'เวียดนาม-อียู' เซ็นความตกลงการค้าเสรี 'อีวีเอฟทีเอ'


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลเวียดนามและสหภาพยุโรป (อียู) ลงนามความตกลงการค้าเสรีอียู-เวียดนามแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นเอฟทีเอฉบับแรกที่อียูลงนามกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย กรุยทางกำจัดภาษีศุลกากรสินค้าระหว่างสองฝ่าย 99%

เซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป (ซ้าย), สเตฟาน ราดู โอเปอา รัฐมนตรีการค้าของโรมาเนีย (กลาง) และเจิ่น ต่วน อันห์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ลงนามความตกลงการค้าเสรีที่กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 / AFP

    รายงานของรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2562 กล่าวว่า พิธีลงนามความตกลงการค้าเสรีอียู-เวียดนาม (อีวีเอฟทีเอ) จัดที่กรุงฮานอยของเวียดนามวันเดียวกันนี้ แถลงการณ์ร่วมกล่าวว่า เซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าอียู และเจิ่น ต่วน อันห์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม เป็นตัวแทนลงนามเอฟทีเอฉบับนี้

    สหภาพยุโรปกล่าวถึงเอฟทีเอฉบับนี้ว่า เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีความทะเยอทะยานที่สุดเท่าที่อียูเคยทำกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเกิดขึ้น 3 ปีครึ่งหลังจากการเจรจาสิ้นสุดลงเมื่อเดือนธันวาคม 2558
 
    ด้านมาล์มสตรอมกล่าวว่า ความตกลงฉบับนี้เป็นหมุดหมายสำคัญระหว่างคู่ค้าทั้งสองฝ่าย อียูต้องการสร้างความมั่นใจว่าการค้าของอียูในภูมิภาคนี้จะส่งผลในทิศทางบวก เราจึงได้วางมาตรฐานไว้สูงในความตกลงนี้

    อีวีเอฟทีเอยังต้องการการรับรองจากรัฐสภายุโรป ซึ่งอาจต้องเผชิญอุปสรรคจากการคัดค้านของสมาชิกบางส่วนที่วิตกเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเวียดนามที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขด้านนี้ไว้ด้วย ถึงแม้ว่าความตกลงที่ถูกยกย่องว่ามีมาตรฐานสูงฉบับนี้จะครอบคลุมถึงกฎกติกาด้านสิทธิแรงงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญาแล้วก็ตาม

    ความตกลงนี้จะกำจัดภาษีศุลกากร 99% ของสินค้านำเข้าระหว่างสองฝ่าย ถึงแม้ว่าสินค้าบางประเภทกำหนดเวลาไว้ภายในกรอบ 10 ปี และสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร จะจำกัดด้วยโควตา

    เวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยอานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและการลงทุนจากต่างประเทศ ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีแล้วประมาณ 12 ฉบับ ซึ่งรวมถึงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)

    เวียดนามคาดหวังว่า อีวีเอฟทีเอจะส่งเสริมให้สินค้าส่งออกของเวียดนาม ไม่ว่าสิ่งทอ, รองเท้า, สมาร์ทโฟน และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เข้าถึงตลาดอียูได้มากขึ้น ส่วนอียูก็คาดว่า อียูจะเข้าถึงตลาดที่มีประชากร 95 ล้านคนแห่งนี้ได้มากขึ้น ซึ่งรวมทั้งในภาคบริการและการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ เช่น ภาคการไปรษณีย์, การธนาคาร และการเดินเรือ

    อียูเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่อันดับ 2 ของเวียดนาม รองจากสหรัฐ ข้อมูลของทางการเวียดนามเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกสินค้าและบริการไปอียูมูลค่า 42,500 ล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากอียูนั้นอยู่ที่ 13,800 ล้านดอลลาร์

    รัฐบาลเวียดนามกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า อีวีเอฟทีเอจะกระตุ้นการส่งออกของอียูมายังเวียดนาม 15.28% ส่วนสินค้าของเวียดนามจะส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้น 20.0% ภายในปี 2564 นอกจากนี้ ความตกลงฉบับนี้จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเวียดนามเพิ่งขึ้นปีละ 2.18%-3.25% ภายในปี 2566 และเพิ่มขึ้นปีละ 4.57%-5.30% ระหว่างปี 2567-2571

    เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อียูก็เพิ่งลงนามความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเมร์โกซูร์ของอเมริกาใต้ที่เคยใช้เวลาเจรจากันมานานหลายทศวรรษ

    สำหรับในเอเชีย อียูทำความตกลงการค้าเสรีไว้แล้วกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ส่วนเอฟทีเอกับสิงคโปร์จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ และอียูยังได้เปิดการเจรจากับอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"