บริหารจัดการน้ำ รีไซเคิลของเสียเสริมศักยภาพอีอีซี


เพิ่มเพื่อน    

        ประเทศไทยอาจใช้ต้นแบบของญี่ปุ่นและจีน คือการรีไซเคิลน้ำเสียมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ขายให้กับแหล่งที่ต้องการซื้อได้เลย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็สนใจ ส่วนบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของเทศบาลบางแห่งก็อยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำและเอากลับไปขายให้อุตสาหกรรม ชุมชน และภาคเกษตรก็ได้ แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องปลดล็อกกฎหมายหลายส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน เพราะน้ำทุกหยดควรมีประโยชน์มากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่รีไซเคิลให้หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ จึงจะมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน และช่วยเสริมศักยภาพอีอีซีให้เป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งความหวังของประเทศได้”

 

รีไซเคิลน้ำสู้วิกฤติขาดแคลน

        หากการลงทุนภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้มีการขยายตัวโรงงานอุตสาหกรรม โดยหนึ่งในปัจจัยที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างมากของการมีสวนอุตสาหกรรมเกิดขึ้น คงเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการรีไซเคิลน้ำให้มีคุณภาพดีเหมาะสมกับกิจกรรมที่จะนำไปใช้นั้น จะมีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยที่ผ่านมานักวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ได้ทำการศึกษาแนวทางการนำน้ำใช้แล้ว หรือน้ำเสียที่ผ่านมาบำบัดกลับมาใช้ใหม่โดยการรีไซเคิลน้ำให้มีคุณภาพดีเหมาะสมกับกิจกรรมที่จะนำไปใช้ โดยนำร่องศึกษาในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าผลการศึกษานี้จะช่วยสร้างรูปธรรมและเป็นแนวทางเพิ่มเติมสำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นได้

รีไซเคิลน้ำเสียเพื่อเพิ่มปริมาณ

        สำหรับโครงการศึกษา ซึ่งการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองอีอีซี โดยนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ โดยภาพรวมมุ่งศึกษาในเชิงนโยบาย โดยหาตัวเลขน้ำเสียต้นทุนที่ชัดเจน และแหล่งต้นทุนของน้ำเสียที่มีศักยภาพ จากนั้นจึงพัฒนาระบบการรีไซเคิลน้ำเสียจากระบบบำบัดให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์แทนการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ  และทดแทนความต้องการใช้น้ำของพื้นที่อีอีซีในอนาคต การศึกษานี้จะจัดทำร่างระดับคุณภาพมาตรฐานของน้ำรีไซเคิลที่จะนำกลับไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร สำหรับเป็นแนวทางให้พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมในอีอีซี เช่น การนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่สีเขียว การใช้ชำระชะล้างต่างๆ ล้างถนน ลดฝุ่น หรือนำมาเป็นน้ำใช้อื่นๆ  เช่น น้ำหล่อเย็นในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนในส่วนนี้

        ทั้งนี้ การคาดการณ์ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด พบว่าถ้ายังไม่มีการเติบโตของอีอีซี จะมีน้ำเสียชุมชนโดยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่โครงการอีอีซีสมบูรณ์แบบ แน่นอนว่าการเติบโตของเมืองจะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ ส่งผลให้มีน้ำเสียชุมชนเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อรวมกับน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีปริมาณน้ำเสียรวมมากกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงเกิดน้ำเสียขึ้นปริมาณมาก จึงมีศักยภาพจะเอามาใช้ประโยชน์ชดเชยความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ได้ ในปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่มีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากกว่า 75% ของความสามารถในการรองรับน้ำเสียในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา และระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี

ปัญหาขาดแคลนจากการขยายเมือง

        ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง โดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่อีอีซี ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรม เกษตรกรรมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาน้ำขาดแคลนมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำสำหรับชุมชน จากภาวะแล้ง ผลกระทบของโลกร้อนต่อแหล่งน้ำคุณภาพน้ำมีการปนเปื้อน ไม่ถูกสุขอนามัย และมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการบริโภคและอุปโภค เกิดสงครามแย่งน้ำจากภาคชุมชน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การประปาและชลประทาน ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ

        สำหรับพื้นที่อีอีซีครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้สมบูรณ์แบบตามแผนงานของรัฐบาล จะขาดแคลนน้ำไม่น้อยกว่า 100ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี การศึกษานี้จึงหาแนวทางที่จะเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการความต้องการใช้ทั้งภาคชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรมนั่นเอง

        จากการรวบรวมข้อมูลการหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่อีอีซี เห็นได้ชัดเจนว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น เพราะมีผลกระทบกับชุมชน และชุมชนมักไม่เห็นด้วย แม้มีอ่างเก็บน้ำ แต่ในภาวะแล้งที่ยาวนานก็ทำให้เก็บน้ำได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องหาทางเลือกแหล่งน้ำต้นทุนอื่น อาทิ การนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด ซึ่งทำได้แต่มีต้นทุนสูงและราคาแพง

        ดังนั้น เมื่อพิจารณาแหล่งน้ำต้นทุนอื่นที่เป็นไปได้ คงจะไม่พ้นน้ำเสียที่บำบัดแล้ว ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้และราคาถูกลงมาก โดยในพื้นที่อีอีซีมีน้ำเสียปริมาณมากที่มาจากน้ำเสียชุมชน คือ น้ำเสียจากระบบบำบัดของชุมชน หรือเทศบาลและ อบต. อีกส่วนจากน้ำเสียจากสถานประกอบการ สถานบริการ และอุตสาหกรรม

