‘ส่งออก’สาหัส!ปรับจีดีพี62ใหม่สมคิดปลุกเอกชน


เพิ่มเพื่อน    

  “คลัง” จ่อปรับประมาณการจีดีพีปี 2562 ใหม่ หลังส่งออกยังสาหัส ลุ้นประชุมจี 20 ตัดจบปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน พร้อมโยนรัฐบาลใหม่ฟันธงงัดมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม สมคิดเป่ากระหม่อมเอกชน ยืนยันเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง

    นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2562 ใหม่ หลังจากภาพรวมการส่งออกในปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน โดยการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55-56% ของจีดีพี และยังต้องรอดูข้อมูลด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลการประชุมจี 20 ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสงครามการค้าของโลกด้วย
    นอกจากนี้ มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเติบโตได้ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลตามฤดูกาล หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้ทิศทางเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าการเติบโตจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยกระทรวงการคลังจะมีการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสรุปรายละเอียดทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2562 เสนอให้รัฐบาลใหม่ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นหรือพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่
    “ความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นหรือพยุงเศรษฐกิจนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องตัดสินใจ โดยระหว่างนี้จะมีการรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา” นายพรชัยกล่าว
    สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 2562 พบว่ายังสามารถขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ขยายตัวสูงถึง 5% ต่อปี โดยในส่วนนี้เป็นการจัดเก็บภาษีแวตจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ขยายตัว 5.8% ต่อปี และจัดเก็บจากการนำเข้า ขยายตัว 4% ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว สอดคล้องกับภาพรวมการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว -5.8% ต่อปี มูลค่าการส่งออกไปจีนขยายตัว -7.2% ต่อปี และการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน -10.2% ต่อปี ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัว -0.6% ต่อปี
    นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทย ในเดือน พ.ค. 2562 อยู่ที่ 2.73 ล้านคน ขยายตัว -1.0% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ขยายตัว -2.7% ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 1.34 แสนล้านบาท ขยายตัว -1.0% ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น อาทิ มาเลเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น ยังขยายตัวได้ดี ส่วนภาพรวมการท่องเที่ยวภายในประเทศ (คนไทยเที่ยวไทย) ขยายตัว 3.6% โดยเชื่อว่ารายได้ในส่วนนี้จะเข้ามาช่วยทดแทนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในระดับหนึ่ง
    ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ว้าวถูกใจทุก Gen” ว่าการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จาก 3.8% มาอยู่ที่ 3.3% ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเหมือนกับตามเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่าการเมืองที่ชัดเจนและจะมี ครม.ใหม่ในไม่ช้าจะทำให้การสานต่อนโยบายการทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งอยากให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนทุกอย่างให้เป็นปกติ     
    ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จะล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งภาครัฐจะพยายามเร่งการเบิกงบลงทุนของโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งพรรคร่วมทุกพรรคต่างเห็นความสำคัญของการลงทุน หากล่าช้าเกินไปประเทศเพื่อนบ้านจะแซงได้
    “พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแรงมาก ตลาดหุ้นขยับขึ้นต่อเนื่อง ค่าเงินบาทแข็งค่า สะท้อนเศรษฐกิจยังดี และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังรองรับปัจจัยเสี่ยงที่ผ่านมาได้ดี ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าขณะนี้เป็นรอยต่อของรัฐบาลเดิมและรัฐบาลชุดใหม่ โครงการขนาดใหญ่บางโครงการต้องรอการตัดสินใจ เดินหน้ายังไม่ได้สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของหลายสำนักออกมาไม่ดี เป็นสิ่งที่อยู่ในการคาดการณ์ไว้ เพราะตั้งแต่มีการเลือกตั้งปัจจัยหลายด้านชะลอตัวลง” นายสมคิด กล่าว
    ส่วนความกังวลในเรื่องเสถียรภาพในการทำงานของรัฐบาลใหม่ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคนั่งในทีมเศรษฐกิจ ไม่ใช่พรรคเดียวเหมือนรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกพรรคการเมืองมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
          นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกรมสรรพากรไม่ใช่มาตรการหลัก เพราะหากใช้มาตรการของกรมสรรพากรมากเกินไป จะกระทบกับฐานะการคลัง การลดภาษีไม่ใช่มาตรการเดียวที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งหลายประเทศที่ดำเนินมาตรการลดภาษีทำให้คนฐานภาษีสูงได้ประโยชน์ ไม่ได้ช่วยคนระดับล่างอย่างแท้จริง ดังนั้น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องพิจารณาให้ตรงกลุ่ม  เช่นการช่วยคนจน ก็ต้องดูว่าคนจนที่จะช่วยอยู่ในฐานภาษีหรือไม่
          นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61-พ.ค.62) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1.64 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.55 หมื่นล้านบาท หรือ 4.2% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 4.08 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร สูงกว่าประมาณการ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือ 3.2% และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 3.68 หมื่นล้านบาท หรือ 35.9% รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1.06 หมื่นล้านบาท หรือ 8.3% และการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร สูงกว่าประมาณการ 6.95 พันล้านบาท หรือ 10.4%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"