ชิงกระทรวงเกษตร! พปชร.-ปชป.แบ่งชามข้าวไม่ลง/หึ่งเข็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” ลั่นรื้อรัฐธรรมนูญทำได้   เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป แต่ต้องแยกกับประเด็นจัดตั้งรัฐบาล เผยนายกฯ ต้องมีหน้าที่ดูรายชื่อ ครม.  ฟิตทำท่าชกมวยบอกพร้อมลุยเวทีสภา “ประชาธิป่วน” ไม่เลิก อ้างไม่พอใจท่าที “บิ๊กตู่” และ พปชร.ที่ไม่ให้คำตอบที่แน่ชัด สั่งเลื่อนเคาะมติร่วม-ไม่ร่วมรัฐนาวาออกไปไร้กำหนด แฉที่แท้ 2 พรรคต่อรองเก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่ลงตัว ด้าน “ชทพ.” งอนชามข้าวถูกแย่ง ขู่พร้อมไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ 7 พรรคยังมึนไม่สะเด็ดน้ำส่งใครชิงเก้าอี้ผู้นำ

เมื่อวันอังคาร ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ ให้ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เป็น ส.ส. หลังตรวจสอบแล้วไม่มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และประกาศให้นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม พ้นจากการเป็น ส.ส. โดยรับรองให้ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งผู้ที่ได้รับการประกาศรับรองเป็น ส.ส.ใหม่ สามารถเข้ารับหนังสือรับรองจา ก กกต.ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงถือว่าขณะนี้มี ส.ส.ครบ 500 คนแล้ว ซึ่ง ส.ส.ใหม่ทั้ง 3 คนสามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้หลังการปฏิญาณตน
นายแสวงยังชี้แจงถึงข้อสังเกตว่าพรรค อนค.ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเกือบ 8 หมื่นคะแนน แต่ทำไมไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มเติม ว่าการจัดสรรเป็นไปตามกฎหมาย ที่ได้นำคะแนนดิบของเขต 8 ไปรวมกับคะแนนดิบเดิมทั้งประเทศแล้วนำมาคำนวณใหม่ เมื่อมีคะแนนใหม่มาเติม จึงทำให้ได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น ส่วนพรรคไทรักธรรมที่พ้นสภาพก็แพ้ไปแค่ 0.33 เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคะแนนมีค่า
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเสนอทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาว่า ทำไปตามระเบียบ และได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว 
    ต่อมาภายหลังประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังไม่พูดถึงการตั้ง ครม.ชุดใหม่ เพราะขั้นตอนต่อไปคือการเลือกนายกฯ ซึ่งใครจะได้เป็นก็เป็นเรื่องของสภา ส่วนกรณีที่พรรค ปชป.ยื่นเงื่อนไขขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในการร่วมกับพรรค พปชร.จัดตั้งรัฐบาลนั้น คิดว่าไม่ใช่การตั้งเงื่อนไขกับตนเอง แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่ต้องดำเนินการต่อไป เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็ต้องแก้ไขกฎหมายบ้าง ก็ต้องไปว่ากัน เรื่องนี้ต้องแยกประเด็นกับการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะเราทุกคนต้องทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพพอสมควร อย่าลืมว่าประเทศชาติต้องมาก่อนเสมอ ทุกคนต้องปรับตัวเองกันบ้าง
    เมื่อถามถึงการประชุมสภาที่ผ่านมา รวมถึงกระแสข่าวการต่อรองตำแหน่ง มองเห็นความวุ่นวายทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า แล้วสื่อมวลชนมองเห็นความวุ่นวายหรือไม่ ไม่ต้องมาถาม ถ้าสื่อเห็นว่ามันวุ่น ก็ว่าวุ่น หากเห็นว่าไม่วุ่น ก็เห็นว่าไม่วุ่น เรื่องเหล่านี้มันอยู่ที่คน
    เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรค พปชร.จะช่วยต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ ที่ยังไม่ลงตัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ต้องหารือกันต่อไป ปัญหานี้เป็นเรื่องของนายกฯ คนต่อไป ซึ่งทุกพรรคต้องมาพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหา ว่าจะหาทางออกอย่างไร ส่วนตัวเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่เราจะทำให้การเมืองดีขึ้นอย่างไร เพราะการปฏิรูปการเมืองขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง มิเช่นนั้นทุกอย่างจะกลับไปที่เก่า จึงขอเวลาหน่อยก็แล้วกัน
    “การประชุมสภาทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาคิดว่ายังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นบรรยากาศแบบสภาไทย สภาไทยเป็นแบบนี้มั้ง ผมไม่ได้กลุ้มใจอะไรกับบรรยากาศที่เกิดขึ้น เพราะผมยังไม่ได้ไปอยู่กับพวกเขา วันนี้มี 2 อย่าง คือ 1.จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าให้ได้ เพื่อสืบสานงานต่อ ส่วนข้อ 2 ให้กลับไปดูเหตุผลข้อที่ 1 ขอสื่ออย่าซักมาก เพราะเดี๋ยวผมจะพลาด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่า สมมุติว่าได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องสมมุติ เพราะยังไม่รู้เลย คิดว่าการเป็นนายกฯ ต้องถือกฎหมายทุกตัว ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ทั้งนี้ หากได้เป็นนายกฯ อีก ก็ต้องดูว่าจะทำงานได้หรือไม่ ทุกคนต้องเคารพกติการ่วมกัน โดยเฉพาะกติกาทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองต้องเคารพกติกาและกฎหมาย มิเช่นนั้นเมื่อเกิดปัญหา นายกฯ ก็โดนด้วย
ขอดูรายชื่อ ครม.
