‘วิถีคน วิถีโหนด’ ที่ตำบลกระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา


เพิ่มเพื่อน    

ต้นตาลหรือ ‘โหนด’ ที่อำเภอสทิงพระ  พื้นที่ที่มีการปลูกมากที่สุดในประเทศไทย

 

ตาล   ตาลโตนด  หรือ โหนดไม่ใช่จะมีแต่ที่เพชรบุรี  ที่คาบสมุทรสทิงพระ  ซึ่งประกอบด้วย 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา  คือ  ระโนด  กระแสสินธุ์  สทิงพระ  และสิงหนคร  ถือเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นตาลหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย  โดยเฉพาะที่อำเภอสทิงพระ

 

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาจะไม่มีตัวเลขและไม่มีสถิติพื้นที่ปลูกตาลโตนด  เพราะอาจมองเห็นว่าเป็นเพียงพืชหัวไร่ปลายนา  ไม่เหมือนยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  หรือข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ  แต่ผลผลิตจากตาลโตนดก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัวคนที่มีอาชีพทำตาลโตนดมาได้ช้านาน  และยังเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตพื้นบ้านอย่างแยกไม่ออก

 

ก่อนจะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  อำเภอสทิงพระ  ได้จัดงาน วันลูกโหนด ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี   โดยในปี 2562 จัดขึ้นเป็นปีที่ 33  การจัดงานวันลูกโหนดส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน-กรกฏาคมของทุกปี  เพราะเป็นช่วงที่น้ำตาลและลูกตาลโตนดจะมีผลผลิตมาก  ภายในงานจะมีการออกร้าน  การประกวด  และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด   ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่รากจนถึงยอด 

 

เช่น  รากตาล นำมาต้มใช้ขับพยาธิและแก้ไข้  ก้านใบแห้ง หรือ ทางตาล ใช้ทำรั้วบ้าน  โต๊ะ  เก้าอี้  ทำเชื้อเพลิง  เนื้อไม้  สร้างบ้าน  ทำเครื่องเรือน  เฟอร์นิเจอร์  เครื่องใช้ต่างๆ เช่น  ตะหลิว  ทัพพี  ถ้วยกาแฟ  เส้นใย ทำเชือก  ใบตาล ทำหมวก  พัด  มุงหลังคา เครื่องจักสาน   ลูกตาล  กินสดและทำอาหารหลายอย่าง  หัวอ่อน นำไปแกงคั่ว  จาวตาลแก่ เอาไปเชื่อม

 

 ลูกตาลอ่อนนำมาแช่เย็นกินคลายร้อนชื่นใจ

 

น้ำ จากงวงตาลนำมาดื่มสด  ทำน้ำตาลเมา (หวากทำน้ำส้มสายชู (น้ำส้มโหนดเคี่ยวเป็นน้ำผึ้ง  กลั่นเป็นเหล้า  ทำน้ำตาลแว่น   เปลือก ใช้ทำปุ๋ย  เชื้อเพลง  ลูกตาลแก่ ที่ร่วงหล่นเอามาเผาทำถ่าน  หรือใช้ดูดซับกลิ่นและความชื้น  ฯลฯ  เรียกว่าปลูกตาลต้นเดียวนำมาใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง

 

ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง ภูมิปัญญาการทำผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใต้  วิถีโหนดในอำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา โดยพาณิภัค  คงสำราญ  และคณะ, มหาวิทยาลัยทักษิณ พ..2562   ระบุว่า เนื้อหาตอนหนึ่งว่า... 

 

...เมื่อปี 2525  นายอำเภอสทิงพระได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน  ในหมู่บ้าน  ตำบลต่าง ๆ ของอำเภอสทิงพระ  สำรวจนับจำนวนต้นตาลโตนด  เฉพาะอำเภอนี้แห่งเดียวมีต้นตาลโตนด ถึง 500,000 ต้น  และในปี 2550 ต้นตาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1 ล้านต้น  และหากนับรวม ๆ ทั้งจังหวัดสงขลา  มีต้นตาลโตนดประมาณ 3 ล้านต้น...