ยกต้นแบบต่างประเทศปรับใช้ในไทย

        ชวลิตกล่าวว่า น้ำเสียที่เกิดขึ้นในทุกวัน หากมีปริมาณที่มากพอก็สามารถบำบัดและปรับสภาพน้ำเพื่อนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย จะเห็นตัวอย่างในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ แต่ทั้งนี้ต้องสร้างมาตรฐานให้เกิดการยอมรับ โดยการจะดึงน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ยังต้องพิจารณาถึงข้อกำหนด กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นกฎหมายเฉพาะ เช่น ภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานบริการด้วย จึงต้องพิจารณาถึงการลดข้อจำกัด ความซ้ำซ้อนและมาตรการเศรษฐศาสตร์ ที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการดำเนินการ

        ส่วนตัวอย่างของประเทศที่นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ของต่างประเทศ ในเมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น เดิมมีการนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดแต่ต้นทุนสูง สุดท้ายก็เอาน้ำเสียของเมืองมาบำบัดและกรองมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ที่มีคุณภาพดีและขายราคาถูกกว่าน้ำประปา ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีทั้งการนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด และการซื้อน้ำจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนสูง โดยปัจจุบันเตรียมพร้อมและสนใจเรื่องรีไซเคิลน้ำมาก ทำให้ต้นทุนถูกลงกว่าการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเล และใช้เทคโนโลยีในการกรอง ทำให้ได้น้ำคุณภาพดี มีการให้ความรู้กับประชาชน ได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี เนื่องจากน้ำรีไซเคิลที่ได้มีคุณภาพน้ำดีกว่าน้ำประปา  มีการเดินระบบท่อจ่ายน้ำประปาผลิตจากน้ำรีไซเคิลนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ทั้งยังส่งกลับไปขายให้กับมาเลเซียอีกด้วย

        ด้านประเทศจีนมีการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำจากการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ 50,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันที่เมืองเทียนสิน โดยรับน้ำทิ้งจากโรงบำบัดน้ำเสีย Jizhuangzi และเดินระบบท่อจ่ายน้ำรีไซเคิลความยาว 52 กิโลเมตรไปยังชุมชน ซึ่งน้ำรีไซเคิลนี้สามารถจ่ายน้ำให้กับชุมชน 158,000 ครัวเรือน และการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ ใช้เป็นน้ำหล่อเย็น เป็นต้น ราคาค่าน้ำรีไซเคิลอยู่ที่ 0.3 ดอลลาร์ฯ ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกกว่าราคาค่าน้ำประปา

        “ประเทศไทยอาจใช้ต้นแบบของญี่ปุ่นและจีน คือการรีไซเคิลน้ำเสียมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ขายให้กับแหล่งที่ต้องการซื้อได้เลย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็สนใจ ส่วนบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของเทศบาลบางแห่งก็อยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำและเอากลับไปขายให้อุตสาหกรรม ชุมชน และภาคเกษตรก็ได้ แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องปลดล็อกกฎหมายหลายส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน เพราะน้ำทุกหยดควรมีประโยชน์มากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่รีไซเคิลให้หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ จึงจะมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน และช่วยเสริมศักยภาพอีอีซีให้เป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งความหวังของประเทศได้”

ชลประทานจัดงบพัฒนาเพิ่มแหล่งกักเก็บ

        ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปี 2563 กรมชลฯ มีโครงการที่จะดำเนินการ 877 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 176,968 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 939,595 ไร่ เก็บน้ำได้ 210.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ครัวเรือนได้ประโยชน์ 380,020 ครัวเรือน แบ่งเป็น 1.การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่จำนวน 421 แห่ง เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.77 แสนไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 2.58 แสนไร่ ปริมาณน้ำกักเก็บได้ 199.54 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 456 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 6.82 แสนไร่

        โครงการเร่งด่วนวางไว้เพื่อกักเก็บน้ำต้นทุนในฤดูฝน จำนวน 266 โครงการ งบประมาณรวม 2,705.7 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,300 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 3.74 แสนไร่ เก็บน้ำได้ 64.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ครัวเรือนได้ประโยชน์ 79,624 ครัวเรือน กระจายทั่วประเทศ แบ่งเป็น 1.แก้มลิงวงเงิน 975.4 ล้านบาท 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักวงเงิน 608.6 ล้านบาท ส่วนมากเป็นโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ 3.โครงการบรรเทาวิกฤติภัยแล้งและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกัก 859.6 ล้านบาท 4.ขุดลอกคลองวงเงิน 261.9

        สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของกรม ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ 1.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเสร็จจะช่วยลดอุทกภัยในพื้นที่และสามารถเก็บน้ำในลำน้ำได้จำนวนหนึ่ง 2.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช 3.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี 4.โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ และ 5.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออก แต่ละโครงการที่ได้มีการวางในงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีล้วนมาจากแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปีของประเทศที่นำมาจัดในงบรายปีเพื่อให้ส่งประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและคนไทยทั้งประเทศ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"