โดดลงมติแค่ 2 พันครั้ง!ปรีชาเหมาะสว.


เพิ่มเพื่อน    

  ส.ว.คึกคักตบเท้ารายงานตัวสองวัน  113 คน "บิ๊กตู่" ขอหยุดวิจารณ์ บอกทำงานมา 5 ปีรู้จักเป็นพี่น้องทุกคน ป้อง "ปรีชา" ผ่านสภาตรวจสอบแล้ว "ประวิตร" ชี้มีทหารเยอะแต่ผ่านงานออก กม.มาอื้อ "พรเพชร" รับสนใจนั่ง "ปธ.วุฒิฯ" โดดอุ้ม "น้องนายกฯ" แจงยิบมาประชุม สนช. 341 ครั้ง ลา 46 ครั้ง ขาดลงมติแค่กว่า 2,000 ครั้ง จาก 7,085 ครั้ง พร้อมระบุ กม.ไม่ห้ามกรรมการสรรหาเป็น ส.ว. "พท." ตามบี้เปิดชื่อ กก.สรรหาและงบประมาณ

    ที่อาคารสุขประพฤติ ชั้น 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดสถานที่รายงานตัวสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นวันที่ 2 ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายในแม่น้ำ 5 สาย อาทิ สปท., สนช. ในรัฐบาล คสช.ทยอยเดินทางมารายงานตัวอย่างต่อเนื่อง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะ ส.ว. เดินทางมาเป็นคนแรก จากนั้นสมาชิกทยอยมารายงานตัว อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ,  นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร, พล.อ.อู้ด เบื้องบน, นายพลเดช ปิ่นประทีป, นายชาญวิทย์ ผลชีวิน, พล.อ.ธงชัย สาระสุข, พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ, นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร, นายวันชัย สอนศิริ, นายเสรี สุวรรณภานนท์, พล.อ.นพดล อินทรปัญญา, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ และนายวิสุทธ์ ศรีสุพรรณ เป็นต้น
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่สอง มีสมาชิกเข้ารายงานตัวจำนวน 109 คน รวม 2 วัน รายงานตัวแล้วทั้งสิ้น 113 คน โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะเปิดรับรายงานตัว ส.ว. จนถึงวันที่ 17 พ.ค. ในเวลา 08.30-16.30 น.
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว.เป็นคนคุ้นเคยในรัฐบาลว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาแล้ว จำไว้นะ อะไรที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ที่ส่งมาแล้ว ที่มีพระราชวินิจฉัยมาแล้ว ทุกอย่างมีการตรวจสอบทั้งหมด
     "ทำไมคุณถึงไม่แยกแยะ การเมืองที่เข้ามาก็เห็นแต่คนเก่าๆ เข้ามาทั้งนั้น และทำไมคนพวกนี้ที่เป็นคนเก่าๆ ถึงเข้ามาทำงานไม่ได้ ในเมื่อเขาเข้ามาสานต่องาน ผมก็ต้องเลือกคนที่รู้งานมาส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด มีตั้ง 250 คน มีสักกี่คนที่เข้าไปไม่เกิน 1 ใน 2 อยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    ถามว่าคนเก่าเป็นพี่เป็นน้องคนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตอบสวนกลับทันทีว่า "เป็นไง มีใครไม่เป็นพี่เป็นน้องกันมั่งล่ะ มีใครไม่รู้จักผมบ้าง มีใครไม่รู้จักพี่ป้อม มีใครไม่รู้จักพี่ป๊อก ก็รู้จักกันทั้งหมดนั่นแหละ ทำงานมา 5 ปีไม่รู้จักกันเหรอ สื่อไม่รู้จักฉันเหรอ ก็รู้จัก สื่อก็คนเก่านะ" 
    นายกฯ กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ว่า ทำไม คุณก็รู้อยู่แล้วว่าใครเป็นประธาน การสรรหาตนไม่ได้เป็นคนทำ การสรรหามาไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาไปจิ้มว่าเอาคนนี้มา แต่ต้องมีการพิจารณาว่าใครสมัครใจ เมื่อเขาสมัครเข้ามา ก็คัดเลือกจากผู้ที่สมัครเข้ามา และมีคณะทำงาน รวมถึง คสช.ที่เข้ามาคัดกรองตรงนี้ ไม่ใช่ตนคนเดียว ก็ไม่ใช่อีก ให้เกียรติกันบ้าง เข้าใจไหม ตนไม่ได้ทำอะไรเสียหายสักอย่าง 
    ซักถึงเสียงวิจารณ์ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ไม่ค่อยเข้าร่วมประชุมในช่วงที่เป็น สนช. นายกฯ กล่าวว่า เขาบอกมาแล้ว เขาชี้แจงมาแล้ว ทางสภาก็ชี้แจงมาแล้ว ประธานสภาฯ ก็ชี้แจงมาแล้ว ทำไมยังไม่จบเสียที
    เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่มาจากอดีต สนช. และอดีต สปท.ที่เคยทำหน้าที่ออกกฎหมายมากว่า 200 ฉบับ ซึ่งเขาก็เข้ามาช่วยทำหน้าที่เหมือนเดิม ส่วนที่ใกล้ชิดตนมีเพียง 2-3 คนที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 6 (ตท.6) เช่น พล.อ.นพดล อินทรปัญญา, พล.อ.อู้ด เบื้องบน, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์, พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ก็มีเท่านี้ น้องชายตนก็มีอยู่คนเดียว 
    ถามถึง พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย อดีตรอง ผบ.ทสส. ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 อีกคน พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า “แล้วเขาเป็นลูกน้องใครล่ะ”
    พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ที่มองส่วนใหญ่เป็นทหารจำนวนมากนั้น ก็เขาเป็นทหาร จะให้ทำอย่างไรได้ ซึ่งเขาก็เคยทำงานและออกกฎหมายมามากมาย ถามว่าแล้วจะเป็นอะไรไป ส่วนที่ต้องทำหน้าที่โหวตชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ดำเนินการโหวตไปตามขั้นตอน และยึดพรรคที่มีเสียงข้างมาก 
