จีน-มาเลเซียตกลงตั้งกลไกแก้พิพาททะเลจีนใต้


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลจีนและมาเลเซียเห็นพ้องจัดตั้งกลไกสานเสวนาร่วมกันเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ขณะประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต อ้างว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเสนอแบ่งเค้กโครงการสำรวจแหล่งพลังงานร่วมกันในเขตพิพาท หากยอมเพิกเฉยต่อคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ปฏิเสธการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ของจีน

หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน (ขวา) จับมือกับไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ระหว่างพบกันที่เรือนรับรองเตียวอวี้ไถในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 / Andrea Verdelli / POOL / AFP

    รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2562 กล่าวว่า ไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียได้พบกับหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่กรุงปักกิ่งในวันเดียวกันนี้ ระหว่างการแถลงข่าวร่วม หวังเปิดเผยว่าความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ลดลงแล้วในปีนี้ จีนและประเทศชายฝั่งทะเลจีนใต้ต่างทุ่มเทกับการจัดการปัญหาในทะเลจีนใต้อย่างเหมาะสมและร่วมกันรักษาสันติภาพและเสถียรภาพที่นั่น

    หวังกล่าวอีกว่า เพื่อให้บรรลุจุดหมายดังกล่าว จีนและมาเลเซียเห็นพ้องกันว่าจะจัดตั้งกลไกปรึกษาหารือทวิภาคีเพื่อคลี่คลายประเด็นปัญหาทางทะเล เพื่อเป็นแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการสานเสวนาและความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย

    ด้านอับดุลลาห์กล่าวว่า กลไกนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่จะหารือรายละเอียดกันต่อไป

    ที่ผ่านมากองทัพเรือจีนส่งเรือมาป้วนเปี้ยนภายในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทหลายครั้ง เพิ่มความตึงเครียดกับประเทศริมชายฝั่งที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน และไต้หวัน รอยเตอร์กล่าวว่า มาเลเซียเคยวิจารณ์การดำเนินการของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ช่วงไม่นานมานี้ เสียงวิจารณ์ของมาเลเซียอ่อนลง โดยเฉพาะเมื่อจีนทุ่มเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

    เดือนที่แล้ว โมหะหมัด ซาบู รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซีย เคยกล่าวกับรอยเตอร์ว่า มาเลเซียคอยติดตามเรือของกองทัพเรือและหน่วยป้องกันชายฝั่งของจีนที่เข้าน่านน้ำอาณาเขตของมาเลเซีย แต่จีนเคารพมาเลเซียและไม่ได้ทำสิ่งใดที่สร้างปัญหาจนถึงขณะนี้

    จีนยังเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศที่แบกหนี้ก้อนโตอย่างมาเลเซีย และ 2 ประเทศยังมีความใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรมด้วย

    เมื่อเดือนกรกฎาคม จีนและมาเลเซียตกลงรื้อฟื้นโครงการสร้างทางรถไฟทางภาคเหนือของมาเลเซียที่ถูกระงับไปนาน 1 ปี หลังจากรัฐบาลทั้ง 2 เห็นชอบการลดทุนโครงการลงเกือบ 1 ใน 3 เหลือประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์

    อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์รายงานคำข้อมูลจากสำนักงานประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ของฟิลิปปินส์ เมื่อวันพุธ ว่าดูเตร์เตได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมระหว่างเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ระหว่างการเยือนปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าประธานาธิบดีสีได้แจ้งระหว่างการประชุมกันว่า หากฟิลิปปินส์เพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อปี 2559 จีนก็จะยอมให้ฟิลิปปินส์ได้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการพัฒนาแหล่งทรัพยากรใต้ทะเลที่รีดแบงก์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (อีอีซี) ของฟิลิปปินส์

    ดูเตร์เตอ้างคำพูดของสีว่า ขอให้ฟิลิปปินส์ปล่อยวางการอ้างสิทธิ์แล้วอนุญาตให้บริษัทของจีนเข้าไปสำรวจแหล่งนั้น และหากสำรวจพบสิ่งใด บริษัทของจีนรับปากว่าจะมอบส่วนแบ่งให้ฟิลิปปินส์ 60% ส่วนพวกเขาจะขอไว้เพียง 40%

    หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวตอบคำถามเมื่อวันพุธ โดยปฏิเสธจะเผยรายละเอียดเกี่ยวกับคำสนทนาระหว่างสีกับดูเตร์เต บอกเพียงว่าสีกล่าวย้ำว่าความร่วมมือกันจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการสำรวจทรัพยากรใต้ทะเล

    ดูเตร์เตไม่ได้บอกว่าเขายอมรับข้อเสนอของสีหรือไม่ แต่เขากล่าวว่า บางส่วนของคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับอีอีซีที่เป็นประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์นั้น รัฐบาลของเขาจะเมินเฉยเสียเพื่อให้เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"