โปรดเกล้าฯครม.ตู่2 36รัฐมนตรี39ตำแหน่งธนาธรชักศึกดึงEUด่าไทย


เพิ่มเพื่อน    

  โปรดเกล้าฯ ครม.ประยุทธ์ 2 จำนวน 36 คน 39 ตำแหน่ง โผพลิก 2 ที่นั่ง "หม่อมเต่า" ได้นั่ง รมว.แรงงาน ด้าน "ธรรมนัส" รมช.เกษตรฯ เพื่อคุมม็อบเกษตรกร ขณะทำเนียบฯ เตรียมห้องให้ ครม.ชุดใหม่ถ่ายภาพทำบัตรประจำตัวแล้ว  "วิษณุ" เผย 11 ก.ค.ขอพระราชทานวันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณการันตี "ธรรมนัส" คดีเก่าไม่มีผลต่อคุณสมบัตินั่ง รมต. "อนุทิน" ลั่นชาวบ้านได้ปลูกกัญชา 6 ต้นแน่ ถ้าทำไม่ได้ไม่มี ภท.สมัยหน้า "เพื่อไทย" ขู่สภาเป็นเวทีล้มและคว่ำรัฐบาล แต่อย่าห่วงฝ่ายค้านตีรวน เตือน "บิ๊กตู่" ให้คุม 19 พรรคให้รอด "ธนาธร" พบสภายุโรปร่วมประจานประเทศตัวเอง 

    เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 17.00 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี  ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2562 แล้วนั้น บัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี,   นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 
    นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  
    นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ  
    นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  
    นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  
    นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
    นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 
    นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 
    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
    นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 
    นายสาธิต ปิตุเตชะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 
    นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
    ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 
โผ ครม.พลิก 2 เก้าอี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ ครม.ส่วนใหญ่เป็นไปตามโผ มีเพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้นคือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้เป็น รมช.เกษตรฯ จากก่อนหน้านี้มีชื่อจะนั่งเป็น รมว.แรงงาน ทั้งนี้ เนื่องจากแกนนำรัฐบาลเห็นว่า ร.อ.ธรรมนัสสามารถพูดคุยประสานทำความเข้าใจกับแกนนำกลุ่มเกษตรต่างๆ ได้หากมีการชุมนุมเรียกร้อง
    ส่วน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ที่ก่อนหน้านี้ในโผจะนั่งเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากช่วงสุดท้ายการจัดโผ ครม. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้พยายามต่อรองแกนนำรัฐบาลขอให้คนของพรรคไปนั่งเก้าอี้ รมว.แรงงานตามที่ต้องการแต่แรก โดยให้เหตุผลว่า งานตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไม่ค่อยมีงานสำคัญที่จะไปสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคได้
     ขณะบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ได้เริ่มจัดเตรียมห้องในตึกภักดีบดินทร์ไว้ให้ ครม.ชุดใหม่ ได้ถ่ายภาพทำบัตรประจำตัวรัฐมนตรีแล้ว
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่ ว่าในวันที่ 11 ก.ค. รัฐบาลต้องทำหนังสือขึ้นไปขอพระราชทานวันเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ส่วน ครม.ชุดเก่าจะยังอยู่จนถึงวัน ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะประเทศจะว่างอยู่โดยไม่มีรัฐบาลไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ ครม.ชุดใหม่ยังไม่สามารถทำงานได้จนกว่าจะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ครม.ชุดเก่า จึงต้องทำหน้าที่เพื่อให้การทำหน้าที่ต่อเนื่องนาทีต่อนาที แต่การประชุม ครม.ของชุดเก่าจะไม่มีแล้ว และการสั่งนโยบายอะไรก็ไม่สมควร ทำได้เพียงการบริหารปกติ สำหรับผู้ที่มีรายชื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี ไม่ควรไปต่างประเทศในช่วงนี้ เพื่อให้พร้อมสำหรับเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ
    นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่ตนได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นรองนายกฯ ไม่ได้ระบุว่าเป็นรองนายกฯ ด้านไหน เพราะนายกฯ จะต้องแบ่งงานว่าใครรับผิดชอบอะไร ส่วนที่มี รมช.เกษตรและสหกรณ์มากถึง 3 คนนั้น ไม่เป็นไร เพราะจำนวนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของภาระงาน
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือด้วยความตื้นตัน ภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดที่เคยได้รับมา และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จากนี้ไปจะทำหน้าที่ให้บ้านเมืองและประชาชนมากที่สุด และดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คนอย่างตนไม่มีโอกาสบ่อยๆ ที่จะได้ทำสิ่งเหล่านี้ให้กับบ้านเมือง จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำทุกอย่างให้เกิดสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์ หากเป็นไปได้จะนำความสงบสุขและความสามัคคีกลับสู่บ้านเมือง
    เมื่อถามว่า ได้เป็น รมว.สาธารณสุข มีการวางแผนงานอย่างไรบ้าง นายอนุทินกล่าวว่า หลายอย่างพรรคภูมิใจไทยได้วางแผนไว้อยู่แล้ว ซึ่งตนมีความคุ้นเคยกับข้าราชการและผู้บริหารของกระทรวงนี้เป็นอย่างดี เพราะเคยทำงานอยู่ที่นี่หลายสมัย หากนับตั้งแต่สมัยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ซึ่งเป็นบิดา ก็นับเป็นวาระที่ 4 แล้ว ทำให้เข้าใจถึงปัญหาพื้นฐาน หลังจากนี้จะขอความร่วมมือข้าราชการให้ช่วยกันผลักด้นนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยสัญญาไว้กับประชาชน เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด
ได้ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น
    นายอนุทินยังให้สัมภาษณ์กรณีนโยบายกัญชาเสรี จะขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมอย่างไร ว่าพร้อมขับเคลื่อนทันที ซึ่งในวันที่ 12 ก.ค.นี้ พรรคจะมีการสัมมนาเรื่องกัญชา จึงอยากเชิญชวนให้ไปรับฟังกันมากๆ ส่วนที่มีคนบอกว่าพรรคผิดคำพูดเรื่องกัญชาว่าเป็นการสันทนาการ ตนยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะคำว่าสันทนาการเป็นผลพลอยได้ แต่หลักของการทำกัญชาไม่มีพรรคไหนบ้าจี้ว่าจะทำเพื่อสนับสนุนสันทนาการแล้วไม่มีเรื่องการแพทย์ เราต้องทำเพื่อการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ต้นทุนการใช้ยาของผู้ป่วยทั้งทางภาครัฐและประชาชนลดน้อยลง ให้ปลูกในบ้านเพื่อให้นำมาใช้เป็นยาในบ้าน เช่นเดียวกับพริกหรือมะนาว โดยต้องกินในอัตราที่สมควรและควบคุมได้ เหลือเท่าไหร่จึงไปขายให้รัฐ ดังนั้นทุกอย่างมีขั้นตอนชัดเจน
    "มีคนว่าเราโกหก ที่ไม่เขียนว่ากัญชาเพื่อสันทนาการ ผมคิดว่าข้อมูลเขาคงไม่ถึง แต่ผมยืนยันว่าเราเป็นพรรคการเมือง การที่จะทำกัญชาเสรีก็ทำเพื่อส่วนรวมและทางการแพทย์ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำเพื่อความเฮฮา เพื่อสันทนาการ หรือเอาไปปุ๊นกันตามถนน ซึ่งสิ่งแรกที่เราต้องทำคือปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด และต้องผลักดันให้มีกฎหมายที่ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างเสรี เป็นพืชวิสาหกิจชุมชน ทุกอย่างมีขั้นตอนที่ต้องทำ ยืนยันว่าเราต้องได้เห็นปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นอย่างแน่นอน เพราะพรรครู้มาตลอดว่านโยบายนี้ทำให้พรรคได้รับโอกาสเข้ามาในสภาครั้งนี้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีพรรคภูมิใจไทยสมัยหน้า ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในส่วนพรรคภูมิใจไทยต้องทำนโยบายกัญชาเสรีให้ได้ก่อน” นายอนุทินกล่าว 
