แฉปลุกม็อบต้านแบน3สาร ‘มนัญญา’สั่งแจงเกษตรกร


เพิ่มเพื่อน    

  "มนัญญา" แฉมีขบวนการจัดฉากจับเกษตรกรเป็นแพะ โยนบาป รมต. สั่งสารวัตรเกษตรทั่วประเทศเร่งแจงด่วน ปลัดเกษตรฯ อึ้ง งบเยียวยาบาน 4 หมื่นล้าน ตีกลับทำตัวเลขใหม่ กรมวิชาการเกษตรหวั่นเคลียร์ 3 สารไม่ทัน ชงเลื่อนบังคับใช้อีก 6 เดือน ม็อบต้านนัดแต่งดำบุกทำเนียบฯ 26 พ.ย.

    ที่กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างประชุมมอบนโยบายในการควบคุมกำกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้กับสารวัตรเกษตรทั่วประเทศกว่า 300 คนได้รับแนวทางปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานทันทีที่มีประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส โดยจะมีผลห้ามนำเข้า ส่งออก จำหน่าย ผลิต ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ว่า เรียกมาประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกันถึงการปฏิบัติต่อร้านค้า เกษตรกร บริษัทและผู้ครอบครอง ทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีปัญหาว่ามีเกษตรกรหรือประชาชนถูกจับดำเนินคดีที่ครอบครองสารเหล่านี้
    ทั้งนี้ ได้ย้ำว่าอย่าให้มีเรื่องการไปเรียกรับผลประโยชน์ จะไปเข้าทางคนที่จ้องอยู่ เพราะเริ่มขบวนการดิสเครดิต รมช.เกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตร หากมีการจัดฉากเข้าไปหาเกษตรกรที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือคนที่ตั้งใจกระทำผิดเพื่อให้เกิดประเด็นข่าวว่านโยบาย 3 สารทำให้เกษตรกรติดคุก โดนปรับ 8 แสนบาท หรือล้านบาท ดังนั้นให้สารวัตรเกษตร ทุกคนลงพื้นที่ประสานกับท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรม ให้ประสานกระทรวงมหาดไทยขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ออกเสียงตามสาย หอกระจาย สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ชาวบ้าน ได้รับทราบโดยเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับวันที่ 1 ธ.ค. ไปชี้แจงให้ชัดว่าเกษตรกรต้องทำอย่างไร นำสารมาคืนจุดไหน และถ่ายรูปลงบันทึกไว้ให้ชัดเจน
    “อย่าให้มีเด็ดขาด กรณีไปจับเกษตรกรเข้าคุก และวันจันทร์ที่ 25 พ.ย. จะประชุมกับสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสั่งการแนวทางควบคุม 3 สารที่อยู่ในมือของสหกรณ์การเกษตร ร้านค้าสหกรณ์ทุกพื้นที่ จะได้ช่วยกันทำให้สารพิษเหล่านี้หมดไปจากประเทศไทย และฝากย้ำอย่าให้มีข่าวว่าสารวัตรเกษตรไปตีกิน ไม่อยากให้มีภาพแบบนี้ จะโดนข้อหาสมรู้ร่วมคิด รวมทั้งขณะนี้ร้านค้าต่างๆ บริษัทค้าสารเคมีหลายแห่งที่มีข่าวว่าจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำ เพื่อผลักให้สารเคมีกับไปอยู่ในมือเกษตรกร ดังนั้นต้องช่วยกันดูแลเกษตรกร ไม่ให้กลายเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งสารวัตรเกษตรอยู่ในพื้นที่รู้ดีว่าสารอยู่ในมือใครบ้าง ทั้งหน้าร้าน หลังร้าน อย่ามาคิดว่าจะไม่ตั้งใจทำ เพราะยังมั่นใจว่าจะไม่แบน ขอให้เลิกคิด เพราะมติออกมาแล้ว ใครจะมากลับมติให้ตอบสังคมด้วย จึงไม่กังวลที่จะมีการนัดใส่เสื้อดำมากดดันการประชุม ครม. วันอังคารหน้า อย่าลืมว่าเมื่อมีม็อบเสื้อดำ เดี่ยวม็อบเสื้อขาวก็เกิดได้เหมือนกัน” น.ส.มนัญญาระบุ
    ด้านนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ และประธานคณะทำงานตรวจสอบสต๊อก 3 สาร กล่าวว่า จากนี้กรมวิชาการเกษตรต้องออกแนวปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรและผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อปฏิบัติกรณีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันมีร้านค้าสารเคมีเกษตร ณ วันที่ 12 พ.ย.62 ทั่วประเทศ 14,000 ร้านค้า เพราะฉะนั้นหากแต่ละร้านค้าขายไปรายละ 10 ขวด เท่ากับเป็นแสนขวดอยู่ในมือเกษตรกร ที่ไม่รู้จักสาร ที่ซื้อเพราะยี่ห้อ จะเสี่ยงที่จะมีความผิดได้
    “เราห่วงเกษตรกร เพราะเขาไม่รู้ แต่สำหรับร้านค้า บริษัทนำเข้า ผลิต พวกนี้รู้แน่นอน และรัฐมีท่าทีจะแบน 3 สารตั้งแต่ปี 60 แล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่เองบางรายอาจสบช่องหาผลประโยชน์ อย่าทำร้ายเกษตรกรเลย ดังนั้นสิ่งที่ รมช.เกษตรฯ ย้ำให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อต้องการไม่ให้เกิดคำว่า คิดว่า คาดว่า เพื่อเป็นช่องใช้ดุลพินิจเรียกประโยชน์ หรือทำให้มีเรื่องเล็ดลอดไปขายหลังร้าน” นายฉกรรจ์กล่าว
