14ส.ค.ชี้ชะตาคดีเผาเมือง ‘ตู่’หวังเห็นความยุติธรรม!


เพิ่มเพื่อน    

 ศาลนัดชี้ชะตา 24 แกนนำ นปช.คดีก่อการร้าย 14 ส.ค. "ตู่-เต้น" เบิกความ ยันชุมนุมสงบไร้ความรุนแรง ปัดสั่งเผาเมือง อ้างคลิปตัดต่อ จตุพรเชื่อความยุติธรรมจะเกิดในรัชกาลที่ 10 ศาลสั่งรวมคดี "สุริยะใส-สุริยันต์" เข้าสำนวนหลักคดีกบฏ กปปส. 

    ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 26 เมษายน ศาลนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 71 ปี อดีตประธาน นปช., นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 54 ปี ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 44 ปี เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ อายุ 68 ปี, นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 54 ปี, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 61 ปี, นายอริสมันต์ หรือกี้ พงศ์เรืองรอง อายุ 55 ปี แกนนำ และแนวร่วม นปช. รวม 24 คน เป็นจำเลยที่ 1-24 
    ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, 135/2 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา ให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวม 6 ข้อหา กรณีพวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.ต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.2553 เพื่อกดดัน ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภา ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
    โดยแกนนำและแนวร่วม นปช.ส่วนใหญ่ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาลตามนัด นอกจากนี้ยังมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. ได้เดินทางมาให้กำลังใจด้วย โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า “มาสังเกตการณ์และประเมินสถานการณ์” ขณะที่เมื่อถึงเวลานัดพิจารณา นายจตุพรและนายณัฐวุฒิขึ้นเบิกความเป็นพยาน 2 ปากสุดท้ายต่อศาล ซึ่งทั้งสองได้ยื่นให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล พร้อมเบิกความตอบคำถามทนายความจำเลย    ประกอบด้วย     นายจตุพร จำเลยที่ 2 เบิกความสรุปได้ว่า นปช.เป็นการรวมกันของผู้มีอุดมการณ์การเมืองเดียวกัน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคที่มีเสียง ส.ส.ข้างมากมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่การรวมตัวของ นปช. แสดงจุดยืนมาตลอดว่ายึดสันติวิธี ปราศจากอาวุธ ขณะที่เหตุการณ์ช่วงหลังการชุมนุม เชื่อว่าเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ ไม่ใช่การกระทำเพื่อก่อการร้ายและไม่มีแนวคิดอุดมการณ์การเมืองอื่นใดแอบแฝงด้วย รวมทั้งไม่ได้กระทำการลักษณะบังคับขู่เข็ญรัฐบาล ไม่ได้กระทำลักษณะปกปิด ไม่มีความรุนแรง ผลจากสถานการณ์การสลายการชุมนุมช่วงปี 2552-2553 มีการยื่นไต่สวนชันสูตรศพทั้งในศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่ากระสุนที่ทำให้เสียชีวิตมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ 
    ส่วนพฤติการณ์ที่จำเลยถูกฟ้องว่าสั่งให้ประชาชนบุกไปยังศาลากลางจังหวัดต่างๆ วันที่ 3 เม.ย.2553 นั้น จำเลยไม่ได้ปราศรัยชักชวนให้ผู้ชุมนุมกระทำการใด ส่วนพยานโจทก์ปากเดียว คือเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ระบุว่าจำเลยสั่งให้เผาอาคารนั้น จำเลยไม่เคยปราศรัยดังกล่าว และพยานนั้นก็ไม่มีหลักฐานใดแสดงต่อศาล ขณะที่คดีกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมวางเพลิงเผาห้าง ศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องไป
ปัดสั่งเผาอ้างคลิปตัดต่อ
    ด้านนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 3 เบิกความสรุปได้ว่า นปช.มีอุดมการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตย ไม่นิยมใช้ความรุนแรง ส่วนที่มีกล่าวหาว่ามีคลิปจำเลยขึ้นปราศรัย ระบุให้ประชาชนเผาเลยจำเลยจะรับผิดชอบเองนั้น คลิปดังกล่าวเป็นการตัดต่อถ้อยคำช่วงเหตุการณ์คนละช่วงเวลากัน ซึ่งพยานโจทก์ปากนายถวิล เปลี่ยนศรี ก็ยอมรับว่าถ้อยคำนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ช่วงการประกาศชุมนุม นปช.ที่สะพานผ่านฟ้าฯ แต่เป็นช่วงการปราศรัยสัญจรของ นปช. ที่สนามกอล์ฟ เขาสอยดาว ใน จ.จันทบุรี ช่วงวันที่ 23 ม.ค.2553 ก่อนจะมีการชุมนุม นปช.ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ 
