หวังซ้ำรอย2553 ข่าวพบแผนยั่วยุ-ปลุกปั่น‘โรม’ลั่นบุกทำเนียบฯแน่!


เพิ่มเพื่อน    

 ครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. 22 พ.ค. ร้อนแรง กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดรวมตัว-ค้างคืนธรรมศาสตร์จันทร์ที่ 21 พ.ค. รุ่งขึ้นจัดแถว 7 โมงเช้าเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ วันประชุม ครม. "ศรีวราห์" หยันมาแค่หลักร้อย ลั่นใช้ไม้แข็งจัดการเด็ดขาด ก้าวเท้าออกจากมหาวิทยาลัยดำเนินคดีทันที เตือนแกนนำใครมีแบล็กลิสต์โดนจับซึ่งหน้า ปูดพวกหัวรุนแรง-แดงฮาร์ดคอร์เตรียมเคลื่อนย้ายอาวุธหนักสร้างสถานการณ์ คาดมีประกาศให้ทำเนียบฯ เป็นเขตควบคุมห้ามชุมนุมใกล้พื้นที่ หน่วยข่าวฯ อ้างมีแผนยั่วยุ หวังทำลายเครดิต คสช.

    กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้นัดหมายการทำกิจกรรมการเมืองในวันอังคารที่ 22 พ.ค. ที่เป็นวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. ซึ่งได้มีการรณรงค์เชิญชวนผ่านเพจต่างๆ ของเครือข่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยมีการแจ้งว่า จะเริ่มนัดพบรวมตัวกันในเวลา 17.00 น. ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งประชาชนที่มาจากต่างจังหวัดให้มาค้างคืนได้ที่ธรรมศาสตร์ 
    จากนั้นในวันที่ 22 พ.ค. จะตั้งแถวเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลในเวลา 07.00 น. ที่เป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.ปีนี้ ไม่ใช่ ก.พ.2562 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศโรดแมปเอาไว้ โดยทางเพจของเครือข่ายคนอยากเลือกตั้งแจ้งไว้ว่า กิจกรรมการเคลื่อนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล จะเสร็จสิ้นในเวลา 13.00 น. 
    นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยืนยันว่า ทางกลุ่มจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค. เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิที่สามารถเคลื่อนขบวนได้ อีกทั้งทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้มีการขออนุญาตต่อผู้มีอำนาจแล้ว ขอให้ผู้มีอำนาจเคารพในกฎหมายด้วย ส่วนจำนวนกลุ่มประชาชนที่จะเข้าร่วมในการชุมนุม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประเมินจำนวนไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ได้คาดหวังไว้ระดับหนึ่งว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมชุมนุม เพราะที่ผ่านมาทางกลุ่มได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด ขณะที่ปัจจุบันมีกระแสเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นจริง รวมถึงการออกมาแสดงจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงการถกเถียงไม่ได้อีกแล้ว 
    เมื่อถามว่า การเคลื่อนการชุมนุมไปยังทำเนียบรัฐบาลนั้น จะส่งกระทบต่อการจราจรหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการจราจรนั้น เราต้องแยกระหว่างผลกระทบกับเรื่องของสิทธิ ซึ่งวันนี้เรายืนยันว่าเรามีสิทธิในการเรียกร้อง ยอมรับว่าอาจจะมีการกระทบบ้าง แต่ยืนยันว่าทางกลุ่มได้ติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การจัดกิจกรรมของกลุ่มไม่ใช่การปิดถนน แต่เป็นการเดินขบวนโดยการใช้ 1 ช่องจราจร โดยที่มั่นใจว่าการจราจรไม่เป็นอัมพาตแน่นอน และขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังไม่คิดไปถึงการชุมนุมที่ยืดเยื้อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของวันพรุ่งนี้ และวันที่ 22 พ.ค. รวมถึงปัจจัยอื่นด้วย 
    "เจตนารมณ์ของกลุ่มในวันนี้คือการแสดงพลังเพื่อทวงสัญญา ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช. เมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือว่ามีความเคลื่อนไหวของประชาชนที่น้อยมาก แต่ปัญหาหลายอย่างยังคงมีอยู่ คิดว่าการชุมนุมในวันพรุ่งนี้
มีโอกาสสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้น แต่ทางกลุ่มมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่ให้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ โดยเน้นใช้วิธีการเจรจา ทั้งนี้ กลุ่มไม่ต้องการบุกเข้าไปในทำเนียบฯ แค่ต้องการให้คนที่มีอำนาจได้ยินเสียงของประชาชน เนื่องจากข้อเรียกร้องที่ผ่านมายังไม่ได้มีการตอบรับแต่อย่างใด ส่วนการดูแลความปลอดภัยการชุมนุม จะใช้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลัก ในการเฝ้ารักษาความปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น" แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกล่าว  
    ต่อมาในช่วงเย็น ได้มีการออกแถลงการณ์กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรื่องขอประณามการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
     โดยมีเนื้อหาบางตอนระบุว่า หลังจากที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ประกาศจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะมีการปราศรัยและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ผ่านขบวนพาเหรดที่สร้างสรรค์ สงบสันติ ปราศจากอาวุธ เพื่อเดินเท้าไปสื่อสารและอ่านแถลงการณ์หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ได้มีการออกมาคุกคามประชาชนที่เคยร่วมกิจกรรม หรือที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคาดเดาว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมถึงบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ล่าสุด การยกระดับการคุกคามเกินเลยไปจนถึงการนั่งเฝ้าหน้าบ้าน ติดตาม และขอศาลออกหมายค้น เพื่อไปค้นบ้านประชาชนที่คาดว่าจะมีส่วนในการร่วมสนับสนุนกิจกรรมในทางใดทางหนึ่ง 
    "จนเมื่อเวลาเย็นของวันที่ 20 พฤษภาคม นายอุทัย แถวโพธิ และภรรยา ผู้เคยให้ทางกลุ่มเช่าเครื่องเสียงเพื่อใช้ในงาน ได้ถูกควบคุมตัว โดยแจ้งว่าจะพาไปเข้าค่ายทหาร และขาดการติดต่อ ถือเป็นเรื่องร้ายแรงในทางกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเราได้มีการรายงานเรื่องนี้ต่อองค์กรสิทธิฯ นานาชาติแล้ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งขอยืนยันว่า การชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญไทยและในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" แถลงการณ์ระบุไว้ตอนหนึ่ง 
ตำรวจเตรียมกำลังรับมือหน้าทำเนียบฯ 
    ด้านฝ่ายรัฐบาลและ คสช.มีความเห็นออกมาหลายภาคส่วน เริ่มที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เรียกประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 22 พ.ค. โดยมีนายตำรวจที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รอง ผบช.น.,  พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รอง ผบช.น. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนกองบังคับการตำรวจนครบาล
     ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วประเทศประมาณหลักร้อย การชุมนุมครั้งนี้คือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แกนนำประกาศว่าเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเลือกเลือกตั้ง ฝ่ายตำรวจก็ถือเป็นเรื่องของการเมือง แกนนำได้ไปขออนุญาตการชุมนุมกับทางกองทัพแล้วหรือยัง เริ่มชุมนุมก็ผิดกฎหมายแล้ว ถ้ามาเกิน 5 คนก็เข้าข่ายผิดกฎหมายทันที นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมยังอาจเข้าใกล้เขตพระราชฐานที่ห้ามไว้ 150 เมตร ถ้าเข้าพื้นที่ภายในระยะดังกล่าว เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด  ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนออกจากธรรมศาสตร์ ก็ดำเนินคดีทันที ส่วนแกนนำที่มีหมายจับ ถ้าเคลื่อนผู้ชุมนุมออกมานอกพื้นที่ ถ้าจับซึ่งหน้าได้ก็จับ จับไม่ได้ก็ไปขอศาลออกหมายจับ
    "จากการข่าวพบว่ามีกลุ่มหัวรุนแรงทางการเมืองหรือแดงฮาร์ดคอร์ เตรียมเคลื่อนย้ายอาวุธหนักสร้างสถานการณ์ จึงได้มีการสั่งจับตากลุ่มแกนนำกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ ซึ่งแม้เป็นคนละกลุ่มกัน แต่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่นครบาล, ภ.1, ภ.2, ภ.7 โดยตำรวจได้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลความเรียบร้อยและรับมือสถานการณ์ตามแต่สถานการณ์ 3-20 กองร้อย พร้อมรถพยาบาล รถควบคุมผู้ต้องหา ชุดควบคุมฝูงชน และคาดว่าจะมีการประกาศให้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเขตควบคุมห้ามชุมนุมใกล้พื้นที่ในระยะ 50 เมตร ซึ่งหากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกันการชุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง และทางกลุ่มได้ขออนุญาตชุมนุมแค่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหากทางกลุ่มได้มีการเคลื่อนไหวออกนอกพื้นที่ ก็ถือมีความผิดทั้ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคำสั่งที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายในทันที" รอง ผบ.ตร.ระบุ
     พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดูแลสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคมว่า การที่เคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คสช.ก็มีโอกาสฟังความคิดเห็นของพวกเขา ไม่ว่าจะขอพูด ขอปราศรัย ขอแสดงความคิดเห็น คสช.ก็ประสานงานการดำเนินกิจกรรมต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย อย่าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใคร อย่าไปบิดเบือนข้อมูล อย่าไปทำในสิ่งไม่เหมาะสม ปลุกเร้าความเกลียดชังในเวลาที่บ้านเมืองต้องการความสงบสุข ทั้งนี้ คสช.ไม่ได้ปิดกั้นการเคลื่อนไหว ไม่ได้ไปละเมิดอะไรเลย เราปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย นี้คือสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่า คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจเต็ม แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการก็ตาม ไม่ได้ใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง เข้าขัดขวางการจัดกิจกรรม เราเน้นการพูดคุย ขอความร่วมมือ ทำความเข้าใจ พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกระหว่างจัดกิจกรรมด้วย อีกทั้งประเมินสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงโดยการรับมือผู้ชุมนุมเราบังคับใช้กฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2558 
    เมื่อถามถึงการรับมือที่จะเคลื่อนไหวมาทำเนียบรัฐบาล ผบ.มทบ.11 กล่าวว่า คงไม่มีอะไรกังวล เราประสานงานตลอด แต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่ขอความร่วมมือว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าเดินขบวนมาทำเนียบรัฐบาล จะทำให้รถติด ช่วงนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว และเกรงว่าจะทำให้ประชาชนที่สัญจรบนท้องถนนช่วงเวลาเดินขบวนรู้สึกไม่ดีก็ได้ เราจึงพยายามให้ข้อมูล และชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็ต้องพยายามดูแลกิจกรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยให้ได้มากที่สุด
    เมื่อถามอีกว่า จะใช้วิธีการบล็อกผู้ชุมนุมตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ในภาพรวมขอความร่วมมือให้เคลื่อนไหวภายใต้กรอบกฎหมาย ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม 
หน่วยข่าวอ้างมีแผนยั่วยุให้เกิดปะทะ 
    แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคงกล่าวถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 22 พ.ค.2561 ว่าสามารถทำได้ 2 กรณี คือ 1.มีการแจ้งความ และตำรวจขอศาลออกหมายจับแกนนำ ว่ากระทำความผิดในข้อหาต่างๆ แต่เป็นไปได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลด้วย 2.การทำความผิดซึ่งหน้า เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.จราจร เนื่องจากตำรวจไม่อนุญาตให้แกนนำ เคลื่อนขบวนออกมาบนถนน แต่การจับกุม ต้องพิจารณาสถานการณ์ด้วยว่าเสี่ยงจะเกิดการปะทะหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากบังคับใช้กฎหมายไปแล้ว เสี่ยงที่จะกระทบกระทั่ง ทำให้เหตุการณ์บานปลาย ต้องปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินการไป ในขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวก ดูแลประชาชนใช้ถนนและความปลอดภัยเป็นหลัก จึงค่อยดำเนินการตามกฎหมายภายหลัง 
