พลังประชารัฐ หลังปรับทัพใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

 พปชร. หลังปรับทัพใหญ่ "บิ๊กป้อม"สลายขัดแย้ง-หลอมรวมพรรค

            ผลการประชุมใหญ่สามัญพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดกันที่ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม เมืองทองธานี เป็นไปตามคาด คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ขณะที่อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท เป็นเลขาธิการพรรค

                ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ตามข่าวจะกลับมาเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกรอบ หลังจากได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคให้เป็นกรรมการบริหารพรรค กล่าวถึงจังหวะก้าวทางการเมืองและทิศทางของพรรคพลังประชารัฐ หลังมีการปรับทัพใหญ่ เสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นกล่าวถึงการที่พลเอกประวิตรขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า พลเอกประวิตรเป็นคนที่ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม มีความเคารพ อีกทั้งพลเอกประวิตรมีประสบการณ์ทางการเมืองหลายบริบท อยู่มาหลายรัฐบาล ที่สำคัญก็คือ อยู่ในหน่วยงานราชการมาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น ข้อมูลต่างๆ ที่พลเอกประวิตรมีอยู่ สามารถแชร์กันได้กับกลุ่มนักการเมืองหรือ ส.ส. ที่สามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยพลเอกประวิตรเป็นคนที่ถ้าเรียกว่าเป็น "จุดแข็ง" ก็คือ เป็นคนที่รับฟัง เพราะเราอยากจะมีผู้นำที่เป็นผู้ฟัง

            "สิ่งนี้คือจุดแข็งของพลเอกประวิตร ในเรื่องของการสลายความขัดแย้ง และเป็นผู้ที่รับฟังปัญหา และที่สำคัญ นอกจากการเป็นคนที่รับฟังแล้ว ผมว่าด้วยประสบการณ์ท่านพลเอกประวิตร สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้แต่ละกลุ่มก้อนได้       ผมคิดว่า มันเป็นบริบทของพรรคการเมืองที่อาจจะไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ที่สุด แต่ทุกพรรคการเมืองก็ต้องค้นหาตัวเอง หาจุดหลักของตัวเอง พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่ยังใหม่ เพิ่งจะตั้งขึ้นมาได้ประมาณสองปี เราจึงยังคงต้องค้นหาตัวเองอีกเยอะถึงจะเจอความสมดุล"

            เมื่อถามถึงหลังการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในคณะผู้บริหารพรรค คนมองกันว่าภายในพรรคจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง เกิดคลื่นใต้น้ำภายในพลังประชารัฐ ณัฏฐพล-คีย์แมนพรรคพลังประชารัฐ มองประเด็นนี้ว่า จริงๆ ทางส่วนตัวแล้ว คุณอุตตม สาวนายน อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับพลเอกประวิตร ก็คุยกันได้อยู่แล้ว แนวทางอันนี้ก็อาจเป็นแนวทางที่ไม่ได้ตรงกับทุกกลุ่ม เพราะถ้าตรงกับทุกกลุ่ม ก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องนี้ที่จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ผมว่าต้องแยกให้เห็นชัดเจนว่านี่คือการบริหารจัดการพรรค ที่คิดว่าแนวทางนี้คือแนวทางที่พรรคพลังประชารัฐจะเดินไปในช่วงข้างหน้า แต่ครั้งหน้าก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีก เช่น หากยังมีความไม่สมดุลอะไรต่างๆ มันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

            ...ทุกพรรคการเมืองก็เป็นแบบนี้ ถึงเวลาที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคการเมืองทีหนึ่ง บริบทการบริหารพรรคการเมืองก็เปลี่ยนไปตามบุคลิกของหัวหน้าหรือทีมงานนั้นๆ ผมจึงมองว่าหลังจากนี้ พรรคพลังประชารัฐไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

