เพื่อไทยแหกตา ลดาวัลลิ์เครียด! ฆ่าตัวตายสูงลิ่ว


เพิ่มเพื่อน    

 ลืมแล้วชาวนาผูกคอตาย "ลดาวัลลิ์"  เครียดมาก คนมีหนี้สินมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง อ้าง 5 ปีสถิติสูงลิ่วจนน่าตกใจ รัฐบาลหลอกลวงบอกว่าเศรษฐกิจดี เปิดสถิติเพื่อไทยแหกตา ฆ่าตัวตายสูงลิ่วสมัยนายกฯ ชื่อทักษิณ ส่วนยุคยิ่งลักษณ์ น้ำท่วม-หนี้ชาวนา ก็คิดสั้นกันไม่น้อย

    เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า ในฐานะเป็นนักการเมืองที่ทำงานเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม เด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัวกลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ใช้แรงงาน รู้สึกเครียดมากเมื่ออ่านข่าวกรณีแพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า ผู้ที่มีภาระหนี้สินมีความเสี่ยงสูงในการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2560 มี 10.8 ล้านครัวเรือนที่มีหนี้สิน คิดเป็น 57% ของ 21 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ เฉลี่ย 1 ครัวเรือน มีหนี้ 178,994 บาท
         "การฆ่าตัวตาย อันเกิดจากปัญหาหนี้สินถูกตามทวงหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นภัยเงียบ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละครอบครัว โดยที่คนอื่นไม่ได้รับรู้ และไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลืออะไรได้ มาทราบข่าวอีกทีก็เมื่อตกเป็นข่าวว่ามีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นแล้ว"
    รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถิติการฆ่าตัวตายมีจำนวนสูงขึ้นมากจนน่าตกใจ จะบอกว่าเศรษฐกิจดี ก็เหมือนเป็นการหลอกลวง ไม่มีใครเชื่อ รัฐบาลมีหน้าที่ในการแก้ไขและหาทางป้องกัน เพื่อลดสถิติการฆ่าตัวตายลงให้ได้ หน่วยงานรัฐทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ต้องลงไปให้ถึงก้นครัว เพื่อสำรวจว่ามีครอบครัวใดกำลังหมดหนทางในการเผชิญภาระหนี้สินล้นพ้นตัว จนต้องคิดสั้นจะฆ่าตัวตายเพื่อยับยั้งมิให้เกิดเหตุร้ายอันน่าเศร้าสลดขึ้น
     นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า ทุกกลางเดือนและต้นเดือน มีข่าวทางสื่อสารมวลชนว่ามีผู้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เป็นเงินหลายสิบล้านบาท ผู้ที่เป็นเศรษฐีรายใหม่ไม่ได้มีส่วนที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้มีหนี้สินรุงรังที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องกัน รวมไปถึงมหาเศรษฐีของเมืองไทยที่ร่ำรวยหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท ใช้จ่ายไม่รู้กี่สิบชาติก็ไม่หมดตนอยากขอวิงวอนให้คนเหล่านี้ได้ยื่นน้ำใจไมตรีเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนพี่น้องร่วมชาติที่มีอยู่จำนวนมาก ที่ยากจนไม่มีกินไม่มีใช้ และกำลังจะอำลาโลกเพราะหาทางออกไม่ได้ มีแต่หนี้สินล้นพ้นตัว
เปิดสถิติฆ่าตัวตาย
          เธอบอกว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้าน ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาทางสังคมไม่น้อยกว่าการแก้ไปเศรษฐกิจและการเมือง จะพยายามทำหน้าที่กระทุ้งและเสนอแนะรัฐบาล ให้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และต้องลดจำนวนการฆ่าตัวตายหนีหนี้ลงให้ได้ และที่สำคัญ รัฐบาลต้องจัดทำนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนมีรายได้เลี้ยงชีพอย่างยั่งยืน คือ การช่วยเหลือให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ เหมือนนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว
    ทั้งนี้ สถิติจากกรมสุขภาพจิตพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยไม่ได้เป็นไปอย่างที่นางลดาวัลลิ์เผย เพราะพบว่าตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงมากคือช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ จนถึงปี 2548 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และที่สูงที่สุดคือปี 2542 ต่อประชากร 1 แสนคน จะมีคนฆ่าตัวตาย 8.59 คน และปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลนายทักษิณถูกรัฐประหาร กลับเป็นปีที่มีสถิติการฆ่าตัวตายต่ำที่สุดคือ  5.77 ต่อ 1 แสนคน  
