ส่อพิรุธ! อุทยานฯแก่งกระจานห้ามชาวเล-นักข่าวค้างแรมบ้านบางกลอย ก่อนเจรจาพรุ่งนี้


เพิ่มเพื่อน    

24 ก.พ.64 - ที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ตัวแทนเครือข่ายชาวเล 15 คนซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดแถบทะเลอันดามัน ได้นำปลาแห้ง 150 กิโลกรัม ปลาสด และข้าวสาร 4 ตัน เพื่อเดินทางไปมอบให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยถือสำเนาหนังสือขออนุญาตที่เครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ส่งให้กรมอุทยานฯ ล่วงหน้า โดยมีสื่อมวลชนจากสำนักข่าวต่างๆ กว่า 10 คนร่วมติดตามมาทำข่าว ซึ่งทั้งหมดวางแผนว่าจะนอนค้างคืนที่หมู่บ้านบางกลอยล่าง

เวลา 10.00 น. เมื่อเดินทางมาถึงที่ทำการอุทยานฯ เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ยินยอมให้ทั้งคณะชาวเลและสื่อมวลชนเดินทางเข้าไปส่งมอบปลาที่หมู่บ้านบางกลอย แม้ตัวแทนขาวเลได้อ้างถึงหนังสือขออนุญาตไว้แล้วและมีการลงนามตอบรับจากอุทยานฯ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งกับตัวแทนชาวเลให้ไปรอพบนางสาวเนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ที่ห้องประชุมเล็ก ซึ่งกำลังมีการประชุมสรุปการปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร อย่างไรก็ตามภายหลังประชุมเสร็จสิ้น ไม่ปรากฏว่านางสาวเนตรนภาจะออกมาพบและได้รับแจ้งว่าผู้ที่ร่วมประชุมได้เดินออกประตูหลังห้องประชุมแล้ว

อย่างไรก็ตามนายนิจิตฌาพงศ์ บัณฑิตสมิทร์ รักษาการหัวหน้าอุทยานฯ ได้แจ้งกับตัวแทนชาวเลว่า ให้ประสานกลับไปที่กรมอุทยานฯ เพื่อขออนุญาต แม้ตัวแทนชาวเลจะระบุชัดว่าได้ทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้าไว้แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่ง เวลา11.30 คณะชาวเลและสื่อมวลชนจึงตัดสินใจเดินทางไปรอที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 6 ด่านเขามะเร็ว เพื่อรอการอนุญาตเข้าพื้นที่จากกรมอุทยาน โดยมีการนำปลาออกมาตากแดด เพื่อไม่ให้ปลาที่เตรียมมาเน่าเสีย

เวลา 13.00 น. นายนิจิตฌาพงศ์ บัณฑิตสมิทร์ รักษาการหัวหน้าอุทยานฯ พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยาน เดินทางมาที่ด่านมะเร็ว พบกับตัวแทนชาวเล พร้อมกับแจ้งว่าได้รับคำสั่งให้ชาวเลสามารถเข้าพื้นที่ได้ โดยขอให้ตัวแทนชาวเล 3 คน มาพูดคุยทำความเข้าใจต่อเงื่อนไขในการอนุญาตครั้งนี้ โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวรับฟัง ทั้งนี้ตัวแทนชาวเลแจ้งให้นักข่าวทราบว่า อุทยานฯยินยอมให้เข้าพื้นที่ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าให้นับจำนวนทุกคน พร้อมลงชื่อ และถ่ายรูปบัตรประชาชนเป็นหลักฐาน โดยไม่อนุญาตให้ค้างคืน และต้องเดินทางกลับมาภายในเวลา 24.00 น.

จากนั้นตัวแทนชาวเลและสื่อมวลชนจึงเดินทางต่อไปได้จนถึงหมู่บ้านบางกลอยในเวลา 16.00 น. และส่งมอบปลาให้ชาวบ้านโดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น เด็กๆหลายคนให้ความสนใจปลาสดตัวใหญ่ๆ จากทะเลอันดามัน โดยนายนิรันดร หนังปาน ตัวแทนชาวเล กล่าวว่า อยากให้พี่น้องได้กินปลาสดกับปลาแห้ง ที่พี่น้องชาวเลตั้งใจจับ โดยได้ขนส่งหลายชั่วโมงตั้งใจมามอบให้ ถือว่าเป็นเวลาอันคุ้มค่าน่าจดจำของพี่น้องทั้งสองชาติพันธุ์ และขอให้ยั่งยืนต่อไป

ขณะที่ชาวบ้าน กล่าวขอบคุณพี่น้องชาวเล โดยบอกว่าปลาตัวใหญ่แบบนี้ไม่เคยเจอมาก่อน และไม่มีอะไรตอบแทน นอกจากขอขอบคุณได้อย่างเดียว เห็นใจพี่น้องชาวเลที่แค่นำปลาขึ้นมาระหว่างก็ทางถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สกัดกั้น และลำบากอย่างไรก็ยังอดทนมาส่งปลาให้พี่น้องบางกลอย

