'ทรัมป์' ยืนยัน ยังไม่อยากทำสงครามกับอิหร่าน


เพิ่มเพื่อน    

แตะเบรกหัวทิ่ม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เสียงอ่อนลงในวันจันทร์ ระบุอิหร่านน่าจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีโรงงานน้ำมันซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ แต่เขาไม่อยากทำสงคราม ขณะผู้นำสูงสุดของอิหร่านยืนกรานไม่เจรจากับสหรัฐ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ / AFP

    ประธานาธิบดีสหรัฐเพิ่งทวีตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐได้บรรจุกระสุนล็อกเป้าพร้อมตอบโต้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีโรงงานน้ำมันขนาดใหญ่2 แห่งของซาอุดีอาระเบียแล้ว แต่ในวันจันทร์ ทรัมป์กล่าวว่าไม่มีความเร่งรีบที่ต้องทำเช่นนั้น

    ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐยังอยู่ระหว่างสอบสวนว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้หรือไม่ แต่ "ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย" กระนั้นทรัมป์ออกตัวว่า สหรัฐจะไม่กระโจนเข้าสู่สงครามครั้งใหม่ในนามของซาอุดีอาระเบีย

    "ผมเป็นคนที่ไม่อยากทำสงคราม" คำยืนยันของผู้นำสหรัฐที่พยายามนำสหรัฐถอนตัวจากสงครามต่างๆ ที่ตกทอดมาจากรัฐบาลก่อนๆ "เรามีทางเลือกมากมาย แต่ผมจะยังไม่พิจารณาทางเลือกใดในตอนนี้ เราต้องการหาคำตอบให้แน่ชัดว่าใครเป็นคนทำ"

    ทรัมป์กล่าวด้วยว่า รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งรวมถึงไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ และริค เพอร์รี รัฐมนตรีพลังงาน กล่าวโทษอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลัง ปอมเปโอและเจ้าหน้าที่อีกหลายคนจะเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเร็วๆ นี้ แต่ทรัมป์ออกตัวว่า เขาไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องซาอุดีอาระเบีย การโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีซาอุดีอาระเบีย ไม่ใช่การโจมตีสหรัฐ แต่แน่นอนว่าสหรัฐต้องช่วย

    รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธคำกล่าวหาของสหรัฐก่อนหน้านี้ว่า "ยอมรับไม่ได้และไม่มีมูลความจริงอย่างสิ้นเชิง" ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่านกล่าวว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นฝีมือของ "ชาวเยเมน" ที่ทำเพื่อล้างแค้นการโจมตีของกองกำลังผสมภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบีย ที่ช่วยเหลือรัฐบาลเยเมนที่นานาชาติรับรองทำสงครามกับกลุ่มกบฏฮูตีมาตั้งแต่ปี 2558

    "ชาวเยเมนกำลังใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายของพวกเขาในการป้องกันตัว" โรฮานีกล่าวขณะเยือนกรุงอังการาของตุรกี

    ทางการซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า การโจมตีครั้งนี้ใช้อาวุธของอิหร่าน และเรียกร้องให้ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติช่วยเหลือการสอบสวน เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ตรัสว่า ภัยคุกคามจากอิหร่านไม่เพียงคุกคามโดยตรงต่อซาอุดีอาระเบีย แต่ยังคุกคามตะวันออกกลางและทั้งโลกด้วย

    การโจมตีเมื่อวันเสาร์กระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมันราว 5% ของโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้น 19% ในการซื้อขายวันจันทร์ เป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในวันเดียวนับแต่สงครามอ่าวปี 2533-2534 ราคาน้ำมันในตลาดเอเชียวันอังคารลดลงมาราว 1% ภายหลังสหรัฐประกาศว่าจะปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ออกสู่ตลาด และผู้ผลิตยืนยันว่ายังมีน้ำมันในสต็อกทั่วโลกเพียงพอ

    ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านเป็นศัตรูกันมายาวนานหลายทศวรรษ และทำสงครามตัวแทนกันหลายครั้ง ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านก็เลวร้ายลงนับแต่ทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวจากความตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีก่อน แล้วรื้อฟื้นการคว่ำบาตรอิหร่านแบบเต็มพิกัด

    ทรัมป์กล่าวว่า เป้าหมายของการใช้วิธีการกดดันอิหร่านถึงขีดสุดนี้ ก็เพื่อบังคับให้อิหร่านกลับสู่การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ทั้งยังเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับประธานาธิบดีโรฮานีของอิหร่าน นอกรอบการประชุมสมัชชายูเอ็นที่นิวยอร์กด้วย แต่โรฮานียังคงยืนกรานว่าจะไม่เจรจาจนกว่าสหรัฐจะยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด

    เมื่อวันอังคาร อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศชัดเจนเช่นกันว่า อิหร่านจะไม่เจรจากับสหรัฐไม่ว่าในระดับใด นโยบายกดดันอิหร่านถึงขีดสุดของสหรัฐนั้นไม่มีความหมาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"