'เอนก'ถอดบทเรียน'การเมืองมาเลย์-มหาเธร์'เป็นแรงดลใจสร้างอนาคตการเมืองไทยให้มีความหวัง


เพิ่มเพื่อน    

11พ.ค.61- นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของทฤษฎี "สองนคราประชาธิปไตย" แสดงความเห็น เรื่อง มองมหาเธร์ เห็นอนาคตการเมืองไทย ใน Fb page เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas ว่า มหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ คนหนึ่งของเอเชีย ของโลก อย่างไม่ต้องสงสัย ในหน้าประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย นั้นเขายิ่งใหญ่กว่าตนกู อับดุล รามาน นายกรัฐมนตรีคนแรกเสียอีก ไม่เพียงแต่จะปกครองประเทศนานถึง 22 ปีเท่านั้น หากยังทิ้งผลงานยิ่งใหญ่ไว้อย่างน้อยสามประการคือ หนึ่ง นโยบายภูมิบุตร ที่สนับสนุนส่งเสริมคนมาเลย์และพื้นเมืองเดิมทั้งหมดให้ขึ้นมาเป็นคนชั้นกลางเป็นอย่างต่ำ ทัดเทียมได้อย่างรวดเร็วกับคนเชื้อสายจีนและอินเดีย 

สอง แม้มหาเธร์จะไม่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่ ควบคุมทุนจีน-อินเดีย และทุนต่างชาติอื่นๆ ไม่น้อย แต่ก็สามารถผลักดันมาเลเซียให้พ้นจากประเทศเกษตรกรรมไปเป็นชาติอุตสาหกรรมใหม่ได้ก่อนไทยเสียอีก ในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมดระดับการพัฒนาของมาเลเซียนั้นจะแพ้ก็เพียงแต่สิงคโปร์เท่านั้น อยู่เหนือกว่าไทย เหนือกว่าอินโดนีเซีย และสาม ในช่วงปี 2540-2543 ที่เกิดวิกฤตเงินบาททั่วเอเชีย อันเริ่มจากวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ที่ไทยก่อน มหาเธร์ในฐานะนายกรัฐมนตรี แสดงความเข้มแข็ง ไม่ยอมต่อพวก”ตะวันตก” ไม่ลดค่าเงินริงกิต ตามที่ IMF และธนาคารโลกต้องการ และ ก็ฟันฝ่าวิกฤตไปได้ โดยเศรษฐกิจไม่เสียหายเลย ในขณะที่ไทย และ อีกหลายประเทศ ธุรกิจ ธนาคาร และสถาบันการเงินฟุบล้ม ประชาชนตกงานและอยู่อย่างลำบากหลายปี นับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยโตอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 2-4 ไม่อาจกลับไปโตเกิน ร้อยละ 5 ต่อปี ดังเช่นเดิมได้อีกเลย

เมื่อมหาเธร์ส่งมอบอำนาจให้บัดดาวีและต่อด้วยนาจิ๊บนั้น คนมาเลเซียคิดว่ามหาเธร์จะเป็นแต่อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น ทำนองเดียวกับที่คนสิงคโปร์คิดต่อลีกวนยู แต่เมื่อประชาธิปไตยในบ้านเมืองเขาเสื่อมทรามลง ประชาชนจำนวนมากเห็นว่านายกรัฐมนตรีนาจิ๊บลุแก่อำนาจ และทำการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังพยายามจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหนึ่งสมัย เพื่อจะระดมสรรพกำลังหลังการเลือกตั้งได้ยิ่งขึ้น ในการที่จะทำลายฝ่ายค้าน ฝ่ายวิจารณ์ หรือ ฝ่ายตรงข้าม และกระทั่งเพียงฝ่ายที่เอนเอียงไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล มหาเธร์ในวัย 92 ก็ตัดสินใจ หวลกลับสู่การเมือง ร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม คู่ปรับเก่าของเขาเอง เพื่ออนาคตของประเทศเขาไม่หันไปมองอดีตอันขมขื่นที่เขามีกับอันวาร์ เขาสัญญาว่าถ้าชนะการเลือกตั้งจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงสองปี และจะกราบบังคมทูลพระราชาธิบดีให้นิรโทษอันวาร์ เอาอันวาร์ออกจากคุกมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา แม้แต่คุกตารางที่กั้นอันวาร์ออกจากเขาอยู่ ก็ไม่อาจขวางภารกิจกู้บ้านกู้เมืองของสองมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ลืมความหลัง เลิกละความเป็นศัตรูกัน หันมาร่วมกันล้ม นาจิ๊บให้ได้ ตลอดการหาเสียงอันเข้มข้นดุเดือด ภรรยาของอันวาร์ หญิงแกร่งยืนอยู่เคียงข้าง เคียงบ่าเคียงไหล่ กับมหาเธร์ ในนามของสามี ผู้ถูกจำคุกด้วยในข้อหาอัน “พิลึกพิลั่น” ในสายตาสาธารณชน คือเสพกามกับผู้ชาย

