120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ เรียนรู้อดีตผ่านหนัง-ละครร่วมสมัย


เพิ่มเพื่อน    

ภาพยนตร์ “การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย” ที่เกี่ยวข้องกับปรีดี พนงยงค์

 

 

     ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 เป็นวันครบรอบ 120 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVIC-19) ในปัจจุบันยังคงเป็นโรคติดต่ออันตราย มีมาตรการป้องกันห้ามรวมกันของคนหมู่มากเพื่อความปลอดภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์  จึงงดการจัดงานและพิธีวางพานพุ่มอนุสาวรีย์ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ หลายองค์กรจัดกิจกรรมในวาระ 120 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

      หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นำเสนอ 2 ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์ และประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศไทย เพื่อฉายให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

      เรื่องแรกคือภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ “การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย” ที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย ซึ่งจัดรวมพลพรรคเสรีไทยทั่วประเทศ ประมาณแปดพันคน กระทำพิธีสวนสนามพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตร บนถนนราชดำเนินกลาง ใจกลางพระนคร ในวันที่ 25 กันยายน 2488 นับเป็นการประกาศต่อโลกว่าประเทศไทยยังมีเอกราชเหนือแผ่นดินตนเองโดยสมบูรณ์ ยังมีเกียรติศักดิ์ศรี มิได้ถูกยึดครองและถูกปลดอาวุธอย่างผู้แพ้ ให้ถือว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ สามารถรับชมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=qLiOfUqBaN0

 

ปรีดี พนมยงค์ ในกองถ่ายภาพยนตร์"พระเจ้าช้างเผือก"

 

      ภาพยนตร์เรื่องที่สองคือ “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ปรีดี พนมยงค์ อำนวยการสร้างและเขียนเรื่อง ออกฉายครั้งแรกพร้อมกัน 3 ประเทศ คือ ไทย อเมริกา และสิงคโปร์ ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2484 เพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพให้แก่นานาประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  สามารถรับชมได้ที่ www.youtube.com/watch?v=uiu7-X0Kh_U นอกจากนี้ หอภาพยนตร์ยังได้เผยแพร่บทความขนาดยาวชิ้นพิเศษ ความยาว 4 ตอน ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2544 เพื่อเล่าขานตำนานและบรรยายสุนทรียธรรมแห่ง "พระเจ้าช้างเผือก" และเพื่อประกาศวาระครบรอบ 60 ปี ของสามัญภาพยนตร์ที่สร้างโดย "ปรีดี พนมยงค์" อ่านได้ที่ www.fapot.or.th/main/information/article/view/250

ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ที่ปรีดี พนมยงค์ อำนวยการสร้างและเขียนเรื่อง

 

      ส่วนคณะละครอนัตตาเตรียมเสนอละครไทยร่วมสมัยเรื่องใหม่เผยแพร่ให้ชมผ่านเพจเฟซบุ๊ก Anatta Theatre Troupe เพื่อสืบทอดอุดมการณ์ของปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามสู่ระบอบประชาธิปไตย