 

วิถีโหนดที่ตำบลกระดังงา สร้างรายได้เดือนละกว่า 30,000 บาท             

ทูน  แสงสีคำ  อายุ 49 ปี  ชาวบ้านตำบลกระดังงา  อ.สทิงพระ  จ.สงขลา  เล่าว่า  ครอบครัวของตนมีที่นาเพียง 3 ไร่  แต่เดิมพ่อแม่จะทำนาเป็นอาชีพหลัก  คือปลูกข้าวเอาไว้กิน  หากเหลือจะขาย  และทำน้ำตาลโตนดหรือ โหนด เป็นรายได้เสริมเพื่อเอามาเลี้ยงดูครอบครัว  ส่วนโหนดก็ปลูกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า  ส่วนใหญ่จะปลูกตามคันนา  หรือวัวควายจะกินลูกโหนดที่สุกร่วงลงมาจากต้นแล้วคายเมล็ดออกมา  เมล็ดโหนดก็จะงอกออกมากลายเป็นโหนดรุ่นใหม่ๆ  ไม่ต้องปลูกเอง 

 

 ทูนเรียนไม่สูง  แต่ได้ทำงานสูง  มีรายได้เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท

 

แต่หากจะให้ต้นโหนดเรียงเป็นแถวเป็นแนวก็จะนำโหนดที่เพิ่งงอกย้ายมาปลูกบนคันนา  หรือนำมาปลูกเป็นแนวแสดงอาณาเขตที่ดิน  บำรุงด้วยปุ๋ยจากขี้วัว  หรือจะไม่ใส่ปุ๋ยก็ได้  เพราะโหนดจะได้ปุ๋ยจากในนานั่นเอง  โหนดจะเริ่มให้น้ำตาลเมื่ออายุประมาณ 15 ปี  หากเป็นโหนดตัวผู้จะไม่มีลูก  จะมีแต่น้ำตาลจากงวง  ส่วนโหนดตัวเมียจะให้ทั้งน้ำตาลและลูก

 

ทูนเล่าต่อไปว่า  เขาเรียนไม่สูงเพราะจบแค่ชั้นประถม  แต่ได้ทำงานสูง  เพราะต้นโหนดยิ่งแก่ก็ยิ่งสูง  ต้นที่ปีนอยู่ทุกวันนี้มีอายุประมาณ 30 ปี   มีความสูงเกือบ 20 เมตร   ทูนช่วยพ่อแม่ขึ้นต้นโหนดตั้งแต่อายุ 15 ปี  ตอนนี้อายุ 49 ปี  รวมแล้วขึ้นต้นโหนดมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี  มีต้นโหนดที่ต้องขึ้นทุกวันรวมประมาณ 30 ต้น  เมื่อก่อนนิยมใช้ไม่ไผ่มาทำเป็นพะองมัดติดกับต้นเพื่อปีนขึ้นไป  แต่ตอนนี้ใช้เหล็กท่อประปาและเหล็กเส้นมาเชื่อมทำเป็นขั้นบันไดเพราะมีความทนทานกว่า

 

พะองขึ้นต้นตาล  ปัจจุบันใช้ท่อเหล็กเพื่อความทนทาน

 

ก่อนที่โหนดจะให้น้ำตาลจากงวงออกมา  ทูนจะต้องปีนขึ้นไปนวดงวงโหนดโดยใช้ ไม้คาบ(มีลักษณะคล้ายไม้หนีบผ้า แต่จะผูกเชือกตรงปลาย  ยาวประมาณ 1 เมตร) นำไปบีบรัดงวงโหนดจนช้ำ  เพื่อกระตุ้นให้โหวดปล่อยน้ำตาลที่สะสมออกมา  จากนั้นจึงรวบงวงโหนดใส่กระบอก  แช่งวงในน้ำโคลนทิ้งไว้ข้ามคืน  ประมาณ 2 คืน  เพื่อให้ดอกที่อยู่ตรงปลายงวงตาย  น้ำตาลจึงจะไหลออกมาดี  