            ณัฏฐพล-หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวย้ำว่า จุดแข็งทางการเมืองของสองแกนนำพรรคทีมใหม่ คือพลเอกประวิตรกับนายอนุชา ก็คือทั้งสองคนเป็นนักฟัง และเป็นคนที่หาทางออกได้ จะด้วยประสบการณ์ อย่างคุณอนุชา นาคาศัย เรียกได้ว่าเป็น ส.ส.ที่มีเพื่อนอยู่ในทุกพรรคการเมือง ส่วนพลเอกประวิตรเองก็เป็นคนที่มีบารมี รู้จักกับทุกพรรคการเมือง

            ...ผมว่าการเดินไปข้างหน้ามันเป็นการผสมผสานความเข้าใจกับกลุ่มที่เห็นต่างเพื่อที่เราจะได้เดินไปด้วยกัน สร้างความขัดแย้งให้น้อยที่สุด ผมว่าประเทศไทย เราจะกลับไปมีความขัดแย้งเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะแค่ไวรัสโควิดมันก็หนักแล้ว เราจะเดินไปข้างหน้า เราต้องร่วมกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รับฟังความคิดเห็นกัน ประนีประนอมกัน แต่ไม่ได้ฮั้วกัน ผมว่าเราต้องทำความเข้าใจว่าเหตุผล ที่มาที่ไปคืออะไร ถ้าหากเราไม่สร้างความเข้าใจตรงนี้ มันจะเป็นความแตกแยกที่สุดท้ายประเทศขับเคลื่อนไม่ได้ วันนี้เราต้องทำให้กลไกของประเทศขับเคลื่อนไปได้ให้ดีที่สุด

            ..จะเห็นตัวอย่างในช่วงโควิด-19 ทำไมเราไปกันได้ เพราะไม่มีใครมาขวาง เราเดินไปตามในสิ่งที่ควรจะเป็น ทำไมทางนายกรัฐมนตรีบอกว่าอยากให้เราช่วยกันแก้ปัญหาเหมือนกับตอนที่มีโควิดทุกวัน ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ฟังฝ่ายค้าน แต่เราฟังเสียงสะท้อนออกมาว่า คนส่วนใหญ่ยอมรับมาตรการที่ออกมาทั้งการประกาศเคอร์ฟิว การใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเราคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก วันนี้นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าอยากรับฟังทุกกลุ่ม นายกรัฐมนตรีก็พูดชัดเจน

            ผมว่าการที่พลเอกประวิตรกับนายอนุชามาเป็นผู้บริหารพรรค ก็จะเป็นผู้ฟังเหมือนกับนายกรัฐมนตรี แล้วจะเป็นคนส่งสารต่อไปถึงนายกรัฐมนตรีว่า ในบริบทพรรคการเมืองเขาคิดเรื่องต่างๆ กันแบบนี้ แล้วทางนายกฯ คิดอย่างไร เหมือนกับเป็นตัวกรองในระดับหนึ่ง ผมถึงเชื่อว่า หลังจากนี้พรรคพลังประชารัฐจะไม่ได้มีปัญหาอะไรกันในพรรคอย่างที่คิดกัน คือบางทีเราอาจไปคิดถึงความแตกแยกแบบเดิมๆ มันก็เลยทำให้มีข้อกังวลตรงนั้น คือเรื่องความเห็นที่แตกต่างมีอยู่แล้วในพรรคการเมือง ไม่มีก็แปลก

                - แต่ในพรรคพลังประชารัฐก็พบว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีกลุ่มทางการเมืองต่างๆ มากมาย ร่วมๆสิบกว่ากลุ่ม?

