สภาตรายางจีนแก้ รธน. เปิดทาง 'สีจิ้นผิง' เป็นประธานาธิบดีชั่วชีวิต


เพิ่มเพื่อน    

สภาผู้แทนประชาชนจีนเปิดทางสะดวก "สีจิ้นผิง" ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ตลอดชีวิต เมื่อวันอาทิตย์ สมาชิกเอ็นพีซีลงมติเห็นชอบท่วมท้นไม่สนกระแสวิจารณ์ แก้รัฐธรรมนูญยกเลิกการจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่งของผู้นำ 2 สมัย

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง หย่อนบัตรลงคะแนนระหว่างการประชุมเอ็นพีซี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 (AFP)

ปักกิ่ง / สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2561 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งประวัติศาสตร์ของจีนนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนประชาชน (เอ็นพีซี) ด้วยคะแนน 2,958 คะแนน, คัดค้าน 2 คะแนน, งดออกเสียง 3 คะแนน และเป็นโมฆะ 1 คะแนน

    การแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรกในรอบ 14 ปีหนนี้ จะยกเลิกบทบัญญัติที่จำกัดไว้ว่า ประธานาธิบดีควรดำรงตำแหน่งเพียง 2 สมัย สมัยละ 5 ปี และคาดว่าจะผ่านสภานิติบัญญัติที่คล้อยตามคำสั่งของพรรคคอมมิวนิสต์มาตลอด 50 ปี

    การยกเลิกการจำกัดวาระของผู้นำประเทศครั้งนี้เป็นการย้อนแย้งกับหลักการผู้นำแบบรวมหมู่  และการถ่ายโอนอำนาจอย่างเป็นระเบียบ ที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง โดยมีเป้าหมายเพื่อรับประกันความมีเสถียรภาพ หลังจากหมดยุคสมัยของความผันผวนภายใต้การนำเดี่ยวของประธานเหมาเจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

    "เรื่องนี้เป็นความปรารถนาอันเร่งด่วนของประชาชนทั่วไป" เอเอฟพีอ้างทัศนะของจูซิ่วฉิน ผู้แทนเอ็นพีซีจากมณฑลเฮย์หลงเจียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สะท้อนข้ออ้างของพรรคที่ว่า การยกเลิกข้อจำกัดนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากมวลมหาชน

    อย่างไรก็ดี ทัศนะของพลเมืองเน็ตที่ใช้เว่ยป๋อ หรือทวิตเตอร์ในแบบของจีน บางส่วนออกมาในทิศทางตรงกันข้าม ผู้ใช้เว่ยป๋อรายหนึ่งโพสต์ว่า "เรากลับสู่ยุคราชวงศ์ชิง" ซึ่งหมายถึงจักรพรรดิราชวงศ์สุดท้ายของจีน

    การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาตรายางแห่งนี้ให้ความเห็นชอบ ยังรวมถึงบทบัญญัติสำคัญที่บรรจุแนวคิดทางการเมืองภายใต้นามของสีจิ้นผิงไว้ในรัฐธรรมนูญ, การเพิ่มบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์ในกิจการของประเทศมากขึ้น และการขยายการรณรงค์ของประธานาธิบดีด้านการปราบปรามการคอร์รัปชั่นให้กว้างยิ่งขึ้น

    สี ซึ่งปัจจุบันอายุ 64 ปี ขึ้นครองอำนาจสูงสุดในพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2555 เมื่อเขาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค แม้ว่าตำแหน่งนี้จะไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง แต่ผู้นำ 2 คนก่อนหน้าเขาล้วนลงจากอำนาจหลังครบ 2 วาระ ตามหลักการถ่ายโอนอำนาจอย่างเป็นระเบียบตามที่เติ้งวางเอาไว้

    แม้ตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนจะมีบทบาทในเชิงพิธีการเป็นส่วนใหญ่ แต่หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สีจะต้องพ้นจากตำแหน่งในปี 2566 การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้สีสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ชั่วชีวิต เพื่อก้าวให้ถึงเป้าหมายของเขา ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกพร้อมกับการมีกองทัพในระดับ "เวิลด์คลาส" ภายในกลางศตวรรษนี้

    สีกระชับอำนาจของเขามากขึ้นพร้อมกันกับการควบคุมภาคประชาสังคมอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ด้วยการจับกุมคุมขังนักเคลื่อนไหวและทนายความหลายคน และจำกัดเสรีภาพในการอินเทอร์เน็ต ที่เดิมก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน สีก็ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนจากมาตรการปราบปรามคอร์รัปชันอย่างไม่ปรานีของเขา ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์ถูกลงโทษมากกว่า 1 ล้านคน และสกัดคู่แข่งทางการเมืองไปด้วยในตัว

    หวูเชียง นักวิจารณ์การเมืองของจีน กล่าวกับเอเอฟพีว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ เขาคิดว่าสีกำลังก่อรัฐประหารแบบอ่อน ซึ่งรวมถึงการทำให้กรมการเมืองหรือโปลิตบูโร เป็นเพียงแค่เจว็ด "เขาต้องการป้องกันไม่ให้อำนาจตกไปอยู่ในมือของเทคโนแครต อย่างเจียง (เจ๋อหมิน) และ หู (จิ่นเทา)" หวูกล่าวถึงอดีตประธานาธิบดีจีน 2 คนก่อนหน้าสี

    พรรคคอมมิวนิสต์โต้แย้งไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นแค่การทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีปลอดจากการจำกัดวาระ แบบเดียวกับตำแหน่งของเลขาธิการพรรค และผู้บัญชาการทหาร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"