    ซักว่า ส.ว.พร้อมโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ก็แล้วแต่เขา ตนเชื่อว่าเขาคงเลือกคนที่ดีที่สุด
'พรเพชร'ป้อง'ปรีชา'
    ส่วนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ส.ว. กล่าวถึงกรณีความพร้อมหากได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่า ทุกคนในนี้ก็พร้อมมีความเหมาะสมที่จะเป็น หากได้รับความไว้วางใจก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ สำหรับบทบาทหน้าที่ระหว่าง สนช.กับ ส.ว.มีความแตกต่างกัน ตอนเป็น สนช.มีหน้าที่เป็นสภาเดียว จึงพิจารณากฎหมายได้มาก แต่วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายให้รอบคอบ โดยเฉพาะครั้งนี้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 
    "ส.ว.ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ ประการสุดท้ายที่ฮือฮาคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลที่ได้รับความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ" นายพรเพชรกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากให้สัมภาษณ์จบ นายพรเพชรได้หยิบโพยกระดาษขึ้นมา โดยบอกว่ามีเรื่องหนึ่งที่อยากชี้แจง คือเรื่องของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. และน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการทำหน้าที่สมัยดำรงตำแหน่ง สนช. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดประชุมบ่อยครั้ง แต่ได้เป็น ส.ว. 
    "ขอชี้แจงในฐานะอดีตประธาน สนช. ซึ่งกระทบกับผมในฐานะเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของ พล.อ.ปรีชา ซึ่งจำนวนการประชุมของ สนช.ตั้งแต่ปี 2557- 2562 จำนวนทั้งสิ้น 387 ครั้ง พล.อ.ปรีชามาประชุมทั้งสิ้น 341 ครั้ง ลาประชุม 46 ครั้ง การลาประชุมของพล.อ.ปรีชา จะค่อนข้างมากในช่วงปี 2557-2559 แต่หลังจากนั้นมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คือลาประชุมน้อยมาก ส่วนการลงมติก็เช่นกัน สนช.มีการลงมติ 7,085 ครั้ง คงไม่มีใครลงมติครบทุกครั้ง ในส่วนของ พล.อ.ปรีชา ลงมติ 5,091 ครั้ง ขาดไปกว่า 2,000 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วง 3 ปีแรกที่ยังมีตำแหน่งในกองทัพ หลังจากพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ปรีชาก็มาลงมติเกือบเต็มจำนวน" นายพรเพชรกล่าว
    ถามว่า การลงมติแบบนี้แสดงถึงความไม่พร้อมในการทำหน้าที่หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ขอย้ำว่าการขาดลงมติเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ พล.อ.ปรีชา ดำรงตำแหน่งในกองทัพอยู่ หลังจากนั้นท่านลงมติไม่ขาดเลย หลังจากนั้น พล.อ.ปรีชามีพัฒนาการที่ดีขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้หยิบยกในที่นี้ ซึ่งก็ไม่ได้ลาเป็น 80-90 เปอร์เซ็นต์ และ 3 ปีหลังพล.อ.ปรีชาก็มาประชุมตลอด และเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศ ก็ขอชี้แจงให้ทราบเพื่อความเป็นธรรม
    เมื่อถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนของที่มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว.บางส่วนได้เข้ามานั่งใน ส.ว.ชุดนี้ นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นเรื่องของกระบวนการ ที่ผ่านมาเคยเป็นคณะกรรมการสรรหาในชุดต่างๆ มาแล้วหลายชุด ตามปกติแล้วการสรรหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งหาเกี่ยวข้องกับตัวเรา บุคคลนั้นก็ต้องออกจากที่ประชุมในการสรรหา ถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติอยู่แล้ว อีกทั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีการระบุว่าคณะกรรมการสรรหาจะมาเป็น ส.ว.ไม่ได้
    ซักถึงความเหมาะสมในกรณีที่มีญาติพี่น้องของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาเป็น ส.ว.ด้วย นายพรเพชรกล่าวว่า ตามกฎหมายห้ามไว้เฉพาะบุตรและบุพการีที่ถือว่าเป็นสายตรง ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ไป อย่าให้ต้องพูดเลย ไม่ขอตอบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน ส.ว.หลายคนต่างออกมายืนยันการทำหน้าที่ โดย พล.อ.นพดล อินทรปัญญา ส.ว. กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกฯ นั้น ตนก็มีสมอง สามารถพิจารณาเองได้ เพราะรู้ว่าใครดีหรือไม่ดี 
    นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า เวลาคนจะพิจารณาคัดเลือกคนนั้น ไม่ว่าจะตอบแทนหรือไม่ตอบแทนอะไรก็แล้วแต่ มีความรู้ความสามารถหรือเปล่า แต่ถ้าตอบแทนแล้วเป็นคนที่ไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถ แบบนี้ก็น่าวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าตอบแทนแล้วเป็นคนที่มีความรู้ มีความสามารถ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะคนทำงานนั้นก็จะต้องเอาคนในลักษณะที่รู้ใจ และทำงานไปด้วยกันได้
จี้เปิดชื่อ กก.สรรหา สว.
    ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงรายชื่อ ส.ว.ทั้ง 250 คนว่า ไม่ขอวิจารณ์ เพราะยังไม่ทำงาน แต่ 100 ละ 101 เปอร์เซ็นต์ เข้ามาง่ายๆ ก็เป็น ส.ว.ไปเลย จะได้ไปยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ 
    "นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างกฎหมายมาแบบนี้ก็ต้องไปช่วยกันด่านายมีชัยให้นอนไม่หลับ 250 ส.ว.จะเป็นจุดแข็งของรัฐบาล แต่จะเป็นจุดอ่อนของประเทศชาติ หากไม่คิดถึงประเทศชาติก็เป็นไปเถอะ อยู่ได้ก็ทุลักทุเล เป็นเหมือนผีหัวขาด หลอกใครใครก็ไม่กลัว คณะกรรมการสรรหาตัวเองมาเป็น ส.ว. ยิ่งไม่สง่างาม น่าเอือมระอา" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
    ถามว่า ส.ว.ควรพิจารณาตัวเองหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า เราไปให้คำแนะนำได้หรือ เพราะแต่ละคนตัวสั่นอยากเข้าสภา เอาปืนไปจี้ยังไม่ออกเลย ก็อยู่กันไปเถอะพ่อคุณ
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังไม่อยากไปตั้งฉายา ส.ว.ชุดนี้ แต่คนที่จะให้ฉายา ส.ว. ชุดนี้คือประชาชน ดังนั้นอยากให้ประชาชนช่วยกันดูช่วยกันตรวจสอบ ที่เราตั้งคำถามไปคือคณะกรรมการสรรหาที่เข้ามาคัดเลือก ส.ว. ที่ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นกลาง หรือเป็นใครเข้ามาคัดเลือก ส.ว. ได้อย่างไร ยิ่งปกปิดยิ่งจะทำให้คนไม่สบายใจเพราะมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านคัดสรรตัวเองเข้ามาเป็น ส.ว. ถ้าไม่จริงก็แจกแจงรายชื่อคณะกรรมการคัดสรรออกมา 
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า พรรคสอบถามไปยัง กกต.หาความชัดเจนว่ากรรมการสรรหา ส.ว.ที่รัฐธรรมนูญบอกให้ตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์ด้านต่างๆ มีความเป็นกลางทางการเมือง 9-12 คน มีใครบ้าง ไม่มีคำตอบ ผู้มีอำนาจบอกเปิดเผยไม่ได้ กลัวว่าจะมีการวิ่งเต้น ไล่ให้ไปถามเลขาธิการ คสช.ว่ากรรมการสรรหามีใครบ้าง สรรหามา 400 คน เพื่อให้คสช.เลือก 194 คน มีใครบ้าง เราบอกสรรหาไม่ชอบ แต่ไม่มีคำตอบ รู้จากสื่อเพียงประธานสรรหาเป็นพล.อ.ประวิตร และกรรมการสรรหาก็เป็น คสช.ส่วนใหญ่ แต่เห็น คสช.หลายคนที่เป็นกรรมการสรรหา มาเป็น ส.ว.แล้วไม่เรียกว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือ 
    ต่อมานางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเทอดธนัท สีเขียว คนรุ่นใหม่ เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย เดินทางมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงนายกฯ และ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. เพื่อขอให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทุกคน กระบวนการสรรหาและงบประมาณในการสรรหาสมาชิก ส.ว. 
    นางลดาวัลลิ์กล่าวว่า เราต้องการทราบรายชื่อคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภา ขอให้ คสช.เปิดเผยรายชื่อ กระบวนการสรรหาทุกขั้นตอน รวมถึงงบประมาณในการใช้จ่ายที่ใช้สรรหา เพราะจากการที่ได้ทราบจากสื่อมวลชนเสนอว่าใช้ไปกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งที่เมื่อได้เห็นรายชื่อวุฒิสภาแล้วคิดว่า 300 ถึง 400 ล้านบาทก็เกินพอแล้ว. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"