    เมื่อถามถึงความคืบหน้าการทำจัดนโยบายรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ไม่มีปัญหาหรือข้อโต้แย้ง อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็พูดถึงเรื่องกัญชาในเชิงสนับสนุน และขอให้ใช้อย่างระมัดระวัง พิสูจน์ให้เห็นว่ามีประโยชน์จริงๆ และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้จริงๆ ตนฟังแล้วรู้สึกดีใจว่าผู้นำรัฐบาลได้แสดงวุฒิภาวะ ให้การสนับสนุน และให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล แบบนี้คนทำงานก็มีกำลังใจ ซึ่งตนก็พร้อมสั่งงานต่อว่านายกฯ ให้การสนับสนุน ในกรอบของท่านก็ถือว่าพอแล้วในการเริ่มต้นแบบนี้ 
    ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยไม่มีวาระงานใดๆ ขณะที่เมื่อเวลา 07.40 น.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพปชร. เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงานตึกบัญชาการ 1 โดยพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมง จากนั้นทั้ง 3 คนทยอยออกจากทำเนียบรัฐบาล 
    โดยนายสมคิดกล่าวว่า ไม่มีอะไร แวะมาหาเพราะคิดถึงกัน แวะมาเยี่ยม เพราะไม่ได้พบกันหลายวัน และไม่มีพูดคุยเรื่องนโยบายรัฐบาล เพราะยังไม่รู้ว่าใครจะมาตรงไหนอย่างไร เพราะตนไม่ได้เกี่ยวข้องการจัดสรรเก้าอี้ นายกฯ เป็นคนจัดสรร 
    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวว่า มาพบนายสมคิด เพราะไม่ได้เจอนานแล้ว ส่วนร่างนโยบายของรัฐบาล ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ไม่สามารถทำได้ทันทีนั้น เราได้ชี้แจงตั้งแต่ตอนประกาศนโยบายดังกล่าวแล้วว่าจะทยอยขึ้น-ไม่ขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด และต้องขึ้นพร้อมกับการพัฒนาทักษะ เพราะเราเห็นประสบการณ์ตอนมีการทำค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พอขึ้นพร้อมกันทีเดียวมันชอร์ต อีกทั้งตอนนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี ดังนั้น เราจะไม่ทำแบบตอนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแน่ การขึ้นครั้งเดียวจะทำให้ปรับตัวยาก จะทำให้เกิดปัญหาในจังหวัดเล็ก ขณะเดียวกัน ตอนมีการทำค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เขามีการมาตรการเสริมกว่า 10 อย่าง เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวได้ เพราะถ้าให้ค่าแรงสูงเกินไปจะไม่มีคนจ้าง
    นายกอบศักดิ์กล่าวว่า นโยบายของรัฐจะมี 2 อย่าง คือ 1.ทำในปีแรก ซึ่งนโยบายเร่งด่วนจะมีอยู่ในปีแรก และ 2.นโยบาย 4 ปี ซึ่งนโยบายดูแลแรงงานจะอยู่ในระยะนี้ เราไม่ได้บอกว่าจะไม่ทำ เพียงแต่บอกว่าจะขึ้น 400-425 บาท ทันทีเลยไม่ได้ แต่นั่นเป็นเป้าหมายของเราจะทยอยขึ้นเป็นขั้นบันได ส่วนค่าแรงขั้นต่ำจะเริ่มทีเท่าไรนั้น ขอคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลในสัปดาห์นี้ก่อน ส่วนที่มีข่าวว่าจะนำนโยบายฝ่ายค้านมาด้วยนั้น กำลังพิจารณากันอยู่ ร่างนโยบายรัฐบาลเกือบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสรุปวันไหนนั้น จะแจ้งให้ภายในวันที่ 10 ก.ค. เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลดูเรียบร้อยแล้ว แน่นอนจะส่งให้นายกฯ ได้พิจารณา แต่รับรองการร่างนโยบายทันก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแน่นอน
    เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องมีการหารือกันก่อน ส่วนกระแสข่าวว่าจะมานั่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ต้องถามนายกฯ แต่มั่นใจไม่ใช่ตนแน่
10 พรรคเล็กขอแจมนโยบาย
     ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอทีฯ 10 พรรคเล็กร่วมรัฐบาลแถลงข่าวเสนอนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ หัวหน้าพรรคประชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่ 10 พรรคการเมืองได้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อรัฐบาลต้องร่างนโยบายทางกลุ่ม 10 พรรคการเมือง จึงขอเสนอนโยบายของแต่ละพรรค เพื่อให้นำไปอยู่ในร่างนโยบายของรัฐบาลด้วย โดยทั้ง 10 พรรคจะเข้าร่วมหารือถึงการจัดทำร่างนโยบายกับพรรคแกนนำที่นัดประชุม ในวันที่ 11 ก.ค. เวลา 19.00 น. ที่บริษัท ทีโอทีฯ  
