ชาวนาสุดระทม แล้งวิกฤติหนัก! หวดผวจ.เร่งแก้


เพิ่มเพื่อน    

 มท.สั่งด่วนผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเร่งแก้ภัยแล้ง ใช้งบช่วยภัยพิบัติจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยให้ชัดเจน ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมิน ศก.สูญเสียไม่ต่ำกว่า 1.5หมื่นล้านบาท ชาวนาขอนแก่นทำใจปล่อยข้าวยืนต้นตาย!

    เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จนถึงปัจจุบันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อห่วงใยถึงสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลในการทำฝนเทียมเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและบูรณาการร่วมกับฝ่ายพลเรือนในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด 
    ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในระยะเร่งด่วน โดยให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยติดตามสภาวะอากาศและการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา สสน. กรมชลประทาน และหน่วยทหารในพื้นที่ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในการบูรณาการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจและจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยให้ชัดเจน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่เข้ามาสนับสนุนในพื้นที่ รวมทั้งเครื่องจักรกลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และหน่วยทหาร เพื่อจัดรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพิ่มปริมาณน้ำดิบในการผลิตเป็นน้ำประปาให้เพียงพอ และแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน รวมทั้งบรรจุในภาชนะเก็บกักน้ำกลางประจำหมู่บ้าน 
    ปลัด มท.กล่าวว่า หากพื้นที่ใดประสบความเสียหายจากกรณีภัยแล้งฝนทิ้งช่วง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน และถ้าเป็นความเสียหายด้านการเกษตร ให้จำแนกความเสียหายเป็นพื้นที่ประเภท เช่น นาข้าว พืชสวน พืชไร่ หากพื้นที่ใดมีข้อจำกัดวงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอ ให้รายงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากกรณีภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง สามารถติดต่อแจ้งสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
    ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องรุนแรงในรอบสิบปี เพื่อไทยขอเรียกร้องให้ 1.ตั้งวอร์รูมอย่างเร่งด่วน 2.เร่งประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 3.ชดเชยพี่น้องเกษตรกร และ 4.ต้องแก้ไขปัญหาบูรณการอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทำแบบลูบหน้าปะจมูก
    ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลในปี 2562 (พ.ค.-ก.ค.2562) ได้ส่งผลกระทบต่อความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก จากอิทธิพลของเอลนีโญกำลังอ่อนที่ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและมีภาวะฝนน้อยน้ำน้อย พิจารณาได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิตพืชเกษตรหลักอย่างข้าวนาปีที่ได้ปลูกไปแล้ว ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้นได้ในช่วงนี้ 
    "ผลกระทบจากภัยแล้งนอกฤดูกาลในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราวร้อยละ 0.1 ของจีดีพี นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลที่อาจลากยาวได้อีกในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2562 ที่อาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งอาจส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
    ที่ จ.พิจิตร นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า พื้นที่ทำนาเกือบ 2 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานประมาณ 3 แสนไร่เศษ รวมถึงพื้นที่ปลูกไม้ผล พืชไร่ และอื่นๆ ที่ขณะนี้เริ่มส่อเค้าว่ามีปัญหา ประสบกับปัญหาภัยแล้ง โดยพบว่าสภาพน้ำในเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำเพียงกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้แค่เพียง 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งอยากฝากบอกพี่น้องเกษตรกรว่า ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ทั้งนี้ ได้สั่งการด้านบุคลากรและเตรียมอุปกรณ์รถแจกจ่ายน้ำไว้พร้อมแล้ว 
    ที่ จ.หนองคาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ล่าสุดมีระดับเพียง 1.54 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งถึง 10.68 เมตร ซึ่งส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งโขง โดยเฉพาะที่ตำบลหาดคำ อ.เมืองฯ ที่ชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่ประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขง ช่วงนี้จับปลาได้น้อยต้องจอดเรือแล้วไปทำนา และรับจ้างใช้แรงงานในตัวเมือง
    ที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวขอนแก่นอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวในเขต อ.น้ำพอง ที่ต่างพากันยืนดูต้นข้าวยืนต้นตายจากน้ำที่ไม่มีนำมารดต้นข้าวในที่นาของตัวเอง
    นายไพรวัลย์ นิเทียนสี อายุ 53 ปี ชาวบ้านหนองโพธิ์ ม.4 ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง กล่าวว่า ตั้งแต่เล็กจนโตมาถึงปัจจุบัน ครอบครัวทำนามาทั้งชีวิต แต่ปีนี้ไม่มีฝนตกลงมา แล้งที่สุดกว่าทุกปี ข้าวที่หว่านไว้แห้งตายเป็นหย่อมๆ แม้ว่าตัวเองจะมีที่นาอยู่ติดคลองซอยของชลประทาน แต่ไม่เคยมีน้ำไหลมาถึง ปีนี้ทราบว่าชลประทานที่ 6 จะระบายน้ำมาให้ชาวนาในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ก็เตรียมตัวว่าจะไปตั้งเครื่องสูบน้ำ รอสูบเอาน้ำจากคลองชลประทาน ส่งมาตามคลองซอยมาใส่ในนาข้าวตัวเอง แต่เชื่อว่าน้ำที่ปล่อยมาคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำใจปล่อยให้ข้าวตายหากไม่มีน้ำเข้ามา แล้วก็รอรับการเยียวยาจากรัฐบาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"