    ถามว่าจะมีส่วนพิจารณาตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องดูเอง รอให้แต่ละพรรคเขาเสนอเข้ามา แล้วค่อยไปประชุมร่วมกัน ส่วนที่พรรค พปชร.ให้อำนาจในการตัดสินใจว่าจะให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ร่วมใน ครม.ชุดใหม่ด้วยหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังไม่รู้เรื่องนี้ ขออย่าเพิ่งยกชื่อกันมาเลย เพราะคนที่จะเป็นนายกฯ ต้องดูรายชื่อของแต่ละพรรคที่เสนอมา จากนั้นจึงพูดคุยกับพรรคร่วมว่าเห็นชอบด้วยกันหรือไม่ ถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่งไม่เห็นด้วยแล้วจะไปกันได้อย่างไร
    ถามอีกว่าหน้าตาของพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ คิดว่าเอาอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ทำท่าชกมวย พร้อมกล่าวว่า ถ้าอยู่ก็ต้องให้ไหว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา การทำงานในสภาไม่ใช่ศึก ทำไมต้องบอกว่าเป็นศึก ต้องมองว่าสภามีไว้เพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของสภา แต่การที่เถียงกันไปมาเป็นบทบาททางการเมืองเท่านั้น ก็ว่ากันไป ส่วนจะสู้ไหวหรือไม่ก็ไม่รู้
    ส่วน พล.อ.ประวิตรปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาล โดยกล่าวสั้นๆ ว่า “โอ๊ย ไม่มี ไม่คุย ไม่เกี่ยว” และเมื่อถามได้แสดงความดีใจกับ น.ส.จิตภัสร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.ในฐานะหลานสาวหรือยัง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่ได้เจอ ไม่ได้คุย” 
    สำหรับความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. กล่าวว่า หลังจากนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. พร้อมแกนนำพรรคเดินทางไปส่งเทียบเชิญพรรค ปชป. และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เมื่อวันที่ 27 พ.ค.เป็นการเชิญมาร่วมรัฐบาลเท่านั้น ยังไม่ได้หารือหรือต่อรองเกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างที่มีข่าวออกมา จากนี้ต้องให้เกียรติกับทั้ง 2 พรรคในการตัดสินใจด้วย ส่วนเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น จะมีการหารือกันในลำดับต่อไป ซึ่งทุกอย่างยังมีเวลา แต่เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะทุกฝ่ายยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
    ส่วนนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป.กล่าวถึงการพูดคุยระหว่างแกนนำพรรค พปชร.กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. ว่าไม่มีประเด็นเรื่องร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล แต่เป็นการพูดคุยถึงหลักทำงาน ซึ่ง ปชป.แจ้งไปว่า 1.พรรคจะยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้งภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.จะยึดนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนที่ต้องขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่มีการต่อรองทางการเมือง 
    และเมื่อเวลา 17.00 น. มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค ปชป.และ ส.ส.พรรครวม 81 คน ที่อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งก่อนการประชุม นายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ถืองูเห่าสีเขียวปลอม พร้อมป้ายคัดค้านไม่ต้องการให้พรรค ปชป.ไปร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. 

ปชป.เลื่อนประชุม!!!

ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าคณะ กก.บห.และแกนนำพรรคได้ติดตามการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะในประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงถึงการขอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคในการร่วมรัฐบาลกับ พปชร.ว่าไม่ใช่เงื่อนไขกับการโหวตเลือกนายกฯ รวมถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่าจะขอเป็นคนตรวจรายชื่อ ครม.ที่จะร่วมรัฐบาลในอนาคตด้วยตนเอง เป็นเหตุให้การประชุมล่าช้ากว่า 1 ชั่วโมง และเริ่มประชุมได้เมื่อเวลา 18.10 น. โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจาก กก.บห.พรรคให้ไปประสานเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอเลื่อนการประชุมร่วมของพรรคออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เป็นเหตุให้ ส.ส.หลายคนที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุต่างสอบถามถึงที่มาที่ไปของการเลื่อนดังกล่าว 

ขณะที่กลุ่ม กก.บห.และ ส.ส.หลายคนต่างเห็นพ้องว่า หาก พปชร.ไม่มีเอกภาพ และไม่รักษาคำพูด บิดพลิ้วข้อตกลง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นหลักและเป็นมติของพรรค ก็คงร่วมงานกันไม่ได้ เช่นเดียวกับการเสียมารยาททางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถือวิสาสะทุบโต๊ะขอตรวจรายชื่อของพรรคการเมืองต่างๆ 

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวถึงการเลื่อนประชุมว่า เป็นปัญหาภายในของพรรค พปชร. ไม่เกี่ยวกับพรรค เพราะ พปชร.ไม่มีความชัดเจนในตัวเอง ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงไม่สามารถให้คำตอบกับเงื่อนไขที่พรรคเสนอได้ แต่ที่ไม่สบายใจที่สุดคือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่าจะมีส่วนร่วมในการคัดตัวรัฐมนตรีจากพรรคต่างๆ ซึ่งคิดว่าเป็นก้าวก่าย ครอบงำ ชี้นำพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนี้ รวมถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เงื่อนไขการร่วมรัฐบาล 
“เราจึงมีมติให้เลขาธิการพรรคไปประสานงานพูดคุยกับแกนนำ พปชร. หากจะให้ ปชป.ร่วมรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย จะให้พวกผมเข้าใจว่าอย่างไร แสดงว่าเขากำลังปฏิเสธข้อเสนอของพรรคทั้งหมดใช่หรือไม่ จึงอยากให้ประชาชนจับตามองว่าเกมต่อไปของการจัดตั้งรัฐบาลขั้ว พปชร.จะเป็นอย่างไรต่อไป ความผิดทั้งหมดไม่ใช่ของ ปชป. แต่เป็นของแกนนำตั้งรัฐบาลที่มีปัญหาภายในพรรคตัวเอง” นายเทพไทกล่าวย้ำ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวสั้นๆ ว่า ไม่ทราบว่าเลื่อนการประชุมไปเป็นเมื่อไหร่ รอกรรมการบริหารพรรค

นายราเมศแถลงว่า หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคมีคำสั่งเลื่อนประชุมออกไป เนื่องจากหลังที่ พปชร.ขอเชิญ ปชป.ร่วมทำงาน และคุยหลักการทำงานร่วมกันไว้ ซึ่งพรรคก็รอคำตอบชัดเจนจาก พปชร.แต่เมื่อถึงเวลา 17.00 น. พปชร.ไม่ได้ให้คำตอบมาว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร ไม่ได้เกี่ยวกับโควตากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ตกลงกันไม่ลงตัว และหากจะเลือกนายกฯ ล่าช้า ก็คงต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ เพราะไม่ได้เกิดจาก ปชป. ทั้งนี้ พรรคได้แจ้งรายละเอียดไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าไม่มีการแจ้งกลับมาก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ถ้ามีการติดต่อกลับมาก็ค่อยว่ากันอีกทีในวันที่ 29 พ.ค. ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรให้ พปชร.เป็นฝ่ายพูด รวมทั้งเสถียรภาพในการตั้งรัฐบาล 
เมื่อถามว่า หาก พปชร.ยังไม่มีการติดต่อกลับมาก่อนการเลือกนายกฯ พรรคพร้อมเป็นฝ่ายค้านอิสระหรือไม่ นายราเมศตอบว่า กระบวนการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจน และพรรคได้เริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่ทำหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติอยู่แล้ว และหลังจากนี้จะทำหน้าที่ เช่น ตั้งกระทู้ถามหรือออกกฎหมาย ตามกระบวนการนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็เป็นหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายมาในการทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งพรรคเคยทำหน้าที่เหล่านี้มาทั้งหมด
