ปชป.โหวตประยุทธ์ มติ61:16ร่วมพปชร./มาร์คกล่อมไม่อยู่/บิ๊กตู่จ่อนายกสมัย2


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” หวังได้รัฐบาลเสียงข้างมากบริหารประเทศ แนะมองโลกในแง่ดีวันโหวตนายกฯ เตือนผู้ทรงเกียรติอย่าทำเหมือนอดีต อภิปรายไม่ไว้วางใจไว้โอกาสหน้า “พปชร.” จัด 20 ส.ส.ทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่ พร้อมประสาน 15 ส.ว.ร่วมทีมตอบโต้ เชื่อฝ่ายตรงข้ามลากยาวเกินเที่ยงคืนแน่ กำชับลูกพรรคอย่าห่างห้องประชุม “อุตตม” ชื่นมื่นจับมือ 5 พรรคเล็กร่วมรัฐนาวา จ่อแถลงใหญ่หลังวันยกมือหนุนบิ๊กตู่ “ปชป.” ถกเดือด 5 ชั่วโมงก่อนมีมติ 61 เสียงต่อ 16 ร่วมรัฐบาลแล้ว  

    ในวันพุธที่ 5 มิถุนายน เวลา 11.00 น. ได้มีระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เรื่องพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้ในวันอังคารที่ 4 มิ.ย. มีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง
    โดยช่วงเช้าก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ย้อนถามสื่อมวลชนหลังจากถูกกระเซ้าว่ายินดีด้วยที่จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จว่า ใครตั้ง และเมื่อสื่อตอบว่า ทีมของพวกท่านนั่นแหละ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตอบสั้นๆ ว่า เหรอ 
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวสั้นๆ หลังถูกถามว่าตัดสินใจที่จะร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ต่อในรัฐบาลชุดหน้าหรือไม่ ว่าไม่รู้ ไม่รู้เรื่องเลย 
    และหลังประชุม ครม.เสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามกรณีมองกันว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังไม่ตอบรับร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน ว่าอย่าเพิ่งไปมองว่าอะไรจะเกิดขึ้นเลย เพราะวันนี้ยังไม่เกิดอะไรขึ้นทั้งสิ้น ต้องรอดูหลังวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งจะเป็นวันโหวตเลือกนายกฯ เรื่องนี้เป็นวิถีทางทางการเมือง ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว การจัดตั้งรัฐบาลจะโดยเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยก็ไม่รู้ แต่ทุกคนก็มุ่งหวังว่าให้เกิดเสียงข้างมาก ส่วนจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขอให้เคารพเสียงของประชาชนที่เลือกมาทั้งหมด
    เมื่อถามว่าหลังโหวตเลือกนายกฯ จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลทันทีเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า คำตอบทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว ว่าทุกคนอยากให้ตั้งรัฐบาลให้เร็ว เพราะฉะนั้นทุกคนที่อยู่ในกลไกการจัดตั้ง ครม.ก็ต้องหาทางออกให้ได้ เพื่อทำให้เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่ใช่รัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เป็นรัฐบาลของประชาชน เป็นรัฐบาลของประเทศ เพราะฉะนั้นจึงต้องหาทางออกกันให้ได้ ทุกคนต่างก็มุ่งหวังเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น และประชาชนก็ยังรอความหวังจากรัฐบาลนี้อยู่
“วันนี้ผมไม่อยากให้มองเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองอย่างเดียว เราต้องมองเรื่องของการมีเสถียรภาพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้ เราไปมองเรื่องการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ การเมืองเป็นแต่เพียงกลไกหนึ่ง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ยังชี้แจงถึงการไม่ไปแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ว่าได้ตอบไปแล้ว ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่โดยพยายามทำให้ดีที่สุด แก้ไขปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งวิสัยทัศน์ของตนเองคือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายในหลักการสามัญ คือมองอนาคตไปข้างหน้า และวันนี้ได้วางยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทไว้อีก 