    "เบื้องต้นได้ข้อมูลว่ามีการประชุมวางแผนเป็นขั้นตอน ยั่วยุหวังให้เกิดความรุนแรง โดยให้องค์กรต่างประเทศมาสั่งเกตการณ์ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เขามีแผน มีการอบรมขั้นตอนต่างๆ ว่าต้องให้มีอะไร ให้เป็นข่าวให้ได้ เป้าหมายเด่นคือต้องการให้เกิดความรุนแรง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายหลัก ล่มรัฐบาลและ คสช.ตอนนี้มีการข่าวแจ้งตรงกันหลายชี้มาแล้ว ว่าจะมีส่วนผสมมากับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพวกฮาร์ดคอร์เก่าๆ มีการเตรียมอาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมจะรู้เห็นหรือไม่ ไม่ทราบ ส่วนแนวโน้มกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าภายในทำเนียบฯ ป่วนประชุม ครม.นั้น ลูกผสมเยอะ เขาอยากให้แรง และเขามีแผนอยู่จะบุกยึดทำเนียบฯ แต่คงยอมไม่ได้ และจะป้องกันให้ดีที่สุด เรากลัวเหตุการณ์จะบานปลายคล้ายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ที่มีการเผา วางเพลิงสถานที่ต่างๆ กลุ่มฮาร์คอร์ออกมาก่อเหตุ ทำให้คุมสถานการณ์ไม่ได้” แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงกล่าว
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลขอเตือนไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อการจราจร เนื่องจากเป็นวันทำการปกติ ซึ่งจะมีปริมาณรถหนาแน่น และการชุมนุมอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป หลายคนรู้สึกเอือมระอากับการมีม็อบมาตลอด 10 ปี ทำให้ประเทศชาติถอยหลังไปมาก รวมทั้งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุปะทะได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีรับทราบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประสานขออนุญาตจัดการชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำชับว่าให้ชุมนุมอย่างมีขอบเขต แต่เห็นว่าความจริงไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไร เพราะรัฐบาลบอกกับประชาชนอยู่แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงต้นปี 2562 ส่วนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นพื้นที่ควบคุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ โดยหากฝ่าฝืน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
    ด้านความเห็นจากฝ่ายการเมือง นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า 
ยิ่งมีการเลือกตั้งช้า พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ก็ยิ่งมีความได้เปรียบ เพราะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ส่วน คสช.จะได้รับความนิยมลดลง และความได้เปรียบนี้ เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองใหม่ไม่ควรรับไว้ เพราะจะทำให้ประเทศชาติเดือดร้อนกว่า ดังนั้นการเลือกตั้งควรจะต้องมาตามโรดแมปที่ คสช.กำหนดไว้ แม้พรรคอนาคตใหม่จะมีความคิดเห็นในด้านการเลือกตั้งตรงกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แต่นักธุรกิจ เอกชน ข้าราชการ ก็มีเสียงสะท้อนออกมา มีเพียงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่กล้าแสดงความคิดเห็น
    “ผมไปชุมนุมไม่ได้ เพราะเราตัดสินใจตั้งพรรคการเมือง เราทำเป็นพรรคการเมืองแล้ว และได้เตรียมการรณรงค์เพื่อสู่การเลือกตั้ง แต่ผมยืนยันว่าเสรีภาพที่คนเรียกร้องอยากให้มีการเลือกตั้งถือเป็นเสรีภาพสูงสุด การจะอ้างว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยได้ จะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่บอกว่ารัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่สุดท้ายมีกฎหมายสารพัดอย่างมายกเว้น มันเกิน 4 ปีแล้ว จะเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว มันไม่มีความชอบธรรมหลงเหลืออยู่แล้ว รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ อยู่ยาวกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก ไม่มีความชอบธรรมอะไรที่ต้องอยู่ต่ออีกแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงที่พูดว่าติดกฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเพียงเหตุผลลวงตา เป็นเพียงเหตุผลทางเทคนิค ที่คุณสร้างขึ้นมาเพื่อยื้อการเลือกตั้งออกไป ไม่มีเวลาให้ต่ออีกแล้ว ต้องเลือกตั้งให้เร็ววันที่สุด” นายปิยบุตรกล่าว 
พท.ไม่หวั่นโดนลากยุบพรรค
        ส่วนความคืบหน้ากรณี คสช.แจ้งความดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ไปร่วมแถลงข่าว 4 ปีรัฐประหาร คสช. 