      ประดิษฐ ประสาททอง ศิลปินรางวัลศิลปาธร ผู้ก่อตั้งคณะละคร "อนัตตา” กล่าวว่า คณะละครอนัตตาร่วมรำลึกถึงคุณูปการอาจารย์ปรีดี ในช่วงเวลาสำคัญระหว่างวันที่ 2-11 พ.ค.นี้ โดยท่านจากไปวันที่ 2 พ.ค.2526 ส่วนวันที่ 11 พ.ค. เป็นวันคล้ายวันเกิด ตนผูกพันกับอาจารย์ปรีดี ด้วยเป็นผลิตผลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้เกิดขึ้น และในฐานะคนไทยอยู่ใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตย แม้จะแหว่งวิ่นไม่สมบูรณ์ หลังคณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คุณูปการของคณะราษฎรยิ่งใหญ่ แต่ความทรงจำกลับพร่าเลือน มีการถกเถียงเป็นระยะ ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ร่วมลมหายใจ ตนใช้ศิลปะการแสดงสื่อสารเรื่องราว เคยทำละครเวทีเรื่องเพลงรัก 2475 สื่อแทนการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ถัดมาเรื่องมังกรสลัดเกล็ดได้แรงบันดาลใจจากชีวประวัตินางเซาะเซ็ง แม่อาจารย์ปรีดี ปรับให้เป็นละคร ต่อมาปี 2559 ครบ 100 ปีชาตกาล นำกลับมาสร้างละครฟอร์มใหญ่ อีกผลงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บุตรของท่านประสานให้ทำละครเวทีขนาดสั้นความยาว 10 นาที เสนอเรื่องราวยุคต้นของเสรีไทย พันตรีจำกัด พลางกูร เลขาธิการเสรีไทยสายในประเทศเดินทางไปจีน เพื่อทำภารกิจสำคัญสื่อสารไทยยืนอยู่ข้างจีน โดยทายาทรุ่นหลานรับบทอาจารย์ปรีดี แสดงที่เรือนโบราณ ทำเนียบท่าช้าง บ้านพักของอาจารย์ปรีดีและเป็นสถานที่บัญชาการเสรีไทย แสดงหน้าพระพักตร์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์

      “ ปีนี้เป็นวาระสำคัญครบ 120 ปีชาตกาล ผมตั้งใจสร้างบทละครเรื่องใหม่ เตรียมการตั้งแต่ปีที่แล้ว อ่านหนังสือค้นคว้าสะสมข้อมูลและตำราเอกสาร เจอประเด็นน่าสนใจเยอะมาก เหมาะกับการเล่าผ่านภาพยนตร์หรือละครซีรีส์จะเก็บรายละเอียดได้มาก แต่ถ้าเป็นละครเวทีความยาวไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง วางแผนการเล่าเป็นองก์ และเลือกอย่างระมัดระวัง เพื่อสะท้อนการต่อสู้ของคนยุคนั้น ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย จะไม่นำเสนอแนววีรบุรุษ แต่เป็นบุรุษอภิวัฒน์ พูดถึงผู้ที่มีส่วนร่วมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งต้านและสนับสนุน โดยมีอาจารย์ปรีดีเป็นองค์ประธาน ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ที่มีความเปราะบางและแข็งกร้าว ให้เห็นลมหายใจของการต่อสู้ บทละครขับเน้นอุดมการณ์และความใฝ่ฝันเปลี่ยนประเทศชาติให้ดีงาม และพูดถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่เกี่ยวข้องกับบุคคล 4 คน จะเปิดตัวละครพร้อมชื่อเรื่องวันที่ 11 พ.ค. วันคล้ายวันเกิด และจากนั้นพัฒนางาน ทดลองบทนำร่อง ทำให้บทกลมกลืน ครบ 1 ปี ในปี 2564 จะจัดแสดงอย่างสมบูรณ์ แต่สถานการณ์โควิดทำให้ไทม์ไลน์ไม่เหมือนเดิม รอคนมีความพร้อมกลับมาดูการแสดงละครสดๆ อีกครั้ง" ประดิษฐกล่าว

รำลึก 120 ปี ชาตกาล ผ่านภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" สร้างโดยปรีดี พนมยงค์

 

     ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวาระ 120 ปี ชาตกาล จัดโครงการบูรณะอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จ.พระนครศรีอยุธยา บ้านเกิดของท่าน อนุสรณ์สถานนี้ตั้งใกล้วัดพนมยงค์ วัดประจำตระกูล ด้วยปัจจุบันทรุดโทรมต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่และบูรณะโครงสร้างอาคารเรือนไทย 2 หลัง ที่ติดตั้งนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับรัฐบุรุษผู้นี้ ตลอดจนปรับการจัดแสดงนิทรรศการใหม่ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นหลังเรื่องประวัติศาสตร์ไทย   โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินผ่านทางบัญชี "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 091-0-24905-1 อีกทั้งจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” ของปรีดี พนมยงค์ เพื่อรำลึกถึงในโอกาสสำคัญนี้ด้วย

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"