เปิดผลวิจัยชายแดนใต้ ถ้าเมินศึกษา'แบ่งแยกดินแดน-เอกราช'กระทบยุทธศาสตร์สร้างสันติสุข


เพิ่มเพื่อน    

 

 

   วันนี้ - ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)  จัดเวทีสัมมนาวิชาการสาธารณะ  ชายแดนใต้ : พื้นที่ ผู้คน และข้อเสนอเชิงนโยบาย  รายงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการงานวิจัยประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ (SRI13)  ผ่านโครงการวิจัยชายแดนใต้เข้มข้นกว่า 9 โครงการ เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อเสนอเชิงนโยบายแก่หน่วยงานรัฐ และประชาชน

     รศ. ดร.มารค ตามไท สถาบันเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ด้วยตระหนักถึงความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ชีวิตคนยังรู้สึกถูกคุกคาม จึงจำเป็นต้องหาวิธีจัดการแบบใหม่ รัฐมักจะตั้งคำถามว่าขบวนการปาตานีต้องการอะไร แต่ตั้งคำถามผิดหรือเปล่า หรือควรถามว่าขบวนการปาตานีสู้ไปเพราะอะไร มีคุณค่าอะไรอยู่เบื้องหลังการต่อสู้ การแบ่งแยกดินแดน และเอกราช เป็นคำที่ทำให้คนตกใจ แต่ถ้าไม่นำมาศึกษาจะกระทบประสิทธิภาพของทั้งการประเมินยุทธศาสตร์ปัจจุบันและการหายุทธศาสตร์สร้างสันติสุขที่เหมาะสมกว่า  ตนจึงทำโครงการสานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนา เพื่อสร้างจินตนาการใหม่ เพื่อหาเหตุผลของคนปาตานีที่ต้องการเอกราช โดยการสัมภาษณ์ชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราช 1,000 คน ทั้งนี้ มี ผู้ตอบคำถามที่น่าสนใจ โดยเห็นว่า ปาตานีมีความแตกต่างจากรัฐไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อ แม้รัฐไทยปกครองดีแค่ไหน ก็ไม่ตอบโจทย์อัตลักษณ์ของพวกเขา เพราะรัฐไทยไม่เคยเข้าใจ และไม่มีวันจะเข้าใจจึงเป็นเหตุผลของการต้องการเอกราช ขณะที่อีกส่วน มองว่า เพราะเอกราชเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่รักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและชาวปาตานี ความขัดแย้งจะไม่ยุติลงได้ จนกว่าเจ้าของที่ดินจะได้ดินแดนของตนเองกลับคืนมา

       ร.ศ.ดร.มารค กล่าวต่อว่า เราได้ค้นพบเหตุผลหลักที่ชาวปาตานีซึ่งสนับสนุนเอกราชให้ไว้คือ 1.ความเป็นเจ้าของดินแดน 2.การเป็นวิธีที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา 3.การเป็นพันธะทางศาสนา และ 4. การเป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด ทั้งนี้ ผลงานวิจัยได้มีข้อแนะนำสำหรับการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ คือ รัฐไทยควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนปาตานีถกกันเองอย่างเปิดเผยและกว้างขวางเกี่ยวกับอนาคตของปาตานีว่าจะเดินตามเส้นทางเอกราชหรือไม่ และรัฐไทยควรดำเนินการนี้ โดยมีวุฒิภาวะพอที่จะส่งเสริมการคุยกันครั้งนี้ระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยกันเอง ด้วยความปรารถนาดีต่อความสุขใจของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง

       ด้าน รศ.ปัญญา เทพสิงห์ ภาควิชาสารัตถศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตนได้จัดทำงานวิจัยกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธภายใต้บทบาทผู้นำศาสนาของชุมชนหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ความคิดของพระสงฆ์และผู้นำศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของชาวมุสลิมและชาวพุทธ ประกอบด้วยความคิดที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ความสามัคคีของคนในชุมชน คือ พลัง และความคิดด้านเมตตาธรรมตามที่ยึดตามแบบอย่างศาสดา ขณะที่กิจกรรมที่เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธภายใต้บทบาทพระสงฆ์และผู้นำศาสนาอิสลาม ประกอบด้วย 1.การจัดงานฉลอง มีพิธีการแสดงมุทิตาจิต และมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนทั้งพุทธและมุสลิม 2.การจัดตลาดนัดในเขตวัดมีผู้นำศาสนาร่วมกิจกรมของโรงเรียน พร้อมนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และอิหม่าม 3.การช่วยเหลือเด็กกำพร้า ทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทั้งนี้ แม้มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนสองศาสนา แต่ก็มีเสียงวิพากษ์แต่ละกิจกรรมส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมภายนอก ดังนั้น ควรดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสม โดยเลือกสถานที่เป็นกลาง ไร้พิธีการ และเกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"