ใช้พรบ.ไซเบอร์ ค้นยึดคอมพ์ได้ ฝ่าฝืนจำคุก-ปรับ


เพิ่มเพื่อน    

 โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ไซเบอร์มีผลบังคับใช้แล้ว เปิดช่องเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานประกอบการ ยึดอายัดคอมพิวเตอร์ได้เท่าที่จำเป็น ห้าม จนท.เปิดเผยข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ฝ่าฝืนจำคุก 3 ปี  ปรับไม่เกิน 6 หมื่น ขณะที่ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง "กกม." โดยไม่มีเหตุอันสมควรจำคุกไม่เกิน 3  ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท

    เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีทั้งหมด 83 มาตรา 
    สำหรับเนื้อหาที่สำคัญ มีอาทิ มาตรา 5 ให้มี "คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ" เรียกโดยย่อว่า "กมช." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "National Cyber Security  Committee" เรียกโดยย่อว่า "NCSC" ประกอบด้วย (1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ (2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว.กลาโหม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการเงิน หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง  
    มาตรา 9 คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เสนอนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ส่งเสริมและสนับสนุน การดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ กำหนดนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เป็นต้น
    มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกโดยย่อว่า "กกม."  ประกอบด้วย (1) รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานฯ (2) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่  ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสี่คน 
    มาตรา 13 กกม. มีหน้าที่และอำนาจ ติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนตามมาตรา 9  ดูแลและดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการเผชิญเหตุและนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ กำหนดประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อันเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำในการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  เป็นต้น 
    มาตรา 61 เมื่อปรากฏแก่ กกม.ว่าเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงให้ กกม.ออกคำสั่งให้สำนักงานดำเนินการรวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และเข้าร่วมในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการหาแนวทางตอบโต้หรือการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฯ
    มาตรา 62 เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้เลขาธิการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังนี้ (1) มีหนังสือขอความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อมาให้ข้อมูลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และตามสถานที่ที่กำหนด หรือให้ข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (2) มีหนังสือขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูลหรือเอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการ (3) สอบถามบุคคลผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวพัน (4) เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องหรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น
    มาตรา 65 ในการรับมือและบรรเทาความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กกม. มีอำนาจออกคำสั่ง ดังนี้ 1) เฝ้าระวังคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง (2) ตรวจสอบคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อบกพร่องที่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (3) ดำเนินมาตรการแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อจัดการข้อบกพร่องหรือกำจัดชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ หรือระงับบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ดำเนินการอยู่ (4) รักษาสถานะของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการใดๆ เพื่อดำเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ (5) เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง
    มาตรา 66 ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กกม.มีอำนาจปฏิบัติการหรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ดังนี้ (1) เข้าตรวจสอบสถานที่ โดยมีหนังสือแจ้งถึงเหตุอันสมควรไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครอง สถานที่เพื่อเข้าตรวจสอบสถานที่นั้น (2)  เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ทำสำเนา หรือสกัดคัดกรองข้อมูลสารสนเทศหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (3) ทดสอบการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้อง หรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (4) ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็น
    มาตรา 70 ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูล คอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ได้มาตาม พ.ร.บ.นี้ให้แก่บุคคลใด ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
    มาตรา 71 พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลของผู้ใช้บริการหรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    มาตรา 72 ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลของผู้ใช้บริการ
หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตาม พ.ร.บ.นี้ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจาทั้งปรับ 
    มาตรา 73 หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศใดไม่รายงานเหตุภัยคุกคาม
ทางไซเบอร์ ตามมาตรา 57 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
    มาตรา 74 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ส่งข้อมูลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 62 (1) หรือ (2) โดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
    มาตรา 75 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกม.ตามมาตรา 65 (1) และ (2) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ กกม.ออกคำสั่งให้ปฏิบัติจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกม. ตามมาตรา 65 (3) และ (4) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามมาตรา 65 (5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    มาตรา 76 ผู้ใดขัดขวาง หรือไม่ปฏิบัติตามคาสั่งของ กกม. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการตามคำสั่งของ กกม. ตามมาตรา 66 (1) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามมาตรา 66 (2)(3) หรือ (4)  โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"