สนช.โหวตกม.ลูก2ฉบับฉลุย


เพิ่มเพื่อน    

  จับตา สนช.ถกร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ “พรเพชร” ยันไม่มีเหตุผลที่สมาชิกจะลงมติคว่ำ ส่งซิก  พรบ.ส.ว.อาจต้องส่งให้ศาล รธน.ตีความขัด รธน.หรือไม่  กมธ. 3 ฝ่ายขอทบทวน 2 กฎหมายลูกก่อน สนช.โหวต  หวั่นเจอยื่นตีความหลังประกาศใช้ "ไพบูลย์" ยื่น คสช.ขอประชุมพรรคแล้ว แพลมมีนายทหารยศ พล.อ. ร่วมด้วย 

    ในวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งให้นัดประชุม สนช.ครั้งที่ 13/2561 โดยมีระเบียบวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง สนช., คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยจะเริ่มประชุมในเวลา 10.00 น.
    สำหรับขั้นตอนที่ประชุม สนช.จะเปิดโอกาสให้ กมธ.แต่ละฝ่ายอภิปราย จากนั้นจะเป็นการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยเป็นการโหวตทั้งฉบับ ทั้งนี้ หาก สนช.จะลงมติไม่เห็นด้วยต้องใช้เสียง สนช. 2 ใน 3 หรือ 166 เสียงขึ้นไป ขณะเดียวกัน หากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ประชุม สนช.เห็นชอบ จะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรี และพักไว้ 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ยกเว้นแต่จะมีการส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะส่งผลให้นายกฯต้องชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
    ด้านนายพรเพชรกล่าวว่า คาดว่าร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะผ่านการลงมติของที่ประชุม สนช. เพราะไม่มีเหตุที่สมาชิก สนช.จะต้องลงมติคว่ำ เนื่องจากได้ข้อสรุปร่วมกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่ายแล้ว แต่เมื่อผ่านการลงมติอาจมีปัญหาอีกเรื่อง เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ทักท้วงว่ามีหลักการที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมแนะนำให้ สนช.เข้าชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่สมาชิก สนช.จะต้องมาพิจารณาว่าจะเข้าชื่อกันหรือไม่
    "หากมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมก็คาดการณ์เช่นเดียวกันกับนายมีชัยว่าจะไม่กระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง ที่กำหนดไว้ไม่เกินเดือน ก.พ.2562 ซึ่งคาดว่ากระบวนการต่างๆ สามารถทำให้เสร็จสิ้นได้ ในระยะเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 ประเด็นที่กรธ. ทักท้วงว่าร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือกรณีที่แบ่งผู้สมัครออกเป็นสองส่วน จากผู้สมัครโดยอิสระและตัวแทนจากองค์กรต่างๆ อย่างละครึ่งหนึ่ง โดยชี้ว่ารัฐธรรมนูญมีหลักการให้ผู้สมัครโดยอิสระดำเนินการเลือกกันเองทั้งหมด ไม่ได้มีหลักการให้องค์กรต่างๆ มากลั่นกรองตัวผู้สมัครก่อนเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเอง" นายพรเพชรกล่าว
    นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ในวันที่ 8 มี.ค. ก่อนที่จะมีการประชุม สนช.เพื่อลงมติร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เพื่อพิจารณาถึงข้อท้วงติงและห่วงใยในเนื้อหาของกฎหมายที่ถูกมองว่าอาจจะเข้าข่ายขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายฝ่ายให้ความห่วงใย จึงต้องนำมาทบทวนให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง ก่อนจะลงมติโหวตในที่ประชุม สนช. จะได้ไม่เกิดเหตุคว่ำกฎหมายกลางสภา โดยประเด็นที่ กมธ.ร่วม 3ฝ่ายจะหารือกันอีกครั้งก่อนประชุม สนช. ในส่วนร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. คือการตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น ส่วนร่างพ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. คือประเด็นการเขียนบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.มีที่มาจากการสมัครอิสระ และหน่วยงานส่งมา ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการทบทวนแก้ไขเนื้อหาอะไรหรือไม่
    "มั่นใจว่าร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. และคงไม่มี สนช.เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนที่จะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะเท่าที่ดูท่าทีของ สนช. ไม่มีใครติดใจประเด็นเนื้อหาที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเสนอมา แต่ไม่แน่ใจว่าหลังจากที่ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีใครยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะจะมีผู้ที่สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยื่นวินิจฉัยได้มากกว่าเดิม ทั้ง สนช. ภาคประชาชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย" นายวัลลภกล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงที่มีกลุ่มใหม่ๆ ไปจดจัดตั้งพรรคการเมืองกับ กกต.ว่า ยังไม่ได้ดูเรื่องการเมือง และยังไม่ได้สังเกต ต้องรอให้เขาจดจัดตั้งให้ครบก่อน เมื่อถามกรณีบางพรรคที่มีท่าทีสนับสนุน คสช.และหลายพรรคไม่ปิดกั้นการมีนายกฯ คนนอกในอนาคต พล.อ.ประวิตรตอบเสียงสูงว่า “ไม่รู้ ไม่ทราบเลยครับ”