            กลุ่มการเมือง ถ้าหากว่ามีการแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน แล้วแสดงกันต่อหน้า แบบนี้ผมว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ปัจจุบันมีการสื่อสารที่รับและกระจายข้อมูลได้ง่าย ผมว่าเรื่องนี้บางทีมันทำให้มีโอกาสบิดเบือนกันได้ ถ้าหากว่าเห็นต่างแล้วเคลียร์กันไปเลยว่า เห็นต่างกันอย่างไร เหมือนในอดีต เวลามีปัญหา ก็เคลียร์กัน แต่ในช่วงหลังที่เริ่มมีการใช้สื่อมาแสดงออก ก็เลยเป็นปัญหาที่มี วันนี้ผมไม่อยากให้เวลามีปัญหาแล้วเราไม่กล้าพูดกัน

            ผมมองว่าพลังประชารัฐมาถึงวันนี้ เราก็เป็นแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาล ในขณะที่เราต้องยอมรับว่า แม้เราจะไม่ได้มีจำนวน ส.ส.รวมทั้งหมดมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่พรรคได้คะแนนเสียงโหวตรวมทั่วประเทศมาเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น เราก็จะต้องตั้งเป้าว่าต่อไป พลังประชารัฐจะต้องเป็นอันดับหนึ่งทั้งเรื่องคะแนนรวมเสียงโหวตและจำนวน ส.ส.หลังการเลือกตั้ง อันนี้คือเป้าหมาย เราไม่ได้มารวมพลัง มาปรับเปลี่ยนกันในพรรคเพื่อให้เรามีพลังน้อยกว่าเดิม แต่เราต้องทำเพื่อให้พรรคมีพลังมากกว่าเดิม

ต้องเสริมแกร่งทีมนโยบาย-งานวิชาการพรรค

                ณัฏฐพล-แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ร่วมก่อตั้งพรรคมาตั้งแต่แรกๆ หลังออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นับถึงปัจจุบัน เกือบสองปีของการตั้งพรรคพลังประชารัฐ สิ่งที่เห็นว่าพรรคจะต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนทางการเมืองต่อไป หลังจากนี้ ก็มีอาทิ เรื่องทีมนโยบายของพรรค อาจจะต้องแข็งแกร่งมากกว่านี้ และทีมวิชาการของพรรคต้องให้มีการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นจากภาคเอกชน เพราะยังเข้ามามีส่วนร่วมน้อยอยู่ ซึ่งจากพื้นฐานที่ทั้งพลเอกประวิตรและนายอนุชา ที่เป็นผู้ฟัง ก็จะทำให้เราเปิดรับฟังความคิดเห็นมากขึ้นจากทุกภาคส่วนที่รวมถึงภาคเอกชนด้วย

             นอกจากนี้ ในเรื่องการสร้างคะแนนนิยมผ่านสมาชิก ที่พลังประชารัฐเราเป็นพรรคใหญ่ แต่จำนวนสมาชิกพรรคยังอยู่ในระดับหมื่น คือ 40,000-50,000 คน ผมว่ายังไม่ค่อยเหมาะสม เราคงต้องรวมพลังเพื่อผลักดันให้มีมากกว่านี้

            ณัฏฐพล-แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าทีม กทม.ของพลังประชารัฐ ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า เรื่องท้องถิ่น เป็นเรื่องที่พรรคพลังประชารัฐให้ความสนใจอยู่แล้ว เพราะท้องถิ่นคือพื้นฐานของการเมืองระดับชาติ ส่วนพื้นที่ตรงไหน เราจะเลือกสนับสนุนใครอย่างไร ผมคิดว่าเรามีข้อมูลเพียงพอ อย่าง "กรุงเทพมหานคร" เป็นพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่สำคัญ ที่เราต้องนำคนที่เรามั่นใจหรือสนับสนุนคนที่เราคิดว่าเขาจะเข้าไปขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครได้ เพื่อทำให้สุดท้ายนโยบายของพรรคสามารถได้รับการตอบสนองผ่านตัวผู้ว่าฯ กทม.ได้ ซึ่งตัวบุคคลเองก็มีผู้ที่สนใจอยู่หลายคน บางคนก็เคยได้ยินชื่อกันอยู่แล้ว เรามีอดีตรองผู้ว่าฯ ที่อยู่ในเครือข่ายการทำงานก็หลายคน และนักการเมืองที่อยู่ในสาย กทม.ก็มีอยู่หลายคน ผมก็คิดว่าการผสมผสานระหว่างความคุ้นเคยกับการทำงานในกรุงเทพมหานคร ที่จะแสดงให้เห็นว่าเรามีความเข้าใจและอยากเข้าไปแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานคร

            พรรคเรามั่นใจว่ามีทีมนโยบายที่สามารถเข้าไปแก้ปัญหา กทม.ได้ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม-การใช้ชีวิตประจำวันของคน กทม. เพราะอย่างที่ผมทำงานเป็น รมว.ศึกษาธิการมาก็ได้เห็นวิถีชีวิตของเด็กนักเรียนใน กทม.แล้ว ผมคิดว่าเราจะทำอะไรได้อีกเยอะ เพียงแต่ว่าเราจะมีโอกาสได้ทำตรงนั้นหรือไม่

            ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชื่อของ ณัฏฐพล-รมว.ศึกษาธิการ มีชื่อปรากฏในพื้นที่สื่อหลายรอบว่าเป็นอีกหนึ่งแคนดิเดต ที่อาจขยับไปอยู่กระทรวงด้านเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงพลังงาน หากมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นในอนาคต เลยถามถึงเรื่องกระแสข่าวปรับ ครม.ว่าหากมีการปรับย้ายไปกระทรวงอื่น เสียดายหรือไม่ ที่อาจทำให้สิ่งที่เคยคิดจะขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา ก็อาจไม่ได้ทำต่อเพราะไปอยู่ที่อื่น  คำถามนี้ ณัฏฐพล-รมว.ศึกษาธิการ ตอบย้ำชัดๆ ว่า เสียดายจนรู้สึกไม่อยากไป ผมก็ผูกพัน แต่ไม่ได้ผูกพันแบบไปยึดติดกับตำแหน่ง แต่ผมผูกพันกับงานที่ทำมาในช่วงหนึ่งปี และผมคิดว่าการทำงานด้านการศึกษาต้องมีความต่อเนื่อง ถ้าหากว่าไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง นโยบายก็จะเปลี่ยน คนทำงานก็จะสับสน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นอำนาจของผมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะเห็นถึงความเหมาะสม สำหรับผมไม่ได้มีปัญหา

            ....แต่ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการเป็นพื้นฐานของการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่อาจใช้เวลา 2 ปีหรือ 3 ปี ก็แล้วแต่ ซึ่งหากเราวางรากฐานตรงนี้ไม่แน่น สุดท้าย เศรษฐกิจอาจจะไม่แข็งแรง แล้วการที่เราจะวางรากฐานของการศึกษา ที่ไม่ใช่แค่ระดับอุดมศึกษา-ระดับมหาวิทยาลัย แต่รวมถึงในส่วนของอาชีวศึกษา-การเตรียมความพร้อมให้กับเด็กนักเรียนเรียนตั้งแต่ มัธยมปลาย ม.4-ม.6 ที่จะขึ้นไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่เรียนตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่ อย่างเราพูดถึงการท่องเที่ยว-การสาธารณสุข-การเกษตรสมัยใหม่-การลงทุน ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการศึกษา หรือการใช้ภาษา เราก็ต้องทำอะไรที่ต้องไปสนับสนุนตรงนั้น

            คณะรัฐมนตรีก็ได้วางรากฐานไว้ มีการอนุมัติอะไรไว้หลายอย่าง เพื่อตอบสนองสิ่งเหล่านี้ ผมเองก็วางโครงสร้างอะไรไว้หลายอย่างเพื่อการพัฒนาตรงนี้ ได้วางรากฐานที่จำเป็น ที่หากได้มีโอกาสทำต่อ ก็เรียกได้ว่าเป็นความต่อเนื่องของเรื่องนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในอนาคต. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"