 

หลังจากนั้นจึงใช้มีดปาดปลายงวงเพื่อให้น้ำตาลไหลออกมา  ทูนจะเอาไม้เคี่ยมที่สับเป็นชิ้นขนาดนิ้วก้อยใส่ไว้ในกระ บอกรองน้ำตาล  (ปัจจุบันเริ่มใช้ทุ่นวางอวนทำจากพลาสติกทรงกระบอกมาแทนกระบอกไม้ไผ่เพราะทนทานกว่า)  ไม้เคี่ยมมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดตามธรรมชาติ  เมื่อน้ำจากงวงโหนดไหลลงในกระบอกจะไม่บูดเปรี้ยว  จากนั้นจึงนำน้ำตาลสดที่ได้ไปเคี่ยวในกระทะขนาดใหญ่

 

กระบอกรองตาลอดีตและปัจจุบัน

 

วันหนึ่งผมจะขึ้นวันละ 2 รอบ  ตอนเช้าตีห้าปีนขึ้นไปรอบหนึ่งเอากระบอกรองน้ำตาลลงมา  แล้วเอากระบอกใหม่ไปเปลี่ยน   ตอนบ่ายประมาณบ่าย 2 โมงขึ้นอีกรอบ  วันหนึ่งจะได้น้ำตาลประมาณ 9 ปี๊บ แล้วเอาน้ำตาลมาเคี่ยวในกระทะ  เคี่ยวไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงจะได้น้ำผึ้งโหนด ทูนเล่าถึงวิถีการทำงาน

 

น้ำผึ้งโหนดที่ทูนว่าก็คือน้ำตาลโหนด  มีลักษณะเป็นน้ำตาลเหลว  รสชาติหวานแหลม  สีคล้ายกับน้ำผึ้ง  ชาวบ้านจึงเรียกชื่อตามนั้น  จากน้ำตาลสดที่ได้วันละประมาณ 9 ปี๊บ (ปี๊บหนึ่งประมาณ 20 ลิตรเมื่อเคี่ยวจนเป็นน้ำผึ้งโหนดแล้วจะเหลือปริมาณเพียง 1 ปี๊บครึ่ง  ราคาขายปี๊บละ 1,200 บาท  มีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่เพื่อนำไปขายต่อ  บางรายน้ำไปทำน้ำตาลแว่น  น้ำตาลผง  ไซรัปใส่ในกาแฟ  เครื่องดื่มต่างๆ  หรือนำน้ำตาลโหนดใส่ในอาหาร  ทำขนม  หรือจะราดข้าวกินก็ได้  เป็นน้ำตาลจากธรรมชาติไม่ใส่สารเคมีแต่อย่างใด
 

เตาเคี่ยวโหนดให้เป็นน้ำผึ้ง

 

โหนดทั้งตัวผู้และตัวเมียจะให้น้ำตาลและออกลูกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-กรกฎาคม   หลังจากนั้นน้ำตาลจะเริ่มลดลง  ส่วนลูกจะมีตลอดทั้งปี  แต่หลังเดือนกรกฏาคมลูกจะน้อยลง   แต่ก็ขายได้ราคาดี  ต้นหนึ่งจะมีประมาณ 10-15  ทะลาย  ทะลายหนึ่งจะมีประมาณ 12-15 ลูก  แต่ละลูกเมื่อผ่าออกมาจะมีเนื้อใน 3 ลอน  ขายผลสดถุงหนึ่ง 12-15 ลอนประมาณ 20 บาท  เมื่อสะสมอาหารเต็มที่ในช่วงฤดูฝนแล้ว  โหนดก็พร้อมที่จะให้น้ำตาลและออกลูกมาให้เก็บกินอีก 

 