โหวตไม่ใช่อภิปรายไว้วางใจ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า หลายคนอยากจะถามว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้มองในทางที่ดี อย่าไปมองในทางที่ไม่ดี เชื่อในวุฒิภาวะของบรรดา ส.ส.และ ส.ว. สมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย รวมถึงขีดความสามารถประสบการณ์ของประธานรัฐสภาทั้งสองท่าน น่าจะทำให้การประชุมในวาระการเลือกนายกฯ ดำเนินการต่อไปได้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    “ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวก็อยากให้พูดกันเฉพาะวาระที่กำหนดไว้ในการประชุม ไม่ใช่เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อันนั้นไว้โอกาสต่อไปแล้วกัน ไม่ใช่เวลาขณะนี้ ผมคิดว่าวันนี้คนไทยทุกคน มุ่งหวัง คาดหวัง และรอเฝ้าฟังการประชุมร่วมรัฐสภาของพวกเราในวันพรุ่งนี้ ผมอยากให้ทุกคนได้มั่นใจในบรรดานักการเมือง ส.ส.ต่างๆ ที่ได้คัดเลือกจากประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ผู้ทรงเกียรติ และทุกคนทราบดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศในระยะเวลากว่า 10 ปี ทุกคนต้องนำมาเป็นบทเรียนว่าทำอย่างไรไม่เกิดขึ้นอีก ทำอย่างไรให้ประชาชนไม่เบื่อหน่าย ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่น ถ้ายังเป็นแบบเดิมๆ ประเทศไทยจะเสียโอกาสอีกมากมาย” นายกฯ กล่าว และว่า เราควรเริ่มจากการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่แสดงให้ประชาชนมั่นใจว่าเขาเลือกมาแล้วไม่ผิด โอเคนะ ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่งหรอก
    เมื่อถามว่า สรุปว่าไม่อยากให้อภิปรายใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินออกจากโพเดียมและหุบยิ้มทันที เมื่อได้ยินคำถามดังกล่าว
    ในเวลาใกล้กัน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. นายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และนายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทยได้นำสมาชิกในเครือข่าย 15 คน สวมเสื้อยืดโปโลสีเหลือง ด้านหน้าและด้านหลังสกรีนภาพ พล.อ.ประยุทธ์เป็นรูปการ์ตูนสวมชุดชาวนา พร้อมข้อความว่า "ชาวนาประชารัฐ กองหนุนลุงตู่" เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกฯ ต่อไป 
    ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงประเด็นการเลือกนายกฯ อาจมีการนำประเด็น ส.ว.มาอภิปรายกังวลว่าเป็นปัญหาหรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า จะเป็นปัญหาอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของประธานรัฐสภาในการควบคุม เชื่อมั่นจะดูแลได้อยู่แล้ว
     เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งใจอภิปรายในหลายประเด็น คิดว่าจะได้นายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.เลยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ไม่รู้ เป็นเหตุการณ์ข้างหน้า และเมื่อถามย้ำว่าคิดว่าการเลือกนายกฯ จะจบในวันเดียวหรือไม่ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลรออยู่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ถ้าได้เร็วก็ดี
“ป้อม”ลั่นไม่ใช่มือประสาน
    ต่อข้อถามว่า มองอย่างไรกับข่าวการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พปชร.ที่ยังไม่ลงตัว พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ใช่นักการเมือง และไม่มีใครมาขอให้ช่วยประสาน เขาประสานกันเอง การเมืองก็ทำกันไป ส่วนตนเองไม่ใช่ เพราะอยู่บ้าน เมื่อถามอีกว่า รู้สึกอย่างไรที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ประสานงานจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เป็นข่าวที่สื่อเขียนเอง จะไปทำอะไรได้
    ในช่วงท้ายการให้สัมภาษณ์ เมื่อถามว่าจะอยู่ช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ต่อหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่รู้ เมื่อถามอีกว่ายังไม่ได้เก็บของใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวทีเล่นทีจริงพร้อมกับหัวเราะว่า เก็บตั้งนานแล้ว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ต้องไปปรากฏตัวในวันโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ ว่าในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่ได้พูดเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้ห้าม อย่างที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุว่าอยู่ที่สมาชิกที่จะเสนอขึ้นมาและมีมติ แต่คนที่เป็นคนนอกและคนที่ถูกเสนอชื่อ จะเป็นใครก็ได้อยู่แล้วในประเทศไทย ฉะนั้นลองนึกภาพว่า ถ้าไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นคนอื่น และพรรคเสนอคนอื่น คนเหล่านั้นจะเดินทางไปสภาแล้วไปยืนแสดงวิสัยทัศน์ได้อย่างไร