    มีรายงานว่า สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้การประชุมปชป.ต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากปัญหาโควตา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่เดิมเป็นของ ปชป. โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาฯ ปชป. จะนั่งในตำแหน่งดังกล่าว แต่ พปชร.เห็นว่าไม่เหมาะสม จึงขอโควตาคืนจาก ปชป. แลก รมว.ศึกษาฯ แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก็ยอมรับว่าปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้คือโควตา รมว.เกษตร ฯ จริง นอกจากนี้มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ส่งรายชื่อโควตา รมต.ตำแหน่งละ 3 คนด้วย เพื่อให้นายกฯ พิจารณาเลือก  
    มีรายงานด้วยว่า อย่างไรก็ตามหากเจรจาไม่ได้ พปชร.ก็พร้อมที่จะเดินหน้าโหวตนายกฯ โดยอาศัยเสียงจาก ส.ว. 250 เสียง รวมกับกลุ่มพรรคการเมืองที่มี ส.ส.พรรคละ 1 คน 10 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน, พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 คน, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน, พรรคประชาชนปฏิรูป 1 คน, พรรคชาติพัฒนา 3 คน, พรรคภูมิใจไทย 51 คน ก็จะได้เสียงเกิน 375 เสียง
        นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีมติว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.และเลื่อนการประชุมไม่มีกำหนด เนื่องจากเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะขอเป็นคนตรวจรายชื่อ ครม.ที่จะร่วมรัฐบาลในอนาคตด้วยตัวเองก่อนว่า ต้องให้เวลากับพรรคประชาธิปัตย์พูดคุยกันภายในก่อน โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างความเข้าใจถึงการทำงาน และการที่พรรค พปชร.จะเสนอรายชื่อ ครม.ให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาในรายละเอียด เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำในการสร้างผลงานของทุกพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงกับประชาชนไว้ และพรรค พปชร.เข้าใจว่าเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพูดคุยเรื่องของการจะเข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ยังไม่ลงตัว 
    “การทาบทามเชิญเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการเพิ่งผ่านพ้นไป เวลา 24 ชั่วโมง อาจจะเร็วเกินไปในการที่จะตัดสินใจ พรรค พปชร.รอได้ เพราะในที่สุด เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีคำตอบและเข้าใจในการทำงานในรูปแบบที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่าง ไม่เหมือนที่ผ่านมา เวลานี้ยังคงมีการพูดคุยของบรรดาแกนนำพรรค พปชร.กับพรรคที่จะร่วมทำงานอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี อย่าเพิ่งมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะล้มหรือไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นและยังมีเวลาเดินหน้าจัดรัฐบาลต่อไป”
        นายณัฏฐพลกล่าวว่า ส่วนการที่พรรค พปชร.ยังไม่ได้ไปเชิญพรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการเหมือนพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยนั้น เมื่อถึงเวลาก็คงจะมีการทาบทามอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกัน และขณะนี้ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามการพูดคุยก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าเมื่อการประสานพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลได้ข้อยุติทุกอย่าง แกนนำของพรรค พปชร.จะนำเรื่องแจ้งให้กับที่ประชุมกรรมการบริหารของพรรคได้รับทราบถึงผลการพูดคุยทั้งหมดต่อไป
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะแกนนำพรรค ชทพ. กล่าวถึงความชัดเจนในการเข้าร่วมรัฐบาล หลังมีความเห็นกลับไปกลับมาว่า อย่าเพิ่งงง แต่ขอให้กลับไปดูในเนื้อหาคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งระบุว่าหลังจากได้หารือกับ ส.ส.พรรคแล้วมีความเห็นตรงกัน จะลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ ไปในทิศทางเดียวกันกับพรรค พปชร. ขอย้ำว่าเป็นการเลือกประธานสภาฯ เพราะได้เห็นชอบกับชื่อของนายชวน หลีกภัย และในช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ หัวหน้าพรรคก็ตอบเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ว่าเรื่องนี้พรรคยังไม่พูดถึง 
ชทพ.เดือดถูกแย่งเก้าอี้