    โดยก่อนการร่วม นปช. จำเลยเคยจัดรายการทีวีสภาโจ๊กล้อเลียนการเมือง ก็มีคนติดตามจำเลย ซึ่งจำเลยมักจะกล่าวล้อเล่นการเมือง เรื่องนี้จำเลยได้แจ้งความไว้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อรวบรวมหลักฐานหาต้นตอคนตัดต่อคลิป โดยขณะนี้ยังดำเนินการอยู่ เชื่อว่าคลิปที่มีการตัดต่อเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของจำเลย และ นปช.ว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง 
     ภายหลังแกนนำ นปช.ทั้งสองเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความจำเลยได้แถลงว่า ยังติดใจที่จะสืบพยานในส่วนของนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์, นายนิธิ เอียวศรีวงศ์, นายสุรชาติ บำรุงสุข, น.ส.จารุพันธ์ กุลดิลก เพื่อนำสืบประเด็นสถานการณ์สังคมไทยช่วงดังกล่าว และกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ คือ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขณะเกิดเหตุ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศอฉ., กลุ่มเจรจาฝ่ายรัฐบาลกับ นปช. คือนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกฯ, พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว., ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่จะนำสืบประเด็นว่าสถานการณ์ช่วงนั้นเป็นการชุมนุมทางการเมือง
    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่นำมาผูกรวมพิจารณาเฉพาะคดีที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องเพียงข้อหาเดียว คือข้อหาร่วมกันเป็นผู้ก่อการร้ายเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาอื่นๆ นั้นเป็นเพียงองค์ประกอบของความผิดฐานเป็นผู้ก่อการร้าย โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษในแต่ละข้อหาที่เป็นองค์ประกอบของความผิดมาด้วยแต่อย่างใด มีเฉพาะนายยศวริศ จำเลยที่ 7 ที่ถูกฟ้องข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์อีกข้อหาหนึ่งเป็นคดีต่างหาก ซึ่งข้อเท็จจริงที่มีการสืบกันมานั้น ศาลเห็นว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีแล้ว อีกทั้งศาลได้ให้เวลาในการพิจารณาคดีมานานพอสมควร และได้ให้วันนัดสืบพยานจำเลยมาหลายนัดแล้ว แม้จะมีการสืบพยานต่อไป ก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่มีการสืบพยานมาแล้วเปลี่ยนแปลง จึงไม่อนุญาตให้กำหนดวันสืบพยานเพิ่มอีก
    ศาลจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่เหลือทั้งหมด แต่ศาลจะให้โอกาสแก่ฝ่ายจำเลยที่จะได้ทำคำแถลงปิดคดีเข้ามาภายใน 45 วันนับแต่วันนี้ หากไม่ยื่นถือว่าไม่ติดใจ และตามที่ทนายฝ่ายจำเลยคัดค้านคำสั่งศาลที่งดสืบพยานฝ่ายจำเลยที่เหลือดังกล่าวนั้น หากมีข้อเท็จจริงสิ่งใดเพิ่มเติม ให้จำเลยส่งประกอบคำแถลงปิดคดีเข้ามาได้ กำหนดวันฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. โดยให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีส่งศาลภายใน 45 วันนับจากวันนี้
    ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้ว นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทีมทนายความจำเลยได้ซักค้านพยานโจทก์อย่างเต็มที่ และให้ความร่วมมือในการพิจารณาคดีโดยตลอด ในคดีอาญานั้นศาลรับฟังพยานโจทก์เป็นสำคัญ ทนายจำเลยก็ไม่ละเลย ได้เสนอหลักฐานหักล้างโจทก์โดยตลอด โดยส่วนตัวเห็นว่าพยานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้หนักแน่น เชื่อมั่นว่า นปช.ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา เป็นไปภายในกรอบรัฐธรรมนูญ ส่วนการยื่นแถลงปิดคดีนั้น ได้หารือกันแล้วคงจะไม่ยื่นคำแถลงปิดคดีอีก
ความยุติธรรมเกิดใน ร.10
    ในช่วงเช้า ก่อนขึ้นเบิกความต่อศาล นายจตุพร ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาทุกคนมีเจตนาที่จะต่อสู้และยึดแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ไม่ยึดระบบอื่น ในขณะนั้นก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ดังนั้นเรื่องราวอื่นๆ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรกันหมดทุกคน และมีการซักถามตอบกลับเป็นจำนวนหลายครั้ง ตนมั่นใจในคดีนี้ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 นี้