    เมื่อถามว่า มีสมาชิกเสนอว่าขออภิปรายก่อนโหวตเลือกนายกฯ นายวิษณุกล่าวว่า ตามข้อบังคับ เขามีสิทธิขอหารือ ซึ่งถ้าประธานอนุญาตก็ทำได้ และเมื่อถามว่าหากมีการพุ่งเป้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากหัวหน้า คสช.ก่อน ประเด็นเหล่านี้หารือหรืออภิปรายได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หารือได้ แต่จะได้ผลอย่างไร ไม่ทราบ ใครจะเสนออะไรก็เสนอไป แต่สุดท้ายจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ แม้จะบีบเป็นมติออกมา ก็เชื่อประธานจะไม่ขอมติ ซึ่งคงไม่สามารถไปบังคับกันได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้มีรายชื่ออยู่ใน คสช.อยู่ต่อไป จนกระทั่ง ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับหน้าที่ 
    ขณะที่พรรค พปชร.ได้มีการประชุม ส.ส.ของพรรคเพื่อเตรียมความพร้อมในการโหวตนายกฯ โดยมีแกนนำพรรคเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์เพื่อรับมือ 7 พรรคการเมือง ที่นำโดยพรรค พท.ที่คาดว่าจะหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัตินายกฯ จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ และเรื่องขอให้แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละฝ่ายมาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งประเด็นนี้ ฝ่ายพรรค พปชร.เตรียมเสนอญัตติให้ประธานรัฐสภาจัดสรรเวลาให้แต่ละฝ่ายอภิปรายข้อดีข้อเสียแทนแคนดิเดตนายกฯ พร้อมปล่อยเวลาให้ฝ่าย พท.อภิปรายประเด็นต่างๆ เต็มที่ แต่จะไม่ยอมให้แคนดิเดตนายกฯ แต่ละฝ่ายมาโชว์วิสัยทัศน์ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับ และที่ผ่านมาไม่เคยให้ผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ มาแสดงวิสัยทัศน์ก่อน และหากฝ่ายเพื่อไทย (พท.) จะเสนอญัตติเพื่อให้นายธนาธรเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ พรรค พปชร.คัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว จึงถือว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิ์อภิปรายในรัฐสภาได้ ซึ่งประเด็นนี้อาจต้องตัดสินด้วยการลงมติ
จัดองครักษ์พิทักษ์'ลุงตู่'
“พปชร.ยังได้วางตัว ส.ส.ของพรรคตอบโต้และชี้แจงในประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกขึ้นมา ขณะเดียวกันจะมีบุคคลที่คอยตัดบทฝ่ายตรงข้ามหากอภิปรายนอกประเด็นประมาณ 20 คน อาทิ นายวีระกร คำประกอบ, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, นายวิเชียร ชวลิต, นางทัศนียา รัตนเศรษฐ และนางปารีณา ไกรคุปต์ รวมถึง ส.ส.กทม. ให้ขึ้นอภิปรายแจ้งเกิดในสภาด้วย ทั้งนี้ ยังได้ประสานกับ ส.ว. 15 คน ที่จะมีส่วนอภิปรายด้วย” รายงานระบุ
รายงานแจ้งอีกว่า ที่ประชุม พปชร.ยังเชื่อว่าบรรยากาศโหวตนายกฯ จะแตกต่างจากการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่านายชวนจะเข้มงวดในกฎระเบียบและข้อบังคับ แต่เชื่อว่าอีกฝ่ายจะพยายามยื้อเวลาไม่ให้โหวตนายกฯ เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งคาดกันไว้จะไม่ต่ำกว่าเที่ยงคืนของวันที่ 5 มิ.ย. และหากไม่เสร็จสิ้นก็มีโอกาสที่ประธานรัฐสภาจะนัดประชุมในวันถัดไป โดยที่ประชุมพรรคได้เน้นย้ำว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเที่ยงคืน ส.ส.ทุกคนต้องอยู่ในห้องประชุมและบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น เพื่อให้พร้อมตลอดเวลาหากลงมติ
และในเวลา 12.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว กลุ่มสามมิตร นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย ได้นัด ส.ส.กว่า 30 คน ร่วมรับประทานอาหารและหารือต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส. โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายกฯ โดยหลังหารือกว่า 1 ชั่วโมง นายสุริยะกล่าวว่า ได้มาทานข้าวหารือกันเพื่อหารือแนวทางการช่วยงานพรรค พปชร. โดยเฉพาะวันโหวตนายกฯ เราจึงมาปรึกษาหารือกันว่าจะกำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปรายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และหากมีกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามอภิปรายไม่เห็นด้วย เราจะชี้แจงในทุกประเด็น 
