมอยู่ที่วัดนี้ ก่อนที่จะยกทัพเข้าตีเมืองจันทบูร พระองค์และแม่ทัพนายกองตลอดจนพลทหารได้ทรงรับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์และรับถวายพระยอดธง ซึ่งทหารทุกนายได้รับแจกด้วย ส่วนพระยอดธงที่เหลือนอกนั้นได้นำไปบรรจุในเจดีย์ ต่อมาเจดีย์ได้แตกออก ปรากฏว่ามียอดธงเป็นจำนวนมากซึ่งมีอภินิหารป้องกันภัยจนมีคำพูดในหมู่นักเลงพระว่า พระยอดธงดีต้องพระยอดธงของวัดพลับบางกะจะ 
    หลังจากน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 แหล่งน้ำของจังหวัดจันทบุรี มาถึงที่วัดพลับบางกะจะ ได้มีการจัดรูปขบวนเพื่ออัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์เข้าสู่อุโบสถ โดยรูปขบวนมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประชาชน นักเรียน นักศึกษาและชาวบ้าน ร่วมพิธีจำนวนมาก ซึ่งแถวของขบวนเริ่มจากซุ้มประตูหน้าวัดตลอดเส้นทางของถนนที่จะเข้าสู่วัดพลับบางกะจะ รูปขบวนได้เดินผ่านเข้าทางซุ้มประตูวัดพลับบางกะจะ และผ่านเจดีย์สถาปัตยกรรมเก่าแก่ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าสู่อุโบสถวัดพลับบางกะจะเพื่ออัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 แหล่งของจังหวัดจันทบุรีเตรียมประกอบพิธีอภิเษกเจริญพระพุทธมนต์และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ในโอกาสต่อไป
    ส่วนพิธีเสกน้ำอภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 แหล่งน้ำของจังหวัดจันทบุรี กำหนดประกอบพิธีที่วัดพลับบางกะจะ จังหวัดจันทบุรีจึงขอเชิญชวนประชาชน พสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี ร่วมส่งขบวนอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ และร่วมพิธีอภิเษกเจริญพระพุทธมนต์ วันจันทร์ที่ 8 เมษายน และเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก วันอังคารที่ 9 เมษายน โดยพร้อมเพรียงกัน
     นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสมุทรปราการ ที่บริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ ก่อนที่จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ตักมาจากกลางแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นรถบุษบกที่ประดับด้วยดอกไม้นานาชนิดแห่ไปยังวัดพิชัยสงคราม ต.ปากย้ำ อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ เพื่อทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ภายในพระอุโบสถ ในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2562 และวันอังคารที่ 9 เมษายน 2562 เวลา 12.00 น. จะมีพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
องค์พระสมุทรเจดีย์ 
     สำหรับองค์พระสมุทรเจดีย์กลางน้ำนั้น เป็นปูชนียสถานและศูนย์รวมจิตใจของชาวสมุทรปราการ เดิมเป็นพระเจดีย์กลางน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาพื้นดินรอบเกาะตื้นเขินขึ้นมา กลายเป็นแผ่นดินผืนเดียวกับชายฝั่ง จึงกลายเป็นพระเจดีย์กลางน้ำอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้น และพระราชทานนามเพื่อเป็นศาสนสถานอันเป็นพระมหาเจดีย์คู่เมืองสมุทรปราการ น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านหน้าองค์พระสมุทรเจดีย์ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดที่ใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์เนื่องในพระราชพิธีสำคัญๆ และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ด้วย
    ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี,  นายเวทย์ พัฒนชัยวงษ์คูณ หัวหน้าศาลจังหวัดปทุมธานี, นายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี, นางดลวสา บุญเลิศ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปทุมธานี, นายผล ดำธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, นายชาธิป รุจนสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี, นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ปลัดจังหวัดปทุมธานี ทหาร ตำรวจ และหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งนี้ ก่อนเริ่มพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีนำหัวหน้าส่วนราชการเข้าอุโบสถวัดศาลเจ้า ร่วมพิธีสวดมนต์เพื่อรับศีลเพื่อทำความบริสุทธิ์จิตใจ ก่อนที่จะประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดปทุมธานี เพื่อประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บริเวณแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วัดศาลเจ้า อำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี
    โดยได้ประกอบพิธีตามขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ การถวายเครื่องราชสักการะพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10, การประกอบพิธีพราหมณ์บวงสรวงบูชาเทพยดา เทพาอารักษ์ที่ดูแลปกปักรักษาสถานที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์, การประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้ที่ตักน้ำทองเหลือง ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ในขันสาครทองเหลือง จำนวน 14 ครั้ง 
    เสร็จแล้วปิดฝาขันสาคร ห่อด้วยผ้าขาวผูกริบบิ้นขาว เชิญขันน้ำสาครจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นขบวนเรือ 10 ลำเคลื่อนออกจากกลางแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดศาลเจ้าแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เดินทางไปยังพระอุโบสถวัดชินวรารามวรวิหาร อำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปรอประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกในวันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2562 และการประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ในวันอังคารที่ 9 เมษายน 2562 ซึ่งทุกขั้นตอนจังหวัดปทุมธานีจัดอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ
    ดร.พินิจเล่าว่า สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดศาลเจ้า ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี ที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก  เชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าที่มีเจ้าพ่อนักรบถือทวนประดิษฐานอยู่ เชื่อเพราะว่า เมื่อก่อนนี้หน้าวัดศาลเจ้าในลำน้ำเจ้าพระยามีจระเข้ชุกชุมมากและทำร้ายผู้คนที่ผ่านไปมาเป็นประจำ 
เจ้าน้อยมหาพรหม
    เมื่อ "เจ้าน้อยมหาพรหม" เป็นบุตรเจ้าเมืองทางฝ่ายเหนือ เป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์ มีวิชาในการปราบจระเข้ได้มาพบเจ้าน้อยจึงใช้สมาธิร่ายเวทมนตร์จนจระเข้เชื่อง และเป็นสถานที่ประลองวิชาระหว่างเจ้าน้อยกับพระอาจารย์รุ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่วัดมะขามในหรือวัดมะขามน้อยใกล้ๆ วัดศาลเจ้า ซึ่งพระอาจารย์รุมีวิชาไสยศาสตร์เหนือกว่าเจ้าน้อย ทำให้เจ้าน้อยมหาพรหมเกิดความเคารพนับถือเลื่อมใสในตัวพระอาจารย์รุเป็นอย่างยิ่ง จึงรื้อแพที่ล่องมาสร้างกุฏิและศาลาการเปรียญให้กับวัดดังกล่าว 
    ดังนั้น จึงถือว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ เรือแพผู้คนผ่านหน้าวัดจะวักน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ลูบหัวเรือ ลูบหน้ารดหัวของตัวเอง เพราะถือว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดศาลเจ้านี้เปรียบประดุจน้ำมนต์
    จังหวัดภูเก็ต ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์  ณ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน นำหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการร่วมพิธี
    สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จังหวัดภูเก็ต วัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้น โดยพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือหลวงพ่อแช่ม อดีตเจ้าอาวาสรูปที่สอง มีลักษณะเป็นบ่อหิน ปากบ่อทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทุกด้านยาว 1 เมตร 60 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เมตร มีน้ำผุดขึ้นเองตามธรรมชาติและน้ำใสสะอาด จากอดีตจนถึงปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง เลื่อมใสศรัทธา 
    มีความเชื่อว่าน้ำในบ่อนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแก่ผู้ที่ได้ดื่มกินและสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่นำไปประพรมร่างกาย ซึ่งในปี 2554 ได้นำไปประกอบพิธีทำน้ำมนต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อพลีกรรมตักน้ำแล้ว จะนำไปประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ณ วิหารวัดพระทอง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
    ณ บริเวณท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชยศิริ ต.สมอพลือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นเวลาฤกษ์พิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษก ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีตักน้ำสรงมุรธาภิเษก (น้ำสรงรดพระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) และนายกอบชัย ผวจ.เพชรบุรี เป็นประธานในพิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษกจากแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 1 ในเบญจสุทธิคงคา
วัดแหลมบ่อท่อ 
     นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดแหลมบ่อท่อ ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา โดยมีคณะรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการพลเรือน นายอำเภอ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมในพิธี
    สำหรับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะใหญ่ ใกล้ที่วัดแหลมบ่อท่อ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ เพื่อทอดพระเนตรเกาะสี่ เกาะห้า แล้วเสด็จฯ กลับทางเรือ และมาขึ้นฝั่งที่บ้านแหลมบ่อท่อ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่นั้น ปรากฏว่าพระองค์มีพระอาการประชวร แต่เมื่อพระองค์ได้สรงสนานพระวรกายด้วยน้ำในบ่อท่อนั้นแล้วก็ทรงหายจากการประชวร ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านก็ถือกันว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีความเป็นสิริมงคล จึงใช้น้ำในบ่อนี้ในการประกอบพิธีมงคลต่างๆ บ้างก็นำมาใช้ในการรักษาการเจ็บป่วยจนถึงปัจจุบัน
    นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2530 กระทรวงมหาดไทย ได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ ไปร่วมพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542) และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 เวลา 15.49 น. กระทรวงมหาดไทยได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์วัดแหลมบ่อท่อ ไปร่วมพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา (5 ธันวาคม 2550) ซึ่งนำความปลื้มปีติแก่ชาวบ้านแหลมบ่อท่อและชาวบ้านใกล้เคียงอย่างหาที่สุดมิได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"