         ขณะที่นายณัฏฐพลกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทั้ง 10 พรรคนำเสนอนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคแกนนำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และหวังว่าการนำเสนอนโยบายจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกัน
    ด้านนายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า เรื่องนี้ต้องทำเป็น 3 ขั้นตอน คือ ให้พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันทำ โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนหลัก ตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว ขั้นที่ 2 ให้ผู้แทนของรัฐบาลลงไปพิจารณา ซึ่งจะเกิดเมื่อประกาศจัดตั้ง ครม.แล้ว รัฐมนตรีที่มาจากพรรคต่างๆ จะลงไปดู และขั้นที่ 3 นำเข้าที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบ โดยการประชุม ครม.เป็นเพียงการพิจารณาร่างนโยบายเท่านั้น ไม่มีเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จากนั้นส่งสภา ขั้นนี้จะเกิดได้เมื่อถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว และเรื่องนี้ได้อธิบายซักซ้อมกับวิปรัฐบาลแล้ว ส่วนวันใด เมื่อไรนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ขอเวลาพิมพ์ 2-3 วัน และต้องส่งสภาให้ดูล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน จากนั้นรอประธานรัฐสภานัดมา
    นายวิษณุกล่าวถึงกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรค พปชร. เคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาให้จำคุก และรัฐบาลไทยทำเรื่องขอโอนตัวในสถานะนักโทษยาเสพติด จะมีผลกระทบเรื่องคุณสมบัติหรือไม่หากมีชื่อเป็นรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีผลในส่วนของคุณสมบัติว่าเคยต้องคดี แต่ในเรื่องของความประพฤติ การทุจริต มาตรฐานทางจริยธรรมเหล่านี้ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่มีเกณฑ์ชี้วัดอย่างชัดเจน ในอดีตเคยมี ส.ส.ต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ กรณีขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง ตรงนั้นไม่มีผลกระทบอะไรในส่วนของไทย แต่จะกระทบเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ และอะไรหลายอย่าง อาจจะเป็นข้อห้ามอีกแบบหนึ่ง แต่จะเอาข้อหานั้นตรงๆ มาใช้ไม่ได้ แม้ข้อหาอาจจะตรงกัน แต่ศาลไทยไม่ได้เป็นผู้ตัดสิน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเคยถูกไล่ออกจากราชการแล้วได้รับกลับคืนในเวลาต่อมา จะมีผลต่อคุณสมบัติรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่ว่าถูกไล่ออกจากราชการเพราะอะไร หากถูกไล่ออกเพราะทุจริตนั้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่กรณีทุจริตไม่เป็นไร โดยเฉพาะเมื่อกลับเข้ารับราชการแล้วยิ่งต่อมาได้ความดีความชอบ ทำให้มีอะไรขึ้นไปอีก ส่วน ร.อ.ธรรมนัสไม่เคยมาปรึกษา ตนยังไม่รู้เลยคนไหน หน้าตาเป็นอย่างไร
    เมื่อถามว่า หากมีการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีไปแล้วเกิดมีปัญหาภายหลัง จะเกิดผลอย่างไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ว่าอะไร หรือใครก็ตาม เมื่อพบว่ามีปัญหาก็ต้องจัดการ ทำให้ถูกต้อง หรือมิฉะนั้นก็ต้องพ้นไป เรื่องนี้ต้องแยกให้ออกระหว่างการตรวจสอบไม่ดี กับเป็นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น ถ้าตรวจสอบไม่ดีผู้มีหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าตรวจสอบดีแล้ว แต่เป็นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือเพิ่งถูกตีความก็ว่ากัน ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัสที่มีชื่อเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้รับโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องดูว่าปัจจุบันยังทำอยู่หรือไม่ ตนไม่รู้ ถ้าทำมาตั้งแต่ในอดีตไม่เป็นไร แต่ถ้ายังทำอยู่จะมีปัญหา
สภาเป็นเวทีล้มรัฐบาล