“วันนี้ที่เรานัดหารือกัน ไม่ได้มีเจตนาเพื่อไปต่อรองตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาแม้ว่าผมจะเป็นหนึ่งในแกนนำ แต่ไม่เคยออกมาพูดขอตำแหน่งใดๆ สำคัญที่สุดคือพรรคเองต้องมีกระทรวงที่ตอบสนองกับนโยบายการหาเสียง หากพรรคไม่เก็บกระทรวงสำคัญๆ ไว้เลย การเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.ของเราจะไม่มีที่ยืน แต่เรามั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯอีกครั้ง ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ” นายสุริยะกล่าว
    สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ที่ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมเดอะสุโกศล แกนนำพรรค พปชร. นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. และตัวแทนพรรคเล็กอีก 5 พรรค ซึ่งประกอบด้วยพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.), พรรคชาติพัฒนา (ชพน.), พรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.), พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังพบปะพูดคุยในการเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก 
แถลงใหญ่หลังโหวตนายกฯ
เมื่อถามว่า การแถลงวันนี้ถือว่าปิดดีลจัดตั้งรัฐบาลหรือยัง นายอุตตมกล่าวว่า เป็นการมาแสดงตัวเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ไม่ใช่ปิดดีลอะไร และต้องให้เกียรติในการดำเนินการของพรรคต่างๆ เพราะเป้าหมายของเราคือจัดตั้งรัฐบาลให้หรือเสถียรภาพ เพื่อมีโอกาสทำงานให้ประชาชน ทุกคนมาด้วยความตั้งใจ ส่วนเรื่องการจัดสรรตำแหน่งอะไรเป็นปกติทางการเมือง และสามารถพูดคุยให้ลงตัวได้
    ถามอีกว่า สัญญาณการโหวตเลือกเรื่องนายกฯ ของพรรค ปชป.และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นอย่างไรบ้าง นายอุตตมตอบว่า ต้องให้ทั้งสองพรรคดำเนินการภายในให้เสร็จ อย่าเพิ่งไปพูดก่อน ต้องทำไปตามกระบวนการ เราให้เกียรติทุกพรรค ส่วนเรื่องความมั่นใจในการเลือกนายกฯ จะใช้เสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงหรือไม่นั้นว่าเป็นเป้าหมายของพรรค แต่อย่าเพิ่งไปคาดการณ์ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการและรัฐธรรมนูญ อย่าไปคาดการณ์ว่าเสียงจะได้เท่าไหร่  และยังไม่ถึงเวลาที่จะมาพูดว่าจะทำงานเสียงข้างน้อย เราต้องให้ ส.ส.ได้ทำหน้าที่ก่อนในสภาก่อน และมั่นใจว่าการโหวตนายกฯ จะเป็นไปอย่างราบรื่น
    มีรายงานว่า ภายหลังการโหวตเลือกนายกฯ พรรค พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการร่วมกันอีกครั้ง
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรค ปชป.นั้น เมื่อเวลา 13.00 น. มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จากนั้นเวลา 14.00 น. จะมีการประชุมร่วม กก.บห.และ ส.ส. โดยบรรยากาศก่อนประชุมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงข่าวการจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ถ้าพรรคเข้าร่วมรัฐบาล โดยกล่าวทีเล่นทีจริงว่า จะออกไปไหนล่ะจ๊ะ  
นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.ที่สนับสนุนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อลงแข่งหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวก่อนการประชุม ว่ามั่นใจ ส.ส.เกินครึ่งของพรรคต้องการเข้าร่วมรัฐบาล โดยขณะนี้มีเสียง ส.ส.ในกลุ่ม 27-30 คน พร้อมโหวตเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าพรรคมีมติเป็นอย่างไร ส.ส.ในกลุ่มอย่างน้อย 27 เสียงยืนยันจะเข้าร่วมรัฐบาล เพราะพรรคมีการประสานงานกับพรรค พปชร. จนนายชวนได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งหากไม่ร่วมรัฐบาลพรรคได้รับความเสียหายทั้งทางการเมืองและในสายตาประชาชน
    ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมร่วม กก.บห. และ ส.ส.ของพรรค นายธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และ ส.ส.พะเยา พรรค พปชร.  โดยได้นั่งดื่มกาแฟกับเจ๊ก้อยที่ร้าน Blue Cloud ภายในพรรค ปชป.ร่วมครึ่งชั่วโมง ซึ่งนายธรรมนัสกล่าวว่า มาธุระใกล้แถวนี้จึงมาหาพี่สาว และแวะดื่มกาแฟ เพราะกาแฟที่พรรค ปชป.อร่อยกว่าพรรค พปชร. 