    จากนั้นสถิติการฆ่าตัวตายเริ่มมากขึ้นอีกครั้งในปี 2554 จากเหตุน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.03 ต่อ 1 แสนคน จากนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะลดลงในปี 2560 กลับไปเท่ากับปี 2554 สำหรับปี 2561 กลับสูงขึ้นมาอีกครั้งที่ 6.32 ต่อ 1 แสนคน แต่ทั้งหมดนี้ต่ำกว่ายุครัฐบาลนายทักษิณ ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8  ต่อ 1 แสนคน
    ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย  เผยว่า สถานการณ์ของไทยขณะนี้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวได้ดับสนิทอย่างสิ้นเชิงแล้ว เครื่องยนต์ตัวสุดท้ายที่เป็นความหวังของรัฐบาลคืออีอีซี (Eastern Economic Corridor) ที่รัฐบาลตั้งความหวังว่าจะใช้เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจของไทยก็ดับลงแล้วเช่นกัน
    เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 4 ตัว ได้แก่ (1) การส่งออกที่เคยประมาณการว่าปี 2562 จะเติบโต 0% แต่ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าการส่งออกครึ่งปีแรกกลายเป็นติดลบ 4.1% (2) การบริโภคภายในไม่ต้องพูดถึง เพราะรัฐบาลประยุทธ์ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นคนจนถ้วนหน้าไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ดูจากการขึ้นทะเบียนคนจนและหนี้ครัวเรือน (3) การท่องเที่ยวปีนี้จะหดตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงการที่เงินบาทแข็งค่ายิ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาไทย แต่คนไทยจะไปเที่ยวต่างประเทศแทน (4) เครื่องยนต์ตัวสุดท้ายคือการลงทุนซึ่งรัฐบาลตั้งความหวังไว้ เพราะในปี 2561 มีตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอรวม 887,470 ล้านบาท รัฐบาลหวังว่าหากมีคนนำเงินมาลงทุนจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยให้เงยหัวขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีนักลงทุนนำเงินมาลงทุน จึงทำให้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจออกมาร้องคร่ำครวญขอความเมตตาจากนักลงทุนอย่าหนีประเทศไทยตามที่เป็นข่าว
เจ๊งเพราะรัฐประหาร
    การที่ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 สูงที่สุดในรอบ 5 ปีนับแต่มีการยึดอำนาจ ทำให้พลเอกประยุทธ์และรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจเอาไปคุยโตว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล คสช.แล้ว แต่ความจริงเกิดจากนักลงทุนมีความหวังว่าการเลือกตั้งในต้นปี 2562 คงจะมีการเปลี่ยนแปลงได้รัฐบาลใหม่มาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ สุดท้ายด้วยอภินิหารของรัฐธรรมนูญและกระบวนการโกงที่สุมหัวกันทำขึ้นจนได้รัฐบาลหน้าเดิมอีก จึงทำให้ประชาชนและนักลงทุนหมดหวังกับประเทศ
    สาเหตุที่นักลงทุนหนีประเทศไทยเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ สงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวจึงชะลอการลงทุน สงครามการค้าครั้งนี้จะยืดเยื้ออย่างน้อยอีกสองปี จนกว่าสหรัฐจะเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จในปลายปีหน้า การประท้วงในฮ่องกง ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น และอินเดียกับปากีสถาน ทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่น่าเศร้าคือรัฐบาลยังไม่เคยมีมาตรการใดๆ ที่จะป้องกันหรือแก้ไขผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว นายกรัฐมนตรียังไม่รู้ร้อนรู้หนาวสร้าง แถมยังภูมิใจกับการตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
    ส่วนปัจจัยภายในคือความไม่เชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อรัฐบาลที่มีคะแนนเสียงที่ปริ่มน้ำ ตัวนายกฯ และทีมเศรษฐกิจเป็นชุดเดิมที่บริหารล้มเหลวมา 5 ปีแล้วไม่ทำให้คนเกิดความหวัง แย่ไปกว่านั้นคือการที่พลเอกประยุทธ์ที่นำ ครม.ถวายสัตย์ฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้ประชาชนและนักลงทุนไม่มั่นใจว่ากิจการที่รัฐบาลได้ทำไปจะเป็นโมฆะหรือไม่ ยิ่งทำให้ประชาชนและนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ผลกระทบที่ตามมาคือประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และนักลงทุนไม่กล้าลงทุน นั่นคือหายนะของประเทศ