ประชาธิปไตยในมาเลเซีย เมื่อแรกกำเนิดนั้น สะอาดบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความรักชาติ สู้เพื่อเอกราช จากนั้นมาก็เสื่อมลงไปตามลำดับ ในสมัยมหาเดร์นั้น แม้ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างน้อยสามประการที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็ต้องมัวหมองไปไม่น้อยกับความขัดแย้งระหว่างมหาเธร์และอันวาร์ อิบราฮิม แต่ในวัย 92 ที่เขาควรจะหยุดพักผ่อนแล้ว แต่เพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่ตนเองก็มีส่วนสร้างขึ้นมา เพื่อนำประเทศให้กลับมาสู่มรรควิถีที่ถูกต้อง เพื่อหยุดประเทศอันเป็นที่รักไม่ให้เป็นรถไฟที่วิ่งไปในทางที่จะดิ่งลงไปสู่เหวลึก มหาเธร์สู้เต็มที่ มีความหวัง ซึ่งทีแรกดูเป็นความฝัน ฝันลมๆแล้งๆ ของคุณปู่คุณทวด ไม่ใช่คนหนุ่ม ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ แต่ที่สุด เมื่อเราทำอะไรสุดชีวิต เกินกว่าที่ใครๆจะคาดคิดได้ เมื่อนั้น “มหัศจรรย์” หรือ “อภินิหาร” ก็มีจริง ฟ้าโปรด สวรรค์เปิด มหาเธร์ในวัย 92 กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่”แก่” ที่สุดในโลก เหมาะกับยุค aging society เป็นคนละแบบ คนละขั้วกับ “มาครอง” ประธานาธิบดีวัย 39 หนุ่มที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

มหาเดร์ให้แง่คิดอะไรกับเราครับ ? หนึ่งคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ไม่ได้ดูที่อายุ มาครอง คนรุ่นใหม่ อายุ 39 แต่มหาเธร์ก็เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 92 ปี แต่มองไปข้างหน้า เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของสังคม สนธิกำลังกับคนอายุรุ่นหลัง เช่นอันวาร์ อิบราฮิมและเยาวชนจำนวนมากที่ประท้วงคัดค้านนาจิ๊บมาอย่างหนัก หากอาศัยแต่คนหนุ่มสาวและวัยเยาว์ “การใหญ่”ของท่านมหาเธร์ และเชื่อว่าของประเทศด้วย คงจะไม่สำเร็จแน่นอน

สอง คนเรานั้น ไม่สำคัญว่าจะมี จะได้ตำแหน่งอะไร แม้ตำแหน่งนั้นจะสูงถึงระดับผู้นำประเทศ ที่สำคัญเราจะเอาตำแหน่งไปทำไม ไปทำอะไร คุณปู่มหาเดร์ผู้พักผ่อนและเกษียณสู่ชีวิตส่วนตัวแล้ว เมื่อเห็นว่าบ้านเมือง”ร้อนร้าย “ จำต้องกลับมา ก็กลับมาอย่างกล้าหาญ อายุที่เกือบร้อยไม่เป็นอุปสรรคกับเขาเลย เขาก็ทำได้สำเร็จจริงๆ ที่จริงการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาในเที่ยวนี้ที่จริงไม่สำคัญเท่าการใช้ประชาธิปไตยมากู้บ้านกู้เมืองได้สำเร็จ ไม่สำคัญเท่าการทำพรรคและสร้างนักการเมือง เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปหรืออภิวัฒน์ประเทศ ไม่ใช่การเมือง “รูทีน” ความจริงจะเรียกว่าเป็นการเมืองเพื่อหักวิถีของประเทศไม่ให้กลายเป็น”รัฐล้มเหลว” ก็พอจะพูดได้

สาม การเมืองของเรา หากเอามหาเธร์และการเมืองมาเลเซียเป็นแรงดลใจ ก็ขอว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ อย่าให้วนเวียนอยู่กับคำถามว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เท่านั้น ขออย่าวนอยู่เพียงกับคำถามเก่า ๆ ว่า ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์จะกลับมาไหม ควรกลับมาไหม และจะกลับมาอีกได้ไหม ขอให้ตั้ง “ปณิธานใหม่” ด้วยว่า เราจะหย่อนบัตรอย่างไร ให้พรรคอะไร พรรคอย่างไร นักการเมืองเช่นไร จึงจะได้ผู้คน ผู้นำ และสถาบันที่จะมาปฏิรูปประชาธิปไตย มาปฏิรูปประเทศ ให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศ อย่างมั่นคง ได้อย่างไร ตรองให้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด คิดที่จะรู้รักสามัคคีกันให้มากที่สุดอย่างไร และที่สำคัญที่สุดทำอย่างไรจึงจะเป็นการเลือกตั้งที่จะทำให้บ้านเมืองมีอนาคตมีความหวัง ให้การเลือกตั้งครั้งนี้สมกับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรัชกาลใหม่ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมรัชสมัยใหม่ได้หรือไม่ ผมใคร่ขอเชิญชวนทุกพรรคทุกฝ่าย นักการเมือง และประชาชนจงมีปณิธานอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ทำการเมืองให้เป็นทางออกและความหวังของบ้านเมืองได้ พรรคและนักการเมืองทั้งปวงจงเสียสละ จงอดทน ระดมสรรพกำลัง สรรพปัญญา เพื่อประเทศ และเพื่อประชาชาติไทย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"