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ได้ส่งหนังสือถึง คสช.ผ่าน กกต. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. เพื่อขอเปิดประชุมพรรคแล้ว ซึ่งคาดว่าปลายเดือน มี.ค.นี้ จะสามารถจัดประชุมพรรคครั้งแรกได้ ขณะที่รายชื่อและจำนวนกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 10 จะต้องมีบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก นายทะเบียน รวมถึงกรรมการบริหาร ทั้งหมดจะชัดเจนในวันที่ประชุมกันครั้งแรก ซึ่งกรรมการบริหารพรรคนั้นจะมาจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ รวมถึงมีอดีตทหารยศ พล.อ. ร่วมด้วย เนื่องจากเราเป็นพรรคของประชาชน และทหารที่เกษียณแล้ว ก็คือประชาชนเหมือนกัน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นหนึ่งในรายชื่อที่เลือกเป็นนายกฯ หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ต้องรอให้พรรคได้ตั้งขึ้นก่อน และเมื่อชัดเจนแล้วสังคมคงจะสะท้อนว่าพรรคประชาชนปฏิรูปจะมีนโยบายอย่างไร และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่เราเห็นว่ามีความซื่อสัตย์ มีความสามารถ เหมาะกับตำแหน่งนายกฯ ต่อไป แม้ตอนนี้คะแนนนิยมจะตก แต่คนจะมองที่ความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเทียบแบบตัวต่อตัวแล้ว คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ดีกว่าทุกคนที่มีชื่อว่าจะเป็นนายกฯ คนต่อไป แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่เราจะเลือกหรือไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติความสามารถ
    เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าถ้าจะเลือกพรรคการเมือง ก็จะดูที่นโยบาย นายไพบูลย์กล่าวว่า อุดมการณ์พรรคประชาชนปฏิรูปมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ปฏิรูปคณะสงฆ์ให้อยู่ในพระธรรมวินัย 2.ปฏิรูปพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยให้มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม เลือกนายกฯ ด้วยระบบคุณธรรม ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความสามารถ เช่น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นต้น และ 3.เพิ่มอำนาจให้ประชาชน โดยจัดตั้งสภาประชาชน มีระบบตรวจสอบอำนาจรัฐในทุกจังหวัด  นอกจากนี้ นโยบายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจและสังคม จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
    นพ.ระวี มาศฉมาดล ผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ตนขอปฏิเสธการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยทางพรรคจะส่งสมาชิกของพรรคลงรับเลือกตั้งทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ และเมื่อพรรคได้คะแนนเสียงเกินกว่า 25 คะแนนในรัฐสภา พรรคก็จะเสนอรายชื่อทั้ง 3 รายชื่อจากคนของพรรคพลังธรรมใหม่เอง แต่หากไม่สามารถได้คะแนนเสียงเกิน 25 เสียง ทางพรรคก็จะเลือกคนดีมีคุณธรรมเข้ามาทำหน้าที่นายกฯ โดยบุคคลนั้นอาจจะใช่หรือไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ ซึ่งพรรคพลังธรรมใหม่จะมีระบบเว็บไซต์เพื่อลงประชามติเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ จากสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อได้การตัดสินใจจากทุกคนในพรรค ในขณะนี้ยังไม่ขอเปิดเผยว่าบุคคลที่จะมาชิงตำแหน่งนายกฯ ของพรรคคือใคร หลังจากนี้อีก 2 เดือน พรรคจะมีการประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค จากนั้นก็จะมีการคัดเลือกบุคคลดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่ม นปช. กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนหน้าใหม่ออกมาตั้งพรรคการเมืองอย่างคึกคักว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ นอกเหนือจากนโยบายเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนแล้ว เรื่องการต่อสู้ในหลักการประชาธิปไตยกับอำนาจระบบเผด็จการจะเป็นกระแสสูง เมื่อถึงตรงนั้น การตัดสินใจของประชาชนจะไม่สามารถมองข้ามประเด็นนี้ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ต้องแสดงจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัดเจน และถ้าพรรคการเมืองใดก็ตามที่แสดงตนชัดเจนว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบรับจากประชาชนส่วนใหญ่. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"