คืนเงินประกันไฟฟ้า หวังกระตุ้น ศก.เยียวยาพิษโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

       จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันยอดของผู้ติดเชื้อพุ่งสูงเกือบ 300 รายแล้ว เนื่องจากการส่งต่อเชื้อผ่านสารคัดหลั่งที่ออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำลายหรือเหงื่อ ซึ่งทำให้การแพร่กระจายของไวรัสนั้นรวดเร็วจนน่ากลัว และเมื่อผู้คนที่ได้รับเชื้อไปแล้วกว่าจะแสดงอาการก็ต้องรออย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่ในระหว่างนั้นก็สามารถเป็นพาหะที่จะแพร่สู่คนอื่นๆ ได้ ซึ่งเหตุนี้จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายกันเป็นวงกว้าง และบางครั้งไม่สามารถหาต้นทางของเชื้อได้ว่ามาจากไหน

       ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ การใช้ชีวิต และกำลังใจของคนในประเทศเป็นอย่างมาก ซ้ำยังทำให้เกิดการชะงักของการดำเนินงานทุกด้าน โดยล่าสุดประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติสั่งเห็นชอบให้ปิดสถาบันศึกษาทุกประเภท ตลอดจนสถานบริการ ในเขต กทม.และปริมณฑล ให้หยุดบริการเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-31 มี.ค.

ซึ่งรวมถึงสนามกีฬา โรงภาพยนตร์-สถานบันเทิง ผับ-บาร์ ร้านนวดไทย-นวดโบราณ ที่เป็นร้านที่เข้ากฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ให้ปิดทั้งหมมด พร้อมเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เม.ย.63 ให้เป็นวันทำงานปกติ โดยยังไม่กำหนดวันชดเชย และให้งดกิจกรรมเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด-ให้หน่วยราชการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน โดยถือว่าเป็นการกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศเป็นอย่างมาก

และทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงกำลังใจของคนในประเทศและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง การเดินทางท่องเที่ยวลดลง การลงทุนและกำลังการผลิตของภาคเอกชนลดลง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการทุกด้านลดลงด้วย แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะประกาศว่าสามารถรับมือกับวิกฤติดังกล่าวได้ แต่ยอดผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

โดยช่วงนี้หน่วยงานของภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการมาแก้ปัญหา และเยียวยาทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ และประชาชนทั่วไปเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้ จึงได้ออกแผนงานต่างๆ มา ล่าสุด ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2563 ได้มีการอนุมัติโครงการที่เสนอโดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยมาทดแทน ซึ่งเห็นชอบให้มีการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 หรือบ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 หรือกิจการขนาดเล็ก รวม 22.17 ล้านราย วงเงิน 32,700 ล้านบาท

แบ่งเป็นในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 3.87 ล้ายราย วงเงิน 13,000 ล้าน และในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 18.30 ล้านราย วงเงิน 19,700 ล้านบาท ซึ่งผู้ใช้ไฟสามารถใช้สิทธิ์ขอเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนได้ ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่วางไว้ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดูแลและประสานงาน ซึ่งล่าสุดในวันที่ 19 มี.ค.63 หลังจากมีการหารือร่วมกับระหว่าง กกพ., กฟน., กฟภ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ (กฟส.) ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ที่จะให้ผู้มีสิทธิ์ยื่นขอเงินคืนได้แล้ว

โดย ​นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก พ.ศ.2563 ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มี.ค.63 โดยจะเริ่มเปิดให้มีการตรวจสอบสิทธิ์ และทยอยคืนเงินประกันได้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.เป็นต้นไป ในช่องทางออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ ส่งผลให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กฟน., กฟภ. และ กฟส. จะต้องคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว จำนวนรวม 22.17 ล้านราย วงเงิน 32,700 ล้านบาทตามมติ ครม.

ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนตั้งแต่ 25 มี.ค.นี้ เพื่อให้มีการตรวจสอบสิทธิ์และเริ่มทยอยจ่ายคืนเงินได้ตั้งแต่ 31 มี.ค.เป็นต้นไป โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับคืน และให้ผู้บริการไฟฟ้าคืนเงินให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่วางหลักประกันตามประเภทของขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.บ้านพักขนาดเล็ก ที่ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 แอมป์ มีการวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 300 บาท 2.บ้านเรือนส่วนใหญ่ ใช้มิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 2,000 บาท 3.บ้านพักขนาดใหญ่ ใช้มิเตอร์ 30 แอมป์ วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 4,000 บาท

และ 4.ประชาชนส่วนน้อยที่ใช้มิเตอร์ 15 แอมป์ ซึ่งมี 3 เฟส วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไว้ 6,000 บาท ขณะเดียวกันหลังจากนี้จะไม่มีการเรียกเก็บเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่อีกต่อไป ยกเว้นกรณีเปลี่ยนประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าจากประเภทที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 ไปเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่มีข้อกำหนดไว้วางหลักประกันตามที่คณะ กกพ.เห็นชอบแล้ว

ด้าน นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า ผู้มีสิทธิ์ที่จะได้คืนเงินประกันเบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นผู้วางเงินประกัน ที่ชื่อตรงกับบิลค่าไฟฟ้า ขณะที่กรณีที่ผู้วางเงินเสียชีวิตนั้น หากเป็นทายาทให้นำใบมรณบัตรมาประกอบ แต่หากอยู่ในช่วงขอเป็นผู้จัดการมรดกจะต้องขอดูคำสั่งศาล ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้สามารถสอบถามที่การไฟฟ้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นนั้นหากใครไม่ขอคืนเงินประกันก็จะยังคงได้รับคืนเงินผลประโยชน์ทุกๆ 5 ปีตามที่ กกพ.กำหนดไว้เช่นเดิม แต่อนาคตก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบสิทธิ์และลงทะเบียนการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่อยู่ในบิลค่าไฟ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 เป็นต้นไป โดยกรอกชื่อ นามสกุล หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า หมายเลขบัตรประชาชน และส่งเอกสารหลักฐานผ่านระบบและรอรับเงินตามช่องทางการคืนที่ระบุ ผ่านระบบพร้อมเพย์, บัญชีเงินฝากธนาคาร, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือรับเงินสดที่สำนักงานการไฟฟ้าทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จะมีเอสเอ็มเอสยืนยันผลการลงทะเบียน และแจ้งผลการคืนเงินให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบ โดย กฟภ.จะเริ่มจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อตอบข้อซักถามและข้อสงสัยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวน 90 คู่สาย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1129

​      ด้าน นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน.จะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในช่องทางที่หลากหลาย ประกอบด้วย ช่องทางที่ 1 ลงทะเบียนทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบด้วยแอปพลิเคชัน MEA Smart Life, เว็บไซต์ www.mea.or.th, Facebook การไฟฟ้านครหลวง MEA, Twitter @mea_news, Line @meathailand และสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่จดเลขอ่านตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 เป็นต้นไป โดยผู้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์จะได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2563 เป็นต้นไป

​ช่องทางที่ 2 ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ที่หมายเลข 0-2256-3333 จำนวน 50 คู่สาย ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563-29 พ.ค.2563 เวลา 08.00 –15.30 น. ในวันทำการ และช่องทางที่ 3 ลงทะเบียน ณ ที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต โดยทั้ง 3 ช่องทางดังกล่าว ผู้ขอคืนหลักประกันสามารถเลือกช่องทางการคืนเงินได้ 3 ช่องทางเช่นเดียวกัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ได้แก่ 1.บัญชีพร้อมเพย์ เฉพาะที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของผู้วางหลักประกัน 2.บัญชีธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อตรงกับผู้วางหลักประกันที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย และ 3.เคาน์เตอร์เซอร์วิส (จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท)

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายอื่นๆ ทางด้านไฟฟ้าและประปาอีกด้วย ทั้งลดราคาลงไปในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. และให้ผู้ใช้ไฟและน้ำประเภทกิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) สามารถยืดอายุการผ่อนชำระบิลทั้งค่าน้ำและค่าไฟไปได้อีก 6 เดือน โดยเฉพาะรอบบิลของเดือน เม.ย.-พ.ค.63 นี้

รัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเยียวยาผลกระทบจากการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ ซึ่งก็ต้องมาติดตามกันว่าหลังจากมาตรการต่างๆ ออกไปครบถ้วนนั้นจะเรียกขวัญและกำลังใจของคนในประเทศไทยได้ขนาดไหน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"