    ทางด้านฝ่ายค้าน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมในการจัดทำนโยบายรัฐบาล ยอมรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 425 บาท ยังไม่สามารถทำได้ ต้องยกระดับฝีมือแรงงานก่อน ว่า ประชาชนตั้งคำถามและรู้สึกผิดหวัง ตอนหาเสียงบอกว่านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำทันที แต่พอเป็นรัฐบาลกลับทำไม่ได้และสร้างเงื่อนไข ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานก่อน หาเสียงอย่างตอนทำกลับไปทำอีกอย่าง เข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงเพื่อให้ได้คะแนนหรือไม่ ถือเป็นการตระบัดสัตย์ ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรมของพรรคการเมือง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่แย่และไม่ถูกต้องให้กับการออกนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองหรือไม่ กกต.ต้องวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
      นายอนุสรณ์กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์  เตือนฝ่ายค้านอย่าใช้สภาล้มรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเข้าใจในหลักการทำงานของสภา หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแม่น้ำ 5 สาย หรือแม้แต่ ส.ว.ที่มีที่มาจากคนเพียงไม่กี่คน เมื่อผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นหลักการพื้นฐานปกติ ส.ส.ไม่ควรไปพายเรือให้ใครนั่ง แต่ต้องยึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง รัฐบาลจะล้มหรือไม่ล้ม อยู่ที่ตัวรัฐบาลเองว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและนำพาประเทศก้าวข้ามพ้นวิกฤติด้านต่างๆ ได้หรือไม่ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจหลักการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ก็ให้ไปศึกษาเพิ่มเติม 
          นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ ประยุทธ์พูดกระทบมาถึงพรรคฝ่ายค้าน อย่าใช้เวทีสภาล้มรัฐบาล และให้เลิกตีรวนเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสู่สภาว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของสภา ซึ่งเป็นที่รวมของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สภาคือสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนทางนิติบัญญัติ เป็นเวทีให้กำเนิดนายกฯ และขณะเดียวกันก็พร้อมจะเป็นเวทีล้มนายกฯ และคว่ำรัฐบาล ในการควบคุมรัฐบาลโดยสภานั้น มาตรการที่เข้มข้นและรุนแรงที่สุด คือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งก็คือการล้มรัฐบาล หากนายกฯ และรัฐมนตรีบริหารงานล้มเหลว ใช้อำนาจไปในทางทุจริต ประชาชนย่อมไม่ต้องการให้บริหารประเทศต่อไป พรรคฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่จัดการเอานายกฯ หรือรัฐบาลนั้นออกไป คือกติกาอันชอบธรรม การรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชนต่างหากที่สมควรถูกประณามและถูกต่อต้าน
    "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นกฎหมายที่สำคัญเพราะใช้เงินภาษีของประชาชนเป็นล้านๆ บาท พรรคฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เป็นหูเป็นตา เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ไม่มีซูเอี๋ยหรือเกรงใจนายกฯ หรือรัฐมนตรีอย่างเด็ดขาด การอภิปรายและการลงมติต่างๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์อย่าห่วงว่าฝ่ายค้านจะตีรวน แต่ให้ระวังขนดหางไว้ให้ดี รัฐบาลซึ่งเปรียบเหมือนงูฉ้อฉลอำนาจ แย่งชามข้าวกันไม่เลิกทำให้ประชาชนเดือดร้อน ก็จะถูกฝ่ายค้านตีขนดหาง จนเลื้อยไปไหนไม่ได้ จึงขอเตือนให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปควบคุม ครม.จากรัฐบาล 19 พรรคให้ดีก็แล้วกัน เดี๋ยวจะหาว่าพรรคฝ่ายค้านไม่บอก" นางลดาวัลลิ์กล่าว 
คืบหน้าหน้าคดี "ธนาธร"
    ขณะเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค และ ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมืองหลวงของสหภาพยุโรป โดยได้พบปะกับนักการเมืองและข้าราชการของสหภาพยุโรป เพื่อติดตามและแลกเปลี่ยนกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกท่ามกลางภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยหลังเลือกตั้ง และแสวงหาความร่วมมือในอนาคตเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรป
    ในการเดินทางเยือนกรุงบรัสเซลส์ครั้งนี้ นายธนาธรและคณะได้พบกับนายอลิน สมิธ สมาชิกรัฐสภายุโรป และหนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของรัฐสภายุโรป หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กับสมิธได้พูดคุยกันถึงผลการเลือกตั้งในไทยและรายงานความผิดปกติเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง โดยสมาชิกรัฐสภายุโรปยืนยันว่าสหภาพยุโรปจะนำเรื่องความชอบธรรมและเสถียรภาพของรัฐบาลไทยหลังเลือกตั้ง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน มาพิจารณาก่อนที่จะเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างอียูกับไทย ซึ่งหยุดชะงักมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557
    นอกจากนี้ นายธนาธรและทีมอนาคตใหม่ยังได้พบกับลอทเทอร์ ลิชท์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำยุโรป ในการพบกันครั้งนี้ ลิชท์และนายธนาธรได้แสดงความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของข่าวปลอมและวาทะสร้างความเกลียดชังในโซเชียลมีเดียในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย ซึ่งบ่อยครั้งการรับมือกับข่าวปลอมเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เนื่องจากหากรัฐบาลหรือบริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเลือกรับมือปัญหานี้ด้วยการไล่ลบข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ก็อาจกลายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ได้
    ลิชท์ยังกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในไทยหลังเลือกตั้งว่า สิ่งสำคัญที่รัฐสภายุโรปต้องตระหนักก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่การกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และไม่สามารถยอมรับได้ ประชาธิปไตยจะมีความหมายได้อย่างไรถ้าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองและสิทธิในการชุมนุม ไม่ได้รับการปกป้อง
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ ในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณารับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่ได้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 ก.ค. รวม 70 หน้า และเอกสารประกอบการชี้แจง  50 รายการ 200 หน้า กรณีถูก กกต.กล่าวหาว่าถือครองหุ้นบริษัท วี- ลัค มีเดีย จำกัด ทำให้อาจขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และให้มีการส่งสำเนาคำชี้แจงทั้งหมดให้กับ กกต. ในฐานะผู้ร้องเพื่อให้พิจารณาและชี้แจงกลับมาว่ามีข้อคัดค้านใดในคำชี้แจงของนายธนาธรหรือไม่ โดยให้ กกต.ชี้แจงกลับมาภายใน 15 วัน รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปสรุปประเด็นคำชี้แจงพร้อมทั้งความเห็นนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ  
    ซึ่งหลังจากศาลได้รับข้อมูลทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายของธนาธร, ฝ่ายของ กกต. และฝ่ายวิชาการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะได้มีการกำหนดแนวทางในการพิจารณาคดีต่อไป    
    นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงเรื่องคุณสมบัตินายกฯ ว่า ตนไม่ขอออกความเห็น เพราะเรื่องอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด เพราะเรื่องนี้พูดกันเยอะแล้ว และรัฐบาลไม่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติและตุลาการ พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเรื่องไม่ที่ศาลแล้วถือว่าเป็นการดี ส่วนที่พรรคฝ่ายค้านจะหยิบเรื่องนี้มาอภิปรายก็ไม่ว่าอะไร รอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"