เมื่อถามว่า มาสังเกตการณ์การประชุมร่วมพรรค ปชป.หรือไม่ นายธรรมนัสกล่าวว่า เป็นเรื่องภายในของพรรค ปชป. แต่มาเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการเมือง
ทั้งนี้ การประชุม กก.บห.พรรค ปชป.เพื่อพิจารณาจุดยืนทางการเมือง เริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น. โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ได้ชี้แจงกับที่ประชุมถึงโควตารัฐมนตรีว่าได้ 1 รองนายกฯ 3 รัฐมนตรีว่าการ ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรฯ, พาณิชย์ และการพัฒนาสังคมฯ รวมถึง 4 รัฐมนตรีช่วย คือ มหาดไทย, คมนาคม, ศึกษาธิการ และสาธารณสุข จากนั้นได้ให้ ส.ส.เข้าประชุมร่วมกับ กก.บห. เพื่อลงมติว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.หรือไม่ โดยใช้เวลาอภิปรายนานเกือบ 5 ชั่วโมง เริ่มจากนายเฉลิมชัยสรุปสถานการณ์ให้ที่ประชุมฟัง ก่อนที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค จะกล่าวเปิดเวทีรับฟังความเห็น ส.ส. โดยระบุว่า พปชร.ตอบรับว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาเพื่อเปิดช่องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีการกำหนดระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย ส่วนนโยบายพรรคก็รับปากแล้วว่าจะบรรจุนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติของพรรคในนโยบายรัฐบาลด้วย โดเฉพาะการประกันรายได้สินค้าเกษตร แต่ทั้งนี้ข้อตกลงทั้งหมดไม่รวมถึงกรณีหากมีการทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลที่พรรคพร้อมถอนตัวทันทีหากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น
61 เสียงหนุนร่วม พปชร.
จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความกังวลว่า ถ้ามีการทุจริตในรัฐบาล ปชป.จะทันเกมหรือไม่ และชี้ให้เห็นว่าพรรคควรยึดอุดมการณ์ต่อสู้ทั้งการทุจริตและการสืบทอดอำนาจให้พรรคมีที่ยืนของตัวเอง ไม่ใช่ไปยืนฝ่าย พปชร.หรือฝ่ายทักษิณคือเพื่อไทย ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตของพรรคในวันหน้า พร้อมเสนอให้พรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ ไม่ร่วมรัฐบาล ยึดมั่นอุดมการณ์พรรคและรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เป็นการยืนบนหลักการซึ่งเป็นจุดแข็งของพรรคในการทำหน้าที่ตรวจสอบ
โดยนายอภิสิทธิ์ได้ใช้เวลาในการอภิปรายในประเด็นนี้กว่า 1 ชั่วโมง
ขณะที่นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แสดงความเห็นแย้งกับนายอภิสิทธิ์ โดยระบุว่า อารมณ์สังคมต้องการให้เลือกข้าง ไม่ซ้ายก็ขวา และสาเหตุที่พรรคแพ้เป็นเพราะคำประกาศของนายอภิสิทธิ์ที่ไม่ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงเหตุการณ์ที่ฮ่องกง ปชป.จึงต้องเลือกข้าง ยืนตรงกลางไม่ได้แล้ว เพราะไม่ว่าจะเลือกฝั่งไหนก็โดนตำหนิ 
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ลุกขึ้นปกป้องนายอภิสิทธิ์ โดยขอให้พรรครักษาเกียรติภูมิของอดีตหัวหน้าพรรคที่เปรียบเสมือนแม่ทัพ แม้ทำศึกพ่ายแพ้ แต่ก็ต้องรักษาแม่ทัพไว้ เพราะคำพูดของแม่ทัพเปรียบเหมือนคำพูดของพรรค หากไม่มีการปกป้องผู้นำเป็นเช่นนี้ ใครจะเชื่อคำพูดของหัวหน้าพรรค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ลุกขึ้นอภิปรายว่าขอให้ ส.ส.ลงมติโดยอิสระ ไม่ต้องคำนึงถึงตนเอง 
