สทนช. เดินหน้า แก้ไขปัญหาน้ำท่วม-แล้งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


เพิ่มเพื่อน    

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อติดตามโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พร้อมเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โดยชุมชนตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง และการบริหารจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยชุมชนคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 

        

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มีระบบทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) ขนาดใหญ่ เป็นแอ่งรองรับน้ำจืดที่มาจากน้ำฝน น้ำคลอง และน้ำหลากจากแผ่นดิน รวมทั้งมีน้ำเค็มจากทะเลไหลเข้ามาผสมผสานด้วย มีเนื้อที่ 8,563 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง พื้นที่บางส่วนของอำเภอชะอวดและอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่ในจังหวัดสงขลา ยกเว้นอำเภอนาทวี อำเภอจะนะ อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย ปัญหาที่สำคัญของทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย 1.ปัญหาด้านน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ/น้ำเค็ม/น้ำเสีย 2.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่นปัญหาตะกอน การตื้นเขินของทะเลสาบ การบุกรุกป่าต้นน้ำ การอนุรักษ์สัตว์น้ำ และ 3.ปัญหาบริหารจัดการ/องค์กรโดยมีความขัดแย้งในพื้นที่ รวมถึงปัญหาด้านกฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 

“สทนช. ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่ควบคู่กับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ โดยดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยทะเลสาบสงขลา มุ่งเน้นการศึกษาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเป็นหลัก เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ปรับประยุกต์จากการใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบบนลงล่าง (Top–Down) คือ การกำหนดนโยบายจากหน่วยงานของรัฐ ร่วมกับแนวทางแก้ไขปัญหาแบบล่างขึ้นบน (Bottom–up) คือ ประชาชนเป็นผู้ร่วมกำหนดทิศทางนโยบาย และกระบวนการในการพัฒนาโดยตรง เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งแนวทางการพัฒนา แผนหลัก แผนปฏิบัติการและแนวทางการบริหารจะพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ สทนช. ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางแก้ปัญหาและการบริหารจัดการน้ำที่เกิดจากแนวคิดของภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับว่าเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ซึ่งมีบริบทต่างกัน ทำให้อาจต้องปรับรายละเอียดในการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง เพื่อให้เกิดลักษณะการพัฒนาแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกัน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ไม่ใช่การย้ายปัญหาไปจุดอื่น” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

 

สำหรับ ชุมชนตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการพยายามพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำระดับชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ มุ่งพัฒนาพื้นที่
ในชื่อเครือข่าย “สภาลานวัดตะโหมด” ใช้เทคนิคการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและป่าโดยชุมชน และมีการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขแบบ
Area based เพื่อได้ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ตรงกับความต้องการในพื้นที่ โดยมีวัดตะโหมดเป็นศูนย์กลางดำเนินกิจกรรม อาทิ กิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป้องกันวิกฤตภัยแล้ง โดยนำแนวพระราชดำริเรื่องฝายต้นน้ำลำธารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ เรียกว่า “ธนาคารน้ำ”ด้วยการเก็บน้ำในรูปแบบฝายชะลอการไหลของน้ำ โดยนำวัสดุธรรมชาติ อาทิ ไม้ ทราย หิน มาปิดกั้นทางน้ำในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อกักเก็บน้ำ สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนดินและผืนป่า โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากภาครัฐมาดำเนินงาน ส่งผลให้ในพื้นที่ชุมชนสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ฝายทำให้น้ำถูกกักเก็บไว้แล้วไหลลงคูคลองได้มากขึ้น และช่วยชะลอน้ำที่เคยไหลบ่าเข้าท่วมชุมชนได้ นอกจากนี้ ชุมชนยังได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ ส่งผลให้มีหน่วยงานและประชาชนเดินทางมาศึกษาดูงานต่อเนื่อง

 

ในส่วนการบริหารจัดการคุณภาพน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยชุมชนคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นความร่วมมือกันของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจัดการน้ำเสียและขยะของวัดคลองแห ชุมชนคลองแห และเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา เพื่อร่วมจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำของคลองอู่ตะเภา ตั้งแต่ต้นน้ำใน อ.สะเดา ที่มีเครือข่ายโรงงานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในการเฝ้าระวังและอนุรักษ์คลองอู่ตะเภามาถึงคลองแห ซึ่งเป็นคลองย่อยหนึ่งของคลองอู่ตะเภา ที่เคยประสบปัญหาน้ำเสียและขยะจากชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เครือข่ายเกิดการรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาพัฒนาฟื้นฟูคลองแหให้กลับมาสะอาดและมีสภาพน้ำที่ดีขึ้น โดยนำแนวคิดเรื่องฝายดักขยะมาบริหารจัดการ อีกทั้ง ยังจัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นคุณค่าทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในชุมชนคลองแหและเครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา ทำให้ปัจจุบันคุณภาพน้ำในพื้นที่โดยรอบดีขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน มาเลเซีย และไทย ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความพยายามร่วมแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำและการบริหารจัดการน้ำของคนในชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"