     สำหรับ การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 พ.ย.นี้ เป็นการประชุมรับรองมติแบน 3 สารของมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ของคณะกรรมการชุดเดิม ดังนั้นหากคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน แต่กรรมการเป็นชุดเดิมเกือบทั้งหมด หากจะมีการหยิบเรื่องมติแบนมาทบทวนก็เป็นเรื่องที่ รมว.อุตสาหกรรมต้องบอกสังคมให้ได้ว่ามีเหตุอะไรใหม่จึงนำมาทบทวน อย่างไรก็ตามขอให้ดูผลการประชุมสภาฯ ด้วยที่มีการโหวตให้ผ่าน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยเสียงท่วมท้น หากพลิกมติแบนเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายหนัก
      นายสุรเดช ปัจฉิมกุล รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สารวัตรเกษตรทุกคนเข้าใจถึงวิธีการเก็บคืนสาร ได้ถามในการประชุมไม่มีใครมีปัญหา มีคู่มือปฏิบัติชัดเจนว่า ขั้นตอนแรกต้องไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเกษตรกร ไม่ใช่ไปจับกุม และหากพบสาร ให้มีการถ่ายรูปบันทึกลงแบบฟอร์มที่กรมกำหนด พร้อมเก็บคืนภายในเวลา 30 วัน ไม่มีการดำเนินคดีกับเกษตรกร โดยมีสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 8 แห่งทั่วประเทศ และสำนักวิจัยพัฒนาพันธ์พืช รวม 63 แห่ง อีกทั้งอาจให้ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร 882 ศูนย์ ทุกอำเภอ เป็นจุดรับเก็บคืนสารจากเกษตรกร เพื่ออำนวยความสะดวกด้วย ซึ่งปัญหาเรื่องการขายสารหลังร้านจะไม่เกิดขึ้น เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ในระยะเวลา 30 วันจากที่มีประกาศคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกใช้ 3 สาร จะต้องไม่มีสาร 3 ตัวนี้ในประเทศไทย
    ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี คงเหลือและสารเคมีทดแทน วิธีทำเกษตรและสารทดแทน 3 สาร เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรหลังเลิกใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยแบ่งเป็นการกำจัดวัชพืช มีสารเคมีทดแทน 17 ชนิด และวิธีการกำจัดวัชพืชมี 2-6 แบบ การกำจัดแมลงศัตรูพืช มีสารเคมีทดแทนคลอร์ไพริฟอส 9 ชนิด และมีแนวการใช้เครื่องจักรกลเกษตรผสมผสานกับสารเคมี กำจัดวัชพืชก่อนวัชพืชงอก สามารถทดแทนสารเคมีกำจัดวัชพืชได้
    นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ว่า ที่ประชุมได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำข้อมูลมาใหม่เพื่อเสนอที่ประชุมในสัปดาห์หน้า เนื่องจากในครั้งนี้เสนองบประมาณเยียวยามาถึง 3.3 หมื่นล้านบาท เกษตรกรกว่า 5.2 แสนครัวเรือนที่แจ้งความต้องการใช้เข้ามา ซึ่งขณะนี้ยังไม่รวมเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ให้ไปรวบรวมมาด้วย คาดว่าจะมีเกือบ 6 แสนครัวเรือน โดยงบเยียวยาอาจมากถึง 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเสนอมาแบบนี้เหนื่อย
    นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังเสนอให้เลื่อนเวลาให้มีผลบังคับใช้ออกไปอีก 6 เดือน หลังจากมีคำสั่งแบน 3 สารพิษ ในวันที่ 1 ธ.ค.62 เนื่องจากปัจจุบัน 3 สารคงเหลือประมาณ 2.8 หมื่นตัน ต้องใช้เวลาดำเนินการเคลียร์สารประมาณ 6 เดือน
    แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่สูญเสียผลประโยชน์จากการแบน 3 สารเคมี ได้มีการไปจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ให้เร่งระดมมาจากหลายจังหวัด ใส่ชุดดำมาประท้วงในวันที่ 26 พ.ย.นี้ ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ และที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงพลังต่อต้านการแบนสารและเรียกร้องให้รัฐบาลมีการทบทวน โดยล่ารายชื่อเกษตรกรและข้าราชการ อดีตข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ เพื่อยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยต้องการกดดันให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะประชุมในวันที่ 27 พ.ย. หยิบยกขึ้นมาทบทวนจนมีการกลับมติแบนสารเคมี 3 ชนิด ทั้งนี้มีรายงานว่าผู้สนับสนุนการระดมเกษตรกรเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจนำเข้า 3 สารเคมีที่ตั้งอยู่ย่าน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
    ขณะที่ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า เกษตรกรที่เดือดร้อนจากการยกเลิกใช้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสทั่วประเทศ พร้อมใจกันแต่งชุดดำ เพื่อเข้าร้องเรียนถึงความเดือดร้อนต่อนายกฯ ในวันที่ 26 พ.ย.นี้ โดยเลื่อนจากเดิมที่นัดหมายวันที่ 28 พ.ย. ทั้งนี้เพื่อให้นายกฯ แก้ปัญหาก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมวันที่ 27 พ.ย.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"