“เราไม่เคยพูดอย่างทำอย่าง ไม่เคยที่วันนี้พูดอย่างหนึ่ง แล้วพรุ่งนี้พูดอีกอย่างหนึ่ง เราพูดชัดเจนมาโดยตลอด แต่ผู้ที่ได้รับฟังข่าวอาจคิดไปต่างๆ นานาว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เลยกลายเป็นหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสาม ยืนยันว่าสิ่งที่เราพูดเราทำเป็นไปตามที่พูดและทำทุกอย่าง” นายวราวุธกล่าว
    เมื่อถามว่าในทางการเมืองแล้วเมื่อมีมติโหวตเลือกประธานสภากับพรรค พปชร. ย่อมหมายความว่าจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน นายวราวุธกล่าวว่า ในสถานการณ์การเมืองปกติก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่วันนี้การทำงานการเมืองมีอะไรหลายอย่างแปลกไป ไม่เหมือนในอดีตที่โตมา เพราะมีน้อยมากที่ประธานสภาฯ ไม่ได้มาจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการถึงการจัดตั้งรัฐบาลนั้น เราได้ยื่นคำเสนอไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำสนองนั้น มาจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับกลับมา ต้องดูเหตุการณ์กันต่อไปว่าสิ่งที่เราเสนอไปนั้นจะได้รับการตอบรับอย่างไร 
“เราเป็นพรรคขนาดเล็ก มีแค่ 10 ที่นั่ง เสียงไม่ได้ดังมากมาย เรียกว่าเราเจียมเนื้อเจียมตัว หากเข้าไปทำงานแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนให้กับประเทศชาติได้ เราก็ไม่เดือดร้อนที่จะเป็นรัฐบาล เราเป็นมาทุกสถานะแล้ว สิ่งหนึ่งที่เรายังไม่เคยเป็นคือฝ่ายกลางเหมือนที่นายนิกร จำนง ผอ.พรรคได้กล่าวไป” นายวราวุธกล่าว
    เมื่อถามย้ำว่า ฝ่ายกลางนั้นเปรียบเสมือนฝ่ายค้านอิสระใช่หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า อารมณ์ประมาณนั้น เพราะถ้าทำงานแล้วไม่เกิดประโยชน์ เราก็ไม่เดือดร้อน 
    มีรายงานข่าวแจ้งว่า แกนนำ ชทพ.ต่างรู้สึกว่าจนถึงขณะนี้พรรค พปชร.ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องโควตารัฐมนตรีของพรรค ขณะที่พรรค ปชป.กับ ภท.ได้กระทรวงใหญ่ แต่ของพรรค ชทพ.กลับมีข่าวว่าผู้ใหญ่นอกพรรค พปชร.จะเอาโควตาเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะให้กับพรรคไปให้กับนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.แล้วเปลี่ยนเอาเก้าอี้ รมว.การพัฒนาสังคมฯ มาให้แทน ทำให้แกนนำพรรคไม่พอใจอย่างมาก และอาจตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายใด
    ส่วนที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงกระแสข่าว 7 พรรคการเมืองเตรียมเสนอชื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ชิงตำแหน่งนายกฯ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของทั้ง 7 พรรคว่าจะเสนอบุคคลใด หากดูตามข้อกฎหมาย มีเพียงแค่พรรค พท. และ อนค.ที่สามารถเสนอบุคคลชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ เพราะมี ส.ส.ในพรรคอย่างน้อย 25 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ที่เป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ตามเงื่อนไขไม่สามารถเสนอรายชื่อได้ ส่วนกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะเสนอชิงตำแหน่งไม่ได้นั้น ในแง่ข้อกฎหมายกำลังศึกษาอยู่ แต่เท่าที่ดูคุณสมบัติไม่น่ามีปัญหา นายธนาธรยังคงเป็นผู้แทนราษฎรอยู่ เรื่องดังกล่าวยังคงต้องนำไปพิจารณาหารือร่วมกันทั้ง 7 พรรคให้รอบด้านก่อน
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้พรรคจะเรียกประชุม ส.ส. เพื่อเตรียมพร้อมในวันโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งจะมีการตั้งวิปชั่วคราวเพื่อซักซ้อมความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งการลงคะแนน การรักษาเวลา การอยู่ในที่ประชุม จะมีการกำชับเพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อม 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย
    รายงานข่าวจาก พท.แจ้งถึงสาเหตุที่พรรคเตรียมยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ ขอให้เก็บบัตรลงคะแนนเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ เอาไว้ตรวจสอบว่าเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่ต้องกระทำโดยลับหรือไม่ รวมทั้งต้องการนำมาตรวจสอบกรณีงูเห่าด้วย เพื่อจะได้มาวางมาตรการอื่นป้องกันในอนาคตในสภาวะที่เสียง ส.ส.ปริ่มน้ำกันทั้งสองขั้ว
    ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า หากพบว่ามี ส.ส.ของพรรคคนใดเป็นงูเห่า จะขอยุติบทบาทในพรรค และลาออกจากการเป็นสมาชิกทันที เพราะรู้สึกละอายและรับไม่ได้กับการกระทำเช่นนี้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"