ปฏิรูปตำรวจคืบ เพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการเพียบ!


เพิ่มเพื่อน    

  โพลระบุประชาชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ   แนะควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน ส่วนปฏิรูปตำรวจคืบ กก.ปฏิรูปเคาะเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ประทวนรับเนื้อๆ เดือนละ 1.6 หมื่น ส่วนรองสารวัตรเอาไปเลยเฉียด 4 หมื่น

    เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความโปร่งใสยุติธรรมและความมั่นใจของประชาชนต่อระบบงานสอบสวนของตำรวจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-6 มีนาคม 2561    จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง 
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงความโปร่งใสยุติธรรมของขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 9.68 ระบุว่ามีความโปร่งใสยุติธรรมมาก เพราะทำตามระบบและขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี, ร้อยละ 39.60 ระบุว่าค่อนข้างมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะมีระบบการทำงานที่ดี มีหลักฐานประกอบชัดเจน 
    ร้อยละ 35.20 ระบุว่าไม่ค่อยมีความโปร่งใสยุติธรรม เพราะเกิดความล่าช้า มีข้อผิดพลาดค่อนข้างบ่อย มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และใช้ระบบพวกพ้อง, ร้อยละ 14.64 ระบุว่าไม่มีความโปร่งใสยุติธรรมเลย เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมในการสอบสวนได้ บางครั้งมีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ชอบยัดข้อหาให้กับคนจน ถูกแทรกแซงการทำงานจากผู้มีอิทธิพล และเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
    ด้านความมั่นใจต่อขั้นตอนการดำเนินคดีและระบบงานสอบสวนของตำรวจ พบว่า ร้อยละ 11.12 ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะมีระบบขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ชัดเจน และตำรวจทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว, ร้อยละ 37.20 ระบุว่าค่อนข้างมั่นใจ เพราะมีระบบการทำงานที่ค่อนข้างละเอียดอยู่แล้ว ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และหลักฐานที่มี, ร้อยละ 40.56 ระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจ เพราะมีการใช้ระบบพวกพ้องมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง, ร้อยละ 10.72 ระบุว่าไม่มั่นใจเลย เพราะมีอำนาจของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรวยมักหลุดพ้นคดี และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
    ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับปรุงงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.52 ระบุว่าควรมีการบันทึกเสียงและภาพในระหว่างการสอบสวน เพื่อลดความผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส รองลงมา ร้อยละ 26.24 ระบุว่าส่งเสริมด้านการมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ,  ร้อยละ 20.00 ระบุว่ากระจายอำนาจการสอบสวนไปให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยลดปริมาณงานของพนักงานสอบสวน ทำให้การสอบสวนคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
    ร้อยละ 17.36 ระบุว่าให้พนักงานอัยการมีบทบาทในกระบวนการสอบสวนคดีอาญาร่วมกับพนักงานสอบสวน, ร้อยละ 15.36 ระบุว่าควรให้หน่วยงานภายนอกหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ, ร้อยละ 15.28 ระบุว่าแยกหน่วยงานสอบสวนออกจากตำรวจ, ร้อยละ 13.84 ระบุว่าออกกฎหมายที่รับรองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนไม่ให้ถูกแทรกแซง 
    ร้อยละ 6.48 ระบุว่าเพิ่มบุคลากรด้านงานสอบสวนและงบประมาณให้เพียงพอ, ร้อยละ 1.84 อื่นๆ ได้แก่ พัฒนาระบบงานสอบสวนให้มีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพิ่มทักษะให้ตำรวจ เช่น ความรู้ด้านกฎหมาย เรื่องคดีความให้หาข้อมูลในการสอบสวน ลงพื้นที่ หาพยานหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ลดอำนาจของตำรวจลง ขณะที่บางส่วนระบุว่าระบบงานสอบสวนดีอยู่แล้ว และไม่มีทางแก้ไขได้ และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
    นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคมในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงถึงการประชุมคณะกรรมการที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณาถึงการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการบริหารบุคคลเสนอให้พิจารณา งานตำรวจเป็นงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญอยู่ระหว่าง 13.56- 22.57 เท่า ซึ่งในต่างประเทศนั้น ตำรวจชั้นประทวนมีค่าตอบแทนเทียบค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนสามัญมีสัดส่วนความเสี่ยง 1.28 ต่อ 1 ส่วนระดับสัญญาบัตรมีสัดส่วน 1.74 ต่อ 1
        นายมานิจกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากผลการวิจัยโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เสนอว่า ข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปราม ซึ่งมีความเสี่ยงเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่างานตำรวจในกลุ่มงานอำนวยการและกลุ่มงานสนับสนุนคิดเป็นค่าเฉลี่ย 2.66 ต่อ 2.97 จึงควรได้รับเงินเพิ่มในระดับชั้นประทวนเป็นเงิน 4,300-5,000 บาทต่อเดือน และในระดับสัญญาบัตรเป็นเงิน 18,500-21,500 บาทต่อเดือน จะมีผลทำให้ตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตำแหน่ง ผบ.หมู่ ที่จบจากโรงเรียนนายสิบ ได้เงินเดือนแรกบรรจุเดือนละ 9,330 บาท บวกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว 2,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งอีก 4,300-5,000 บาท รวมรายได้เดือนละ 15,630-16,330 บาท ส่วนตำแหน่งรองสารวัตรที่จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรจะได้รับเงินเดือนบรรจุใหม่ 15,290 บวกกับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง 18,500-21,500 บาท จะทำให้มีรายได้เดือนละ 33,790-36,790 บาท
       นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจยังเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลที่ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญา หรือที่เรียกว่า "ค่าทำสำนวน" เพิ่มขึ้นอีก 100% เพราะอัตราที่ใช้อยู่กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ.2534 และยังมิได้ปรับเพิ่มในขณะที่ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
        ดังนั้น จึงเสนออัตราใหม่จะเป็นดังนี้
         1.กรณีที่เกิดคดีอาญาขึ้นและไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เดิมไม่จ่าย ส่งผลให้พนักงานสอบสวนไม่อยากทำสำนวนหรือไม่รับคดี จึงเสนอให้จ่ายค่าตอบแทนการสอบสวนคดีอาญาประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่เกินคดีละ 500 บาท
       2.ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 500 บาท)
       3.ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 3-10 ปี เสนอให้จ่ายไม่เกินคดีละ 2,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,000 บาท)
         4.ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป เสนอให้จ่ายไม่กินคดีละ 3,000 บาท (ขณะนี้จ่ายไม่เกินคดีละ 1,500 บาท)
         นายมานิจกล่าวต่ออีกว่า ในการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลนั้น ได้เสนออัตรารายได้ของตำรวจในสายงานป้องกันและปราบปราม ให้ต่ำกว่าอัตราที่เสนอโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เพราะไม่อยากให้กระทบต่องบประมาณในภาพรวมของประเทศ แต่เมื่อได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเหตุผลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ว่า ให้มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นอาชีพเดียวที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม แสดงว่าปัจจุบันนี้ตำรวจได้รับค่าตอบแทนที่ยังไม่เหมาะสม จึงอ้างว่ารายได้ไม่เพียงพอ ต้องหารายได้พิเศษจากการรีดไถ และรับส่วย เมื่อเพิ่มรายได้ให้แล้ว ควรจะได้กวดขันตำรวจที่ทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้ปรับค่าตอบแทนของข้าราชการตำรวจในสายงานป้องกันปราบปรามตามผลการศึกษาวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และควรมีการพิจารณาค่าตอบแทนดังกล่าวทุก 5 ปีด้วย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"