'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' ร้อง 'ยูเอ็น' แกนนำคัดค้านโครงการเมืองอุตสาหกรรมถูกคุกคามหนัก


เพิ่มเพื่อน    

"เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ร้อง "ยูเอ็น" แกนนำคัดค้านโครงการเมืองอุตสาหกรรมถูกคุกคามหนัก ระบุส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารประกบตัวถึงบ้านแถมสร้างเพจ IO หวั่นเวทีรับฟัง 11 กค.บานปลาย

9 ก.ค.63 - คณะทำงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นำโดย น.ส.ไซหนับ ยะหมัดยะ ได้เดินทางไปยังอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กทม. เพื่อยื่นหนังสือถึงสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UN Resident Coordinator) และผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย (EU) เพื่อขอให้ตรวจสอบรัฐบาลไทยและติดตามโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

ในหนังสือระบุว่าตามที่รัฐบาลไทย โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบหลักการจะนะเมืองต้นแบบฯ โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งโครงการฯนี้ต้องการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของตำบลนาทับ ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยอ้างว่าจะจัดสรรพื้นที่รองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 แห่ง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่ และได้อนุมัติการใช้งบประมาณก้อนแรก 18,680 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และได้ดำเนินการเชิญชวนประชาชนในพื้นที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ โดยอ้างว่าประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์ และทางรัฐจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถขออะไรก็ได้ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างดีที่สุด 

ในหนังสือระบุว่า หากในข้อเท็จจริงแล้วโครงการนี้จะสร้างปัญหาให้กับประชาชนในอนาคตในหลายมิติ คือ 1. การเริ่มต้นโครงการนี้กำลังสร้างความขัดแย้งอย่างหนักในพื้นที่ อันเกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างจากความไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงของโครงการของประชาชน ซึ่งมีความกังวลว่าโครงการนี้จะสร้างความเจริญหรือจะเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับคนในพื้นที่มากกว่า และท้ายที่สุดแล้วคนที่ได้ประโยชน์แท้จริงคือกลุ่มทุน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

2.เจ้าหน้าที่รัฐได้สร้างความหวังเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยบอกว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะดำเนินการให้มีการอนุมัติกรรมสิทธิ์ที่ดินกับประชาชนในกรณีรายที่ไม่มีกรรมสิทธิ์มาก่อน จึงเสมือนเป็นการล่อลวงให้หลงเชื่อ เพื่อหวังจะใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนโครงการ ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนจะมีการจับจองเพื่อขอซื้อที่ดินเหล่านั้นของชาวบ้านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม และยิ่งไปกว่านั้นวิธีการนี้คือการเอื้อประโยชน์นายทุนผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ที่ต้องการขายที่ดินให้กลุ่มทุน

3.ศอ.บต. และกลุ่มทุนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ พยายามรวบรัดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน โดยไม่สนใจระเบียบปฏิบัติทางกฎหมาย และไม่สนใจต่อสภาวะทางสังคม วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อันรวมถึงวิกฤติด้านสุขภาพในปัจจุบัน ดังเช่นความพยายามที่จะจัดเวทีแก้ไขผังเมืองในช่วงการที่มีการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรง

4.โครงการนี้จะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง อันรวมถึงสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเล ทั่วทั้งจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง อันจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบล ของอำเภอจะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

5.ประชาชนในพื้นที่จะขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อันเป็นผลพวงจากที่ดินจำนวนมากที่จะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และที่ทำกินในทะเลอันเป็นพื้นที่ทำการประมงสำคัญของจังหวัดสงขลาก็จะได้รับผลกระทบจากการมีท่าเรือขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง และเชื่อว่ากิจกรรมจากการเดินเรือขนส่งสินค้าจะส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านแห่งนี้ยากลำบากมากขึ้น และอาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป

6.มีการคุกคามผู้ที่ลุกขึ้นมาแสดงออกแสดงความเห็นคัดค้านโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจไปถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมการรับฟังความเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ หรือไม่การจัดตั้งกลุ่มบุคคลไปถือป้ายเป็นขบวนขับไล่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะเนื่องจากคัดค้านโครงการ และการสร้างเพจเฟซบุ๊กในลักษณะ Information Operation(IO) หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” คุกคามผู้คัดค้านโครงการ

7.มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายจังหวัดในภาคใต้เพื่อไปอารักขาการประชุมรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 กรกฎาคม นี้ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่คัดค้านโครงการที่จะไปแสดงความเห็นในเวที

“การกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และไม่ชอบตามหลักกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง จึงขอให้ได้โปรดติดตามการกระทำของรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการในโครงการนี้ดังนี้ 1.ติดตามและให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการของคณะรัฐบาลไทยว่าได้ดำเนินการภายใต้แนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และหลักสิทธิมนุษยชน หรือไม่

2.ติดตามตรวจสอบและทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ในกรณีที่มีละเมิดสิทธิชุมชน และหลักการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภายใต้สนธิสัญญา กติการะหว่างประเทศ ที่รัฐไทยได้ผูกพันไว้ 3. ขอให้ติดตามและสังเกตการณ์ที่ ศอ.บต.จะจัดประขุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามสถานการณ์มิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน”ในหนังสือ ระบุ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"