จากนั้น นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เสนอความเห็นเป็นขั้วที่สาม ไม่ร่วมรัฐบาลกับ พปชร. เพราะคู่แข่งที่แท้จริงของ ปชป.คือพรรค พปชร. ที่แกนนำใช้ทุกวิถีทางเช่นเดียวกับที่ระบอบทักษิณเคยใช้ แต่รุนแรงมากกว่า หาก ปชป.เลือกยืนข้าง พปชร. เท่ากับติดปีกให้ 
นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนให้พรรคฟรีโหวตเลือกนายกฯ 
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่ม กปปส.แทบไม่แสดงความเห็น มีเพียงนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรังและ น.ส.กุลธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี ที่ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการร่วมรัฐบาล และเสนอให้พรรคฟรีโหวตในการเลือกนายกฯ ซึ่งนายจุรินทร์ทักท้วงว่า การลงมติในครั้งนี้เป็นการลงมติว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ถ้าร่วม รัฐบาลต้องโหวตเลือกนายกฯ ด้วย และขอให้ทุกคนยึดมติพรรค และเสนอให้ที่ประชุมลงมติในทางลับด้วยการเขียนว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม หรืองดออกเสียง หลังอภิปรายกันเกือบ 5 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าที่ประชุมที่มีองค์ประชุมใน 81 คน แต่ในวันนี้มี 80 คน เนื่องจากนายชวนไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยผลลงคะแนนปรากฏว่ามีผู้ต้องการร่วมรัฐบาล 61 ต่อ 16 งดออกเสียง 2 บัตรเสีย 1  
จากนั้นมีการประชุม ส.ส.เพื่อทำความเข้าใจและนัดหมายในการประชุมเลือกนายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.
    ต่อมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และ ส.ส. ร่วมกันแถลงข่าวเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า เงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไว้ 3 ข้อได้รับการตอบรับ คือ นโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นปัญหา และการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องสุจริต ซึ่งหากผิดเงื่อนไข พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถทบทวนการร่วมรัฐบาลได้
    "ยืนยันการร่วมรัฐบาลได้นำเงื่อนไข จุดยืนอดีตหัวหน้าพรรคที่เคยประกาศไว้ในการหาเสียง ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่สุดท้ายพรรคต้องยึดประโยชน์ของประเทศ เหนือประโยชน์ของพรรค และให้สภาพการเมืองในขณะนี้ หลุดพ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งการมีรัฐบาลจะเป็นการปิดสวิตช์โดยเร็วจากการสืบทอดอำนาจ คสช." นายจุรินทร์กล่าว และว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติร่วมกับพรรคพลังประชารัฐที่มีเสียงมากที่สุด และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะสนับสนุนมติพรรคพลังประชารัฐ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวเข้าร่วมรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค นายเทพไท เสนพงศ์ และ ส.ส.ในกลุ่ม ไม่ได้เข้าร่วมการแถลงข่าว แต่นายจุรินทร์ยืนยันว่า ส.ส.ต้องทำตามมติพรรค
    ด้านนายอภิสิทธิ์ปฏิเสธตอบคำถามการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิ.ย.ว่าจะทำตามมติพรรคหรือไม่ รวมถึงท่าทีทางการเมืองของตนเอง โดยระบุสั้นว่า "เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ทราบแล้วครับ" ก่อนเดินทางออกจากที่ทำการพรรคทันทีด้วยสีหน้าเรียบเฉย โดยมีกลุ่มแฟนคลับมอบของให้กำลังใจ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"