     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลทำงาน ประชาชนรับผล แม้พรรคการเมืองยังทำอะไรไม่ได้ แต่ความที่เคยเป็นตัวแทนประชาชนนั้นย่อมออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อส่วนรวมได้ การพูดคุยด้วยเหตุผลหรือแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรมีความผิด ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือประชาชน ส่วนการใช้ ม.116 แจ้งความนั้น อยากให้ใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มีไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เช่น การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจเพื่อคุ้มครองตนเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สามัคคีตามมา 
    เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า "ดิฉันเป็นคนสมัยไทยรักไทย เคยโดนยุบมาแล้วหลายรอบ การยุบพรรคเป็นเครื่องมือที่มีพลังสำหรับผู้มีอำนาจ แต่ถามว่า ยุบแล้วจะเลิกศรัทธาของประชาชนที่มีกับพรรคการเมืองได้หรือไม่"
    รายงานข่าวจากแกนนำคนเสื้อแดงเปิดเผยว่า หนึ่งในทนายความ นปช.ที่ทำคดีให้คนเสื้อแดง พร้อมกับ นางอาอีซะห์ เสาะหมาน วัย 53 ปี มีภูมิลำเนาใน จ.ขอนแก่น หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนภาคอีสาน เป็นหนึ่งในแนวร่วมกลุ่มเดินมิตรภาพ เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจาก ขณะทำกิจกรรมอยู่นั้น นางอาอีซะห์นำรูปล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โพสต์ลงยูทูบ จากนั้นมีนายทหารเข้าไปติดตามถึงบ้านพักที่เป็นบ้านของพี่สาว มีการติดตามหาตัว จนทำให้อยู่ในประเทศไม่ได้ ต้องไปหลบซ่อนหลายแห่ง บางช่วงเวลาหลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน พอคิดว่าเรื่องเริ่มเงียบ คิดว่าน่าจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย จึงไปติดตามที่โรงพักต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะมีคดีความ แต่ปรากฏว่าไม่มี จึงทราบว่ามีเจ้าหน้าที่บางกลุ่มไปตามหาที่บ้านพักตลอดเวลา และยังมีการตัดไฟ เพื่อเป็นการบีบให้อยู่ไม่ได้ เลยประสานมายังทีมทนาย นปช.เพื่อขอให้การช่วยเหลือ ในวันที่ 21 พ.ค. เวลา 10.30 น. คณะทนายคนเสื้อแดงจะเดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพบก ย่านราชดำเนิน เพื่อร้องขอความเป็นธรรม และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ว่าทหารในพื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังสหประชาชาติ เพื่อขอความคุ้มครองทำเรื่องขอลี้ภัย เนื่องจากนางอาอีซะห์ เริ่มไม่มั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"