    นายจตุพรยังกล่าวถึงบทบาทและท่าทีของ นปช. ว่า นปช.เปรียบเหมือนพวกทหารผ่านศึก ที่ยังต้องรักษาแผลบาดเจ็บจากการกระทำในการต่อสู้มาอย่างยาวนาน ที่มีการบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นภารกิจยึดแนวทางประชาธิปไตยก็ทำตามกรอบที่สามารถจะทำได้ เพราะมีภูมิต้านทานต่ำ และมีพื้นที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็คือทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทุกเรื่องได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างครบถ้วนอยู่แล้ว จึงไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไร ในฐานะที่ตนมีบาดแผลที่ยับเยิน จึงเป็นเหตุที่ว่าบางเวลาทำได้ บางเวลาทำไม่ได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด และมีอีกหลายคดีที่จะต้องสะสาง ซึ่งคงจะขึ้นศาลไปจนถึงวันตาย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน แกนนำและแนวร่วม นปช. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีได้ร่วมกันรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหารของศาล โดยนายจตุพรได้นั่งโต๊ะร่วมรับประทานอาหารกับนายวีระกานต์และกลุ่มแกนนำ นปช.ตามปกติ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จได้ร่วมกันถ่ายภาพหมู่หน้าศาล ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายวีระกานต์ถึงกระแสข่าวความขัดแย้งกับนายจตุพร โดยนายวีระกานต์ได้ปฏิเสธสั้นๆ ว่า "เป็นการยุแยงตะแคงรั่ว”
    ด้าน นพ.เหวง ปฏิเสธกระแสข่าวความขัดแย้งเช่นกัน ยืนยันว่า นปช.ยังดำรงอยู่ เพียงแต่คงต้องจัดประชุมปรึกษาหารือกันว่าบทบาทของ นปช.จะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป เรายังตั้งอยู่บนหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและสันติวิธี
    วันเดียวกัน ศาลนัดพร้อมคดีหมายเลขดำ อ.247/2561, และตรวจหลักฐานคดีหมายเลขดำ อ.491/2562, อ.719/2562 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกจำเลยรวม 31 คน ในความผิดฐานร่วมกันกบฏ, สนับสนุนกบฏ, ร่วมกันก่อการร้าย (ฟ้องเฉพาะนายสุเทพ กับนายชุมพล จุลใส อายุ 48 ปี ), ขัดขวางการเลือกตั้งฯ เมื่อปี 2557 กรณีกลุ่ม กปปส. ชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
    โดยศาลเบิกตัวนายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยซึ่งเป็นอดีตผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากเรือนจำมาศาล เป็นจำเลยในสำนวน อ.491/2562 และมีนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด จำเลยในสำนวน อ.719/2562 ซึ่งได้ประกันตัวสู้คดีเดินทางมาศาล 
    เมื่อถึงเวลานัด ปรากฏว่านายชุมสาย ศรียาภัย และนายมานพ เกตุมณี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2557 ได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ อ้างว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย โดยอัยการโจทก์ได้แถลงว่า ขอเวลาไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ นอกจากนี้ อัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอนำคดี อ.494/2562 และ อ.719/2562 ทั้งสองสำนวนรวมพิจารณาเข้ากับคดี อ.247/2561 นี้ เนื่องจากจำเลยร่วมกันกระทำความผิดคราวเดียวกัน ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะนำสืบชุดเดียวกัน 
    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ใช้สืบชุดเดียวกัน คู่ความกระทำความผิดคราวเดียวกัน หากรวมพิจารณาเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นการสะดวกรวดเร็วแก่คู่ความทุกฝ่าย จึงอนุญาตให้นำคดีทั้งสองสำนวนมารวมพิจารณาเข้ากับคดีนี้ เพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษา ให้เรียกนายสุริยะใส จำเลยคดี อ.491/2562 และนายสุริยันต์ จำเลยคดี อ.719/2562 ว่า จำเลยที่ 30 และ 31 ทั้งนี้ ศาลจะพิจารณาสั่งเรื่องโจทก์ร่วมในนัดหน้า ให้นัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ตามที่กำหนดไว้แล้ว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดี อ.247/2561 ที่นายสุเทพกับพวกเป็นจำเลยนั้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 14 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"