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธาน กล่าวว่าน่าเป็นห่วงว่าความขัดแย้งระหว่างอุทยานฯ กับชาวบ้านบางกลอยจะรุนแรงขึ้น หากไม่มีการประนีประนอมและเปิดใจกว้าง ซึ่งขณะนี้คณะทำงานที่มีสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร และพีมูฟ รวมถึงเจ้าหน้าที่อุทยานฯกำลังร่วมกันทำงานเก็บข้อมูลอยู่ ดังนั้นน่าจะรอให้การทำงานแล้วเสร็จก่อน การที่อุทยานฯ นัดชาวบ้านที่อพยพไปข้างบนลงมาเจรจานั้น จริงๆ แล้วหากต้องการให้เกิดความโปร่งใสก็ควรให้มีคนอื่นๆ ร่วมสังเกตการณ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน หรือตัวแทนภาคประชาชน

“หากต้องการให้ชาวบ้านบางกลอยเข้าถึงความเป็นธรรมจริงๆ อุทยานฯก็ต้องเปิดใจกว้าง เพื่อให้กระบวนการเจรจาเป็นไปอย่างโปร่งใส มีความปลอดภัยและดูจริงใจ” นางเตือนใจ กล่าว

ด้าน ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังการลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่หมู่บ้านบางกลอย ว่ามีข้อสังเกตในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี คือในวันแรกที่ลงพื้นที่ทางอุทยานฯ ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมด้วย ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี แต่ต่อมาในวันที่สองที่มีปฎิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร เจ้าหน้าที่อุทยานฯคนดังกล่าวไม่ได้กลับมาร่วม ขณะที่ชาวบ้านเองก็เสียขวัญเพราะเป็นห่วงญาติพี่น้องที่อยู่บางกลอยบนจะถูกจับ

“คณะทำงานฯ เองก็เป็นที่ต้องสงสัยไปด้วย แทนที่ชาวบ้านจะให้ข้อมูลอย่างสะดวกใจ ก็ต้องตื่นกลัวและรีบเดินทางไปที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ในหน่วยพิทักษ์อุทยาน กจ.10 เพื่อดูว่าญาติพี่น้องเป็นอย่างไร แต่ในฐานะคณะทำงาน รู้สึกว่าทำไมไม่รอให้หลายอย่างกระจ่างก่อน ถ้าจะคุยกับชาวบ้านทำไมไม่เดินขึ้นไปคุยกับพวกเขา การใช้เฮลิคอปเตอร์เหมือนการคุกคามพวกเขา เพราะมีความแตกต่างกันมาก หากเจ้าหน้าที่ไปสอบถามชาวบ้านด้วยความสมัครใจโดยไม่หว่านล้อมก็จะได้ความจริงอีกชุดหนึ่ง”ดร.นฤมล กล่าว

ดร.นฤมลกล่าวว่า อุทยานฯมองไร่หมุนเวียนในทางลบมาโดยตลอดทำให้หมดโอกาสเห็นชุมชนอีกมิติหนึ่ง แค่ตนเดินทางไปลงพื้นที่ในช่วงสั้นๆ ยังได้เห็นดนตรี เรื่องเล่าที่เชื่อมโยงกับป่าและไร่ข้าว 

“เรากกำลังตัดรากแก้วของชาวบ้านบางกลอย เหมือนกับต้นไม้ใหญ่ที่ล้อมมาไว้ เอาไว้แต่รากฝอยมาหยั่ง อุทยานฯน่าเปิดมุมมองให้เห็นส่วนที่ทำให้เขาอยู่กับป่าได้ การย้ายเขามาทำให้ความผูกพันธ์กับป่าหายไป เราไม่ควรมองแบบเหมารวม เพราะสถานการณ์ซับซ้อน ความรู้สึกของชาวบ้านมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ตั้งหลักได้แล้วต้องการอยู่บางกลอยล่าวต้องหนุนแบบหนึ่ง กลุ่มที่ต้องการกลับใจแผ่นดินที่มีจุดยืนมั่นคงส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสก็ต้องสนับสนุนและเอื้อกับเขาอีกแบบหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกหลากหลายก็ควรประสานกับเขาด้วยการเกื้อหนุนหลายรูปแบบ”ดร.นฤมล กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนที่อพยพกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน ถ้าอุทยานฯ ทำกติการ่วมกับชุมชนโดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม พื้นที่อุทยานฯ แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ตัวอย่างยอดเยี่ยมในการที่หน่วยงานรัฐและประชาชนดูแลรักษาป่าร่วมกัน เพราะไม่มีใครรู้จักป่าแถบนี้เท่ากับกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงไปหมด เราไม่พูดถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่น่าเสียดายหากความรู้ทางวัฒนธรรมหายจะหายไป โดยที่เราไม่แม้แต่จะลอง เพราะจะหมดโอกาส เหมือนกับชุมชนพื้นที่อื่นๆที่หายไป 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"