    พลเอกประยุทธ์และรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจตั้งความหวังไว้กับอีอีซีสูงมาก เพราะเป็นทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ เนื่องจากเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ดับสนิทไปนานแล้ว ดังนั้น ทางรอดของรัฐบาลประยุทธ์จึงเหลือทางเดียว การกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ทำมาแล้ว 5 ปี เพื่อรอความล้มเหลวในปีที่ 6 และปีต่อๆ ไปตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ยังด้านอยู่ต่อแล้วทิ้งหนี้สินไว้ให้กับประชาชนเป็นผู้ชดใช้ แต่ไม่ใช่ทางรอดของประเทศชาติและประชาชน พรุ่งนี้ผมจะเล่าให้ฟังว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้นายกทักษิณทำอย่างไรถึงพาประเทศรอด
    ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก จึงได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นเสาหลักของความมั่นคงประเทศ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำว่าจะต้องเร่งดูช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีถึง 40% หรือ 26.9 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แต่กลับอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่น 
"บิ๊กตู่"จะไปสุรินทร์
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยจะ 1.สานต่อนโยบายเกษตรประชารัฐซึ่งเป็นแนวทางเกษตรยั่งยืนด้วยมาตรการ 3 เพิ่ม 3 ลด 2.ตั้งกองทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เอกชนและชุมชนร่วมทุนกัน ใช้เป็นกลไกการเงินของชุมชน 3.ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความหลากหลาย 4.เสริมความแข็งแกร่ง SMEs รายเล็กๆ ด้วยการเติมทุน เติมทักษะ เติมรายได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุน เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ การขยายสิทธิบัตรสวัสดิการไปยังกลุ่มอื่น รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากด้วย คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเร็วๆ นี้
    "นายกรัฐมนตรีใส่ใจในเรื่องนี้มาก โดยพบว่าการบริหารประเทศในอดีตเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาค ที่มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ดังนั้น เป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจฐานรากคือ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเรื่องสังคม ผู้คน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ"
    นอกจากนี้ ปัญหาของชาวนาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีรากของปัญหา เช่น การถูกกดราคา กฎหมายและตลาดไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย ภัยธรรมชาติ ต้นทุนสูง ไม่มีที่ดินของตนเอง ขาดความรู้ มีภาระหนี้สิน ฯลฯ จึงต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอ ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกัน
    นางนฤมลเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ จ..สุรินทร์ ซึ่งมีรายงานว่า รพ. สุรินทร์ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขและให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีแผนจะลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนที่ จ.สุรินทร์และบุรีรัมย์ในเร็วๆ นี้ 
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนที่ จ.สุรินทร์ ได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำอำปึล-ลำห้วยกระดาษ-อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง 0.50 ล้าน ลบ.ม. ขุดร่องชักน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเข้าสู่จุดสูบประปา 26,400 ลบ.ม./วัน ผันน้ำจากบ่อหินเข้าคลองบ้านตรม ลงคลองธรรมชาติที่เชื่อมต่อกับห้วยเสนง ปริมาณน้ำต้นทุนบ่อหิน 20 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่ จ. บุรีรัมย์ กำลังเร่งเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ออกปฏิบัติการฝนหลวง และพิจารณาเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่ม เป็นต้น
    "นายกรัฐมนตรีกำชับให้กองทัพบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้" โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"