เฉลี่ยเดือนหนึ่งผมจะมีรายได้ประมาณ 30,000 กว่าบาท  พอเลี้ยงดูครอบครัวได้ไม่เดือดร้อน  เมื่อก่อนครอบครัวผมทำนาเป็นอาชีพหลัก   แต่ตอนนี้ทำโหนดเป็นหลัก  ทำนาเป็นอาชีพเสริมเพื่อให้มีข้าวกินไม่ต้องซื้อ   ตอนนี้คนในตำบลก็ยังทำโหนดกันแทบทุกบ้าน  บางคนอายุ 70 กว่าปีก็ยังปีนโหนดเพราะเป็นอาชีพที่ทำมาแต่ดั้งเดิม  ลูกหลานบอกให้เลิกก็ไม่ยอม  ส่วนผมก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ แหละ เพราะโหนดจะให้น้ำตาลได้อีกหลายสิบปี  แต่ต้องปลูกเสริมด้วยเพื่อให้มีโหนดโตขึ้นมาแทนต้นเก่า  ทูนบอกถึงวิถีคนทำโหนด

 

กว่าจะเป็นน้ำผึ้งต้องใช้เวลาเคี่ยวไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง

 

สภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงา หนุนวิถีนา-โหนด  แปรรูปสร้างมูลค่า            

วิโรจน์  เอี่ยมสุวรรณ  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงา  อ.สทิงพระ  จ.สงขลา  บอกว่า  สภาองค์กรชุมชนตำ บลกระดังจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553  แต่ตนเข้ามาเป็นประธานสภาฯ เมื่อปี 2558  (มีกลุ่มต่างๆ  เป็นสมาชิกสภาฯ 15 กลุ่ม  ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นสมาชิกสภาฯ กลุ่มละ 2 คน  รวมมีสมาชิกสภาฯ  30  คน) เมื่อเป็นประธานสภาฯ แล้วตนจึงอยากให้สภาฯ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจชุมชน  เพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าวและทำตาลโตนดควบคู่กัน 

 

ต่อมาในปี 2558 จึงเปิดศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชน  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จำนวน 100,000 บาท  นำมาขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชน  โดยเปิดเป็นโรงเรียนชาวนาเพื่อส่งเสริมการทำนาข้าวอินทรีย์  ใช้พันธุ์ข้าวจากจังหวัดนราธิวาส  มีลักษณะเด่นคือ  ในช่วงข้าวออกรวงจะมีกลิ่นหอมเหมือนดอกกระดังงา  และยังตรงกับชื่อของตำบล  จึงเรียกชื่อว่า หอมกระดังงา  เมื่อได้ผลผลิตแล้วจะเอาสีเป็นข้าวซ้อมมือ  เมื่อหุงจะมีกลิ่นหอม  มีสีขาวปนแดง  กินอร่อย  เมล็ดข้าวนุ่ม  บรรจุถุงขายใช้ชื่อ กลุ่มนาอินทรีย์  ถุงละ 1 กิโลกรัม  ราคา 70 บาท  ขายทางสื่อออนไลน์  และตามงานออกร้านต่างๆ

 

วิโรจน์  เอี่ยมสุวรรณ

 

ตอนนี้มีชาวนาในตำบลกระดังปลูกข้าวหอมกระดังงาประมาณ 5 ราย  ยังไม่มาก  เพราะส่วนใหญ่ยังนิยมปลูกข้าว    หอมปทุมมากกว่า  เพราะใช้เวลาปลูกสั้นกว่า  คือประมาณ 4 เดือน  แต่หอมกระดังงาใช้เวลาประมาณ 5 เดือน  แต่เราก็จะขยายพื้นที่และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกให้มากขึ้น  เพราะเป็นข้าวอินทรีย์ซ้อมมือ  มีประโยชน์มากกว่า วิโรจน์บอกถึงแผนงานต่อไป

 

ส่วนการส่งเสริมอาชีพทำตาลโตนดนั้น  วิโรจน์บอกว่า  ชาวบ้านในตำบลกระดังงา  รวมทั้งในอำเภอสทิงพระ  ต่างก็มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับตาลโตนดหรือ โหนด’  เพราะพ่อแม่ทุกคนทำอาชีพนี้  มีรายได้มากกว่าปลูกข้าวเสียอีก  บางคนส่งเสียให้ลูกได้เรียนสูงๆ จบมหาวิทยาลัย  เป็นทนาย  เป็นข้าราชการ  เป็นเจ้าคนนายคน  เพราะไม่อยากให้ลูกหลานลำบากต้องปีนต้นโหนดเหมือนกับพ่อแม่  ดังนั้นวิถีโหนดในอนาคตอาจจะหมดไป  ตนจึงพยายามนำโหนดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า  เพราะหากโหนดยังมีราคา  ตนก็เชื่อว่าโหนดจะยังคงมีอยู่  คนขึ้นโหนดก็ยังมี  หากมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า

 

แต่ผมคิดว่าเราจะไม่ทำเพียงน้ำตาลโตนดหรือทำน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว  แต่เราจะเอามาแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ  เพราะตอนนี้ในอำเภอสทิงพระก็มีคนแปรรูปโหนดแล้วหลายอย่าง  เช่น  ลูกตาลลอยแก้ว  ทำขนม  ทำพายไส้ลูกตาล  รวมทั้งเอามาทำสบู่  แชมพู  เครื่องสำอาง  เราจึงคิดทำน้ำลูกตาลสด  และวุ้นลูกตาลออกมาขาย  วิโรจน์บอกถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มจากลูกโหนด

 

 เขาบอกว่า  การแปรรูปลูกโหนดเริ่มเมื่อปี 2560 โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงาสนับสนุน   มีสมาชิกมาช่วยกันทำอย่างต่ำครั้งละ 4-5 คน  ส่วนผลกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายจะแบ่งให้คนที่มาช่วยงานเท่าๆ กัน  เช่น  มีกำไร 1,000 บาท  มีคนมาช่วย 5 คน  จะได้ส่วนแบ่งคนละ 200 บาทต่อครั้ง  ส่วนหนึ่งจะผลิตตามออร์เดอร์  อีกส่วนหนึ่งจะนำไปฝากขายตามร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มต่างๆ  ไม่ต่ำกว่าครั้งละ 200 ขวด  รวมทั้งออกบูธตามงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลา

 

ผลผลิตที่สภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงาสนับสนุน

 

ปัจจุบันกลุ่มผลิตน้ำตาลสดและวุ้นลูกตาลสด  ใส่ขวดและถ้วยพลาสติกขนาด  150 ซีซี  มีจุดเด่นคือ  น้ำลูกตาลสดจะใช้เนื้อลูกตาลสดและน้ำจากเนื้อลูกตาล  นำมาปั่นหยาบๆ  ผสมน้ำเปล่าแล้วนำมาต้มให้เดือด  ใส่น้ำตาลทรายเล็กน้อย  เมื่อน้ำลูกตาลหายร้อนจึงนำมาบรรจุขวด   แช่ให้เย็น  นำมาดื่มจะรู้สึกสดชื่น  มีกลิ่นหอมจากน้ำและเนื้อลูกตาล  มีรสหวานเล็กน้อย  รวมทั้งเนื้อลูกตาลปั่นจะให้ความรู้สึกเหมือนดื่มรังนก

 

 ผมเคยคำนวณตัวเลขรายได้จากโหนดแต่ละต้น   เฉพาะขายลูกโหนดอย่างเดียว  1 ปีจะมีรายได้ต้นละประมาณ 4,000 บาท   อำเภอสทิงพระมีต้นโหนดประมาณ 1 ล้านต้น  จะมีรายได้ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท  ไม่รวมน้ำผึ้งโหนด  ส่วนคนที่ทำอาชีพนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000-40,000 บาท  เป็นพืชเศรษฐกิจที่สภาองค์กรชุมชนตำบลกระดังงาจะสนับสนุนให้ชาวบ้านนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป  วิโรจน์บอกในตอนท้าย

 

 

หมายเหตุ